คลังเดินหน้ากู้เต็ม 1 ล้านล้านบาท หนุนรัฐกระตุ้นเศรษฐกิจลอตใหม่

FILE PHOTO : REUTERS/Athit Perawongmetha/

คลังเดินหน้ากู้เงินเต็มเพดาน 1 ล้านล้านบาท รองรับมาตรการรัฐ “เยียวยา-กระตุ้นเศรษฐกิจ” ยาวถึงสิ้นปี’64 สบน.ยันกู้ในประเทศเป็นหลักเหตุต้นทุนดอกเบี้ยยังต่ำ

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า จากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติออกมาตรการบรรเทาผลกระทบและกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ วงเงินรวมประมาณ 2.4 แสนล้านบาท ซึ่งจะใช้งบประมาณจากพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา พ.ศ. 2563 หรือ พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ทาง สบน.ได้เตรียมเครื่องมือสำหรับกู้เงิน ตามวงเงินที่เหลืออยู่ตาม พ.ร.ก.เงินกู้แล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างรอรายละเอียดแผนการใช้เงินกู้รายเดือน

ทั้งนี้ การกู้เงินตามวงเงินที่เหลือของ พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท จะเป็นการเน้นกู้ในประเทศเป็นหลัก เนื่องจากเป็นช่วงที่ดอกเบี้ยต่ำ และเพื่อช่วยลดภาระของประเทศด้วย

“สบน.ยังไม่เห็นแผนการใช้เงินเป็นรายเดือนที่ ครม.อนุมติ อย่างไรก็ตาม ปีนี้เราเตรียมกู้เงินครบวงเงิน 1 ล้านล้านบาทอยู่แล้ว ดังนั้น เรามีเครื่องมือที่เตรียมไว้แล้ว แต่ขอดูจังหวะเวลาที่ชัดเจน รวมถึงดูว่าหน่วยงานที่จะส่งไทม์ไลน์มาให้ สบน. ว่าจะต้องใช้เงินอย่างไรบ้างก่อน

อย่างไรก็ดี ตอนนี้เราก็มีเงินในกระเป๋าจากการกู้มาเหลืออยู่ 2.5 หมื่นล้านบาท สามารถรองรับหน่วยงานที่จะใช้จ่ายช่วงนี้ได้ ล่าสุดในภาพรวมมีการกู้เงินไปแล้ว 6.6 แสนล้านบาท จากวงเงินที่ ครม.อนุมัติแล้วกว่า 7 แสนล้านบาท เราก็จะทยอยกู้ตามแผนการใช้เงินไป” นางแพตริเซียกล่าว

นางจินดารัตน์ วิริยะทวีกุล รองผู้อำนวยการ สบน. ในฐานะโฆษก สบน. กล่าวว่า สบน.วางแผนและดำเนินการกู้เงินภายใต้ พ.ร.ก.เงินกู้อย่างรอบคอบ โดยใช้กลยุทธ์การระดมทุนที่เป็นการกู้เงินในประเทศเป็นหลัก เพื่อให้ได้วงเงินกู้ที่ครบถ้วน ภายใต้ต้นทุนที่เหมาะสมและความเสี่ยงที่ยอมรับได้ รวมทั้งไม่ก่อให้เกิดการแย่งสภาพคล่องจากภาคเอกชน และส่งเสริมการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศ

โดยใช้เครื่องมือทางการเงินที่ผสมผสานทั้งระยะสั้นและระยะยาว อาทิ ตั๋วเงินคลัง (treasury bill) ตั๋วสัญญาใช้เงิน (promissory note) สัญญากู้ยืมเงิน (term loan) พันธบัตรรัฐบาล (loan bond) และพันธบัตรออมทรัพย์(savings bond)

นอกจากนี้ ยังได้คำนึงถึงแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้จากระยะสั้นเป็นระยะปานกลางและระยะยาว โดยใช้พันธบัตรรัฐบาล และพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (sustainability bond) เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ความต้องการของนักลงทุน และสภาวะตลาดการเงินในประเทศ

“หากในอนาคตรัฐบาลมีความจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มเติม เพื่อใช้ในการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ สบน.ก็จะวางแผนการกู้เงินอย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงต้นทุน สภาวะตลาดการเงินและจะพัฒนานวัตกรรมทางการเงินให้สอดคล้องกับความต้องการของนักลงทุนและตลาดการเงิน โดยจะมุ่งเน้นตราสารทางการเงินที่ส่งเสริมการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นทางเลือกในการระดมทุนสำหรับโครงการที่สนับสนุนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน”นางจินดารัตน์กล่าว

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่าการเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วงเดือน ก.ค.-ธ.ค. 2564 รวมทั้งการเพิ่มวงเงินโครงการเราชนะ และ ม33เรารักกัน ใช้งบประมาณจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท

ส่วนที่เหลือ ซึ่งบางมาตรการจะต้องเสนอมาตรการให้ ครม.อนุมัติอีกครั้ง เพราะที่ผ่านมายังเพียงแต่เห็นชอบในหลักการให้ดำเนินการ

“ในส่วนโครงการคนละครึ่ง เฟส 3 โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ รวมทั้งการเติมเงินให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการ และกลุ่มเปราะบางเดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือนนั้น จะเสนอ ครม.อนุมัติ เมื่อสถานการณ์คลี่คลายแล้ว เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่ายของประชาชน ครอบคลุมกว่า 51 ล้านคน” นางสาวกุลยากล่าว