ตลาดหลักทรัพย์ฯ คลอดเกณฑ์หนุนหุ้นกลุ่มอุตฯ เป้าหมายเข้าจดทะเบียนใน SET

ภาพ ตลท. หุ้นไทย (SET) ตลาดหุ้น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คลอดเกณฑ์หนุนหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายเข้าจดทะเบียนใน SET

เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2564 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ได้แจ้งปรับปรุงหลักเกณฑ์การรับหุ้นสามัญเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนใน SET ด้วยเกณฑ์มูลค่าหุ้นสามัญตามราคาตลาด (Market Capitalization Test) เพื่อรองรับบริษัทที่มีการประกอบธุรกิจในอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐตามแผนยุทธศาสตร์ของประเทศ โดยจะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ
ได้มีการทบทวนและเปิดรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการปรับปรุงหลักเกณฑ์การรับหุ้นสามัญเพื่อสนับสนุนบริษัทที่ประกอบกิจการในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายและอุตสาหกรรมที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งสอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ของประเทศ

โดยมีเงื่อนไขว่ากิจการในกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวต้องได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เช่น ดิจิทัล ไบโอเทคโนโลยี นาโนเทคโนโลยี อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ยานยนต์สมัยใหม่ เป็นต้น

ให้สามารถเข้าจดทะเบียนใน SET ด้วยเกณฑ์มูลค่าหุ้นสามัญตามราคาตลาด (Market Capitalization Test)
เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งระดมทุนในตลาดทุนของบริษัทที่มีศักยภาพในการเติบโต ทั้งนี้ การปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นไปตามแผนงาน Regulatory Reform ของตลาดหลักทรัพย์ฯ

ในการปรับปรุงหลักเกณฑ์ครั้งนี้ จะส่งเสริมและสนับสนุนให้บริษัทที่ประกอบธุรกิจที่สอดคล้องนโยบายรัฐดังกล่าวข้างต้น ที่มี Market Capitalization ไม่น้อยกว่า 7,500 ล้านบาท และมีคุณสมบัติอื่น ๆ ตามที่กำหนด
สามารถยื่นคำขอเข้าจดทะเบียนใน SET ได้ โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องและได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. แล้ว ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ประเภทอุตสาหกรรมที่สามารถยื่นคำขอได้ มีดังนี้

1. อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่

(1) ยานยนต์สมัยใหม่
(2) อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
(3) การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
(4) การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ
(5) การแปรรูปอาหาร
(6) หุ่นยนต์
(7) การบินและโลจิสติกส์
(8) เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ
(9) ดิจิทัล
(10) การแพทย์และสุขภาพครบวงจร

2. อุตสาหกรรมพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ได้แก่

(1) กิจการพัฒนา Biotechnology
(2) กิจการพัฒนา Nanotechnology
(3) กิจการพัฒนา Digital Technology
(4) กิจการพัฒนา Advanced Material Technology