หนี้ครัวเรือนทะลุ 14 ล้านล้านบาท สินเชื่อบุคคล-หนี้บัตรเครดิตเพิ่ม

หนี้ครัวเรือน
FILE PHOTO : Mladen ANTONOV / AFP

สภาพัฒน์ ชี้ไตรมาส 4 ของปี 2563 หนี้ครัวเรือนไทยทะลุ 14 ล้านล้านบาท สินเชื่อกล่าวถึงพิเศษพุ่ง 6.8% คาดปี’64 ครัวเรือนขาดสภาพคล่องมากขึ้น การก่อหนี้บัตรเครดิต-สินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น

วันที่ 24 พฤษภาคม 2564 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า หนี้ครัวเรือนไทยในไตรมาส 4 ของปี 2563 มีมูลค่า 14.02 ล้านล้านบาท ขยาย 3.9% จาก 4% ในไตรมาสก่อน หรือคิดเป็นสัดส่วน 89.3% ต่อ GDP เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่หดตัว แม้หนี้ครัวเรือนจะขยายตัวในอัตราที่ช้าลง สะท้อนให้เห็นว่าครัวเรือนยังระมัดระวังในการก่อหนี้

อย่างไรก็ดี ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนปรับตัวดีขึ้น แต่ยังต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากสัดส่วนสินเชื่อค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน (สินเชื่อกล่าวถึงพิเศษ) ยังอยู่ในระดับสูง โดยในไตรมาส 4 ปี 2563 สัดส่วน NPLs ของสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.84% ลดลงจาก 2.91% ในไตรมาสก่อน เป็นผลจากการดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ในช่วงที่ผ่านมาของสถาบันการเงิน

นายดนุชา กล่าวว่า สินเชื่อกล่าวถึงพิเศษยังอยู่ในระดับสูง หรือมีสัดส่วนต่อสินเชื่อรวม 6.8% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน สะท้อนถึงความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนบางกลุ่มด้อยลง และมีโอกาสที่จะกลายเป็นหนี้เสียมากขึ้น อย่างไรก็ดี รัฐบาลอยู่ระหว่างพิจารณามาตรการทางการเงินมาช่วยส่วนนี้เพิ่มเติมด้วย

ส่วนแนวโน้มการก่อหนี้ของครัวเรือนในปี 2564 คาดว่าสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP จะยังคงอยู่ในระดับสูง จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวกลับไปในระดับก่อนโควิด-19 ประกอบกับตลาดแรงงานอาจได้รับผลกระทบที่รุนแรงขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อรายได้ของแรงงานและทำให้ครัวเรือนประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องมากขึ้น โดยเฉพาะครัวเรือนรายได้น้อย ทำให้ปี 2564 ครัวเรือนจะระมัดระวังการใช้จ่าย โดยเฉพาะการชะลอการซื้อสินค้าในกลุ่มสินค้าคงทน ทำให้ความต้องการสินเชื่อที่อยู่อาศัยและรถยนต์ชะลอตัวลง

ขณะที่ความต้องการสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลอาจปรับตัวเพิ่มขึ้น จากปัญหาการขาดสภาพคล่อง รวมทั้งมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับประชาชนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ อาทิ ธนาคารออมสิน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างเหมาะสม ควบคุมดูแลการให้สินเชื่อให้สอดคล้องกับระดับรายได้ รวมทั้งเฝ้าระวังการก่อหนี้นอกระบบโดยเฉพาะกับครัวเรือนผู้มีรายได้น้อย ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ครัวเรือนมีรายได้ และสามารถรักษาระดับการบริโภคไว้ในระดับเดิม

อย่างไรก็ดี พบว่าในไตรมาส 1 ของปี 2564 การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ลดลง โดยบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ลดลง 2.8% โดยการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลง 4.2% และการบริโภคบุหรี่ลดลง 0.4% ทั้งนี้ ยังต้องเฝ้าระวังการซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์ โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้าที่ยังมีการลักลอบจำหน่ายโดยผิดกฎหมายเป็นจำนวนมาก และมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งยังต้องให้ความสำคัญกับการรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความตระหนักถึงโทษของบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนนักสูบรุ่นใหม่ที่นิยมสูบบุหรี่ไฟฟ้า