หุ้นไอพีโอฮอต กำไรทะลัก OR ปลุกกระแส-บจ.เล็กแห่ระดมทุน

หุ้น OR-หุ้น IPO hot

ถึงแม้ปีนี้ภาวะตลาดหุ้นไทยจะผันผวน โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 13 พ.ค.ที่ดัชนีตลาดหุ้นร่วงหนักถึง 70 จุด เรียกได้ว่า “แดงทั้งกระดาน” เลยทีเดียว โดยโบรกเกอร์วิเคราะห์กันถึงผลกระทบจากความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ

ขณะที่บางคนอาจจะบอกว่า “sell in May” ยังขลังอยู่ อย่างไรก็ดี ปัจจัยในประเทศมีอะไรที่มากกว่านั้น ซึ่งนักลงทุนก็น่าจะทราบกันดี เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ตลาดหุ้นไทยเผชิญกับภาวะหุ้นตกรุนแรงเช่นนี้ โดยรอบนี้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงเป็นอันดับ 2 รองจากตลาดหุ้นญี่ปุ่นเลยทีเดียว

อย่างไรก็ดี แม้ภาวะตลาดหุ้นไทยจะผันผวนหนัก แต่ธุรกิจที่วางแผนเตรียมเข้าระดมทุนก็ยังเดินหน้ากันต่อไป

หุ้นไอพีโอฮอต-ราคาวิ่งเหนือจอง

โดยข้อมูลตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (ณ 12 พ.ค. 2564) พบว่า ปีนี้มีหุ้นที่เสนอขายต่อประชาชนเป็นครั้งแรก(IPO) เข้าระดมทุนแล้วทั้งสิ้น 12 บริษัทแบ่งเป็น ระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ SET จำนวน 5 บริษัท และในตลาดหลักทรัพย์ mai จำนวน 7 บริษัท

มีมูลค่าระดมทุนรวม 61,779.16 ล้านบาท มูลค่าเสนอขาย 100,047.44 ล้านบาท และมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคาไอพีโอ 335,079.68 ล้านบาท (ดูตาราง)

ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่า ราคาปิดการซื้อขายวันแรกของหุ้นไอพีโอทั้งหมด มีเพียง บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง (DMT) ที่ราคาปรับลดลงต่ำกว่าราคาจองซื้อไอพีโอ

ขณะที่ “ยอดฤดี สันตติกุล” รองกรรมการผู้อำนวยการ หัวหน้าสายงานตลาดทุน บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า เทรนด์หุ้นไอพีโอจะมาเป็นรอบ ๆ โดยรอบก่อนหน้านี้เป็นช่วงที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ออกกฎระเบียบเพิ่มเกี่ยวกับการจัดสรรหุ้นสำหรับผู้มีอุปการคุณ ส่งผลต่อหุ้นไอพีโอไม่ค่อยน่าสนใจไปพักหนึ่ง แต่ช่วงนี้กลับมาได้ร้อนแรงอีกครั้ง

OR จุดกระแส นักลงทุนฟันกำไร

“ยอดฤดี” กล่าวว่า ช่วงต้นปีที่ผ่านมา หุ้นไอพีโอทำกำไรแทบทุกบริษัท เริ่มตั้งแต่หุ้นบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีกจำกัด (มหาชน) หรือ OR เป็นตัวจุดกระแส หลังจากนั้น หุ้นไอพีโออื่น ๆ ต่างปรับตัวขึ้นมากันหมด

อย่างหุ้นบริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือTIDLOR ที่เป็นตัวพิสูจน์ ทั้ง ๆ ที่มูลค่าหุ้น(valuation) ยังค่อนข้างแพง แต่ด้วยกระแสของหุ้นไอพีโอที่แรง จนมีนักลงทุนเข้าไปเก็งกำไรกันมาก ทำให้หุ้น TIDLOR ยังยืนระดับเหนือจอง

“เพราะหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯยากที่จะทำกำไรแบบรายวัน ขณะที่หุ้นไอพีโอยังไม่ค่อยทำให้นักลงทุนรู้สึกผิดหวังเท่าไหร่โดยต้องไม่ดูดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET index) เพราะดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้นลง ๆ อยู่แล้ว แต่ความผันผวนไม่ได้กระทบหุ้นไอพีโอเพราะตอนนี้ยังดีทุกตัว”

ทั้งนี้ สภาวะตลาดโดยรวมของหุ้นไอพีโอน่าจะยังอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างดีไปจนถึงไตรมาส 3 ปีนี้ แม้สถานการณ์โควิด-19 จะรุนแรง แต่ตลาดหุ้นไทยยังมีปริมาณการซื้อขายที่สูง ซึ่งสะท้อนได้จากราคาหุ้นทุกโบรกเกอร์ที่ดีดตัวขึ้นหมด เพราะมีวอลุ่มเทรดทะลัก

บริษัทเล็กได้จังหวะแห่ระดมทุน

“ยอดฤดี” กล่าวอีกว่า ช่วงที่เหลือของปี 2564 นี้ บริษัทมีแผนนำธุรกิจเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯเพิ่มอีก 3 ราย คือ 1.บมจ.เอ็นเอสแอล ฟู้ดส์ (NSL) ซึ่งจะเปิดซื้อขายวันแรกช่วงวันที่ 19 พ.ค. 64 ในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ด้วยราคาไอพีโอ 12 บาทต่อหุ้น โดยวันจองซื้อพบว่ามีนักลงทุนสถาบันจองสูงกว่า6 เท่า จากที่จัดสรรหุ้นไว้ 7 ล้านหุ้น

2.บมจ.มีนาทรานสปอร์ต (MENA) ธุรกิจให้บริการขนส่งสินค้าด้วยรถลากจูงหรือรถเทรลเลอร์ และ 3.บมจ.อุบล ไบโอ เอทานอล (UBE) ธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมันสำปะหลัง

ขณะที่ต้นปีที่ผ่านมา บริษัทได้นำหุ้นเข้าจดทะเบียนไปแล้ว 2 บริษัท คือ บริษัท แอสเซทไวส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ASW ที่มีมูลค่า (มาร์เก็ตแคป) ประมาณ 2,000 ล้านบาท และบริษัท โปรเอ็น คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ PROEN ที่ราคาเทรดวันแรกขึ้นไปแตะซีลลิ่ง 200% จากแรงหนุนของเทรนด์หุ้นเทคโนโลยีที่กำลังมา

“ช่วงนี้บริษัทที่มาออกหุ้นไอพีโอ ส่วนใหญ่เป็นบริษัทเล็ก ๆ ซึ่งน่าจะเป็นจังหวะมากกว่า เพราะแต่ละบริษัทกว่าจะแต่งตัวเข้าตลาดได้ ขั้นต่ำ 2 ปี หรือโดยเฉลี่ยราว 3-5 ปี โดยบริษัทเรามีหุ้นไอพีโออยู่ในกระบวนการทั้งหมด 30 ตัว ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า”

20 บริษัทต่อคิวเข้าตลาดหุ้นปีนี้

ด้าน “แมนพงศ์ เสนาณรงค์” รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลท. กล่าวว่า บริษัทส่วนใหญ่ที่เลือกเข้ามาระดมทุนขายหุ้นไอพีโอช่วงนี้ เพราะมีข้อมูลพร้อม และสภาวะตลาดหุ้นไทยไม่ได้มีความผันผวนแบบมีนัยสำคัญ

ซึ่งหากสังเกตปีนี้จะค่อนข้างกระจายตัว เริ่มตั้งแต่ต้นปีถึงเดือน พ.ค. มีทั้งหมด 12 บริษัท หลังจากประกาศงบการเงินไตรมาส 1 และงบฯครึ่งแรกของปี 2564 น่าจะมีเข้ามาอีกลอตใหญ่

“ช่วงที่เหลือน่าจะมีอีกราว 20 บริษัทที่จะไอพีโอ โดยผลกระทบโควิดอาจจะมีผลเชิงเซนติเมนต์บ้าง แต่ไม่ได้กดดันให้ชะลอแผนไอพีโอ เมื่อเทียบเหตุการณ์สงครามการค้าในอดีตที่รุนแรงกว่า”

เกณฑ์หนุนหุ้น 10 อุตสาหกรรม

ทั้งนี้ สิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯกำลังดำเนินการ คือ การปรับปรุงเกณฑ์การรับหุ้นใน SET ด้วยเกณฑ์ market capitalization สำหรับบริษัทในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 ประเภท

ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ประกอบด้วย 1.ยานยนต์สมัยใหม่ 2.อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 3.การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 4.การเกษตรและเทคโนโลยี

5.การแปรรูปอาหาร 6.หุ่นยนต์7.การบินและโลจิสติกส์ 8.เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 9.ดิจิทัล และ 10.การแพทย์และสุขภาพครบวงจรเพื่อให้สามารถเข้าถึงแหล่งระดมทุน แม้ยังไม่ทำกำไรได้

โดยจะกำหนดเกณฑ์เบื้องต้น คือ 1.มาร์เก็ตแคป 7,500 ล้านบาท มีรายได้จากการดำเนินงาน 3 ปี และปีล่าสุดต้องมีรายได้มากกว่า 5,000 ล้านบาท มีอัตราเติบโตของรายได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 2 ปี เฉลี่ยมากกว่า 20% เพื่อยังคงเป็นการสนับสนุนธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ และมี track record ยาว เพื่อให้นักลงทุนมีข้อมูลเพียงพอในการวิเคราะห์แนวโน้มผลประกอบการของแต่ละบริษัท

และที่สำคัญ ต้องเปิดเผย cash flow fromoperation ว่าเพียงพอสำหรับ 12 เดือนข้างหน้า เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทมีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอในการประกอบธุรกิจ

“เราปิดรับฟังความเห็นเรื่องนี้ไปแล้วตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ในกระบวนการสรุปออกมาเป็นเกณฑ์บังคับใช้ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มมีผลบังคับใช้ได้ช่วงก่อนไตรมาส 3 นี้” นายแมนพงศ์กล่าว

ทั้งนี้ หุ้นไอพีโอในช่วงที่เหลือของปีจะไปได้ดีเหมือนกับช่วงต้นปีที่ผ่านมาหรือไม่ คงต้องติดตามกันต่อไป