เงินบาทแข็งค่า-หุ้นไทยปรับขึ้น จับตา 5 ปัจจัยสำคัญสัปดาห์หน้า

เงินบาท-หุ้นไทย

เงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ขณะที่หุ้นไทยปรับขึ้นตามหุ้นต่างประเทศ และความหวังในการเร่งฉีดวัคซีนในประเทศ จับตา ปัจจัยสำคัญสัปดาห์หน้า ทั้งการพิจารณาร่างพ.ร.บ. งบประมาณประจำปี 2565 รายงานเศรษฐกิจการเงินเดือนเม.ย. ของธปท. สถานการณ์โควิดทั้งในปละต่างประเทศ  การกระจายวัคซีน การประชุมโอเปกพลัส

วันที่ 30 พฤษภาคม 2564 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย โดยเงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นตามทิศทางค่าเงินหยวนและสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาค ประกอบกับมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากสถานะซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ และข้อมูลการส่งออกเดือนเม.ย. ของไทยที่เติบโตดีกว่าตัวเลขคาดการณ์ของตลาด

นอกจากนี้เงินดอลลาร์ฯ ยังเผชิญแรงกดดันระหว่างสัปดาห์ หลังจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟดออกมากล่าวย้ำว่า เฟดจะยังคงผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่อง และมองว่า เงินเฟ้อของสหรัฐฯ จะเป็นภาวะชั่วคราว

ในวันศุกร์ (28 พ.ค.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 31.25 เทียบกับระดับ 31.38 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (21 พ.ค.)

baht-kresearch-30May

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (31 พ.ค.-4 มิ.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 31.15-31.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดและรายงานเศรษฐกิจการเงินเดือนเม.ย. ของธปท. รวมถึงสถานการณ์โควิด 19 ในประเทศ

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ประกอบด้วย ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน การจ้างงานภาคเอกชนจาก ADP ดัชนี PMI/ISM ภาคการผลิตและบริการเดือนพ.ค. รายจ่ายด้านการก่อสร้างเดือนเม.ย. จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และรายงาน Beige Book ของเฟด

นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามการประชุม G-7 สถานการณ์โควิด 19 ในต่างประเทศ และดัชนี PMI ภาคการผลิตและบริการเดือนพ.ค. ของจีน ยูโรโซน และอังกฤษเช่นกัน

SET-Kresearch-30 may

ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย หุ้นไทยปรับตัวขึ้นจากสัปดาห์ก่อน โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,581.98 จุด เพิ่มขึ้น 1.90% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 110,624.15 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.58% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 1.02% มาปิดที่ 480.20 จุด

หุ้นไทยแกว่งตัวในกรอบแคบช่วงต้นสัปดาห์ ก่อนจะดีดตัวขึ้นในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ตามแรงซื้อหุ้นกลุ่มพลังงาน เทคโนโลยีและการเงิน ประกอบกับมีปัจจัยหนุนจากตัวเลขส่งออกไทยเดือนเม.ย. ที่ขยายตัวดี พ.ร.ก. กู้เงิน 5 แสนล้านบาทเพื่อเยียวยาโควิด 19 และความคาดหวังต่อโอกาสในการนำเข้าวัคซีนทางเลือกเพิ่มเติม

นอกจากนี้บรรยากาศตลาดหุ้นต่างประเทศหลังตัวเลขแรงงานสหรัฐฯ ออกมาดีก็ช่วยหนุนทิศทางหุ้นไทยด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดีนักลงทุนต่างชาติยังมีสถานะขายสุทธิหุ้นไทย ขณะที่การปรับลดน้ำหนักลงทุนหุ้นไทยโดย MSCI มีผลในสัปดาห์นี้

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (31 พ.ค. – 4 มิ.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,575 และ 1,565 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,600 และ 1,615 จุด ตามลำดับ

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การพิจารณาร่างพ.ร.บ. งบประมาณประจำปี 2565 สถานการณ์โควิด 19 ตลอดจนการควบคุมสถานการณ์การระบาดและการกระจายวัคซีนโควิด 19 ในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงการประชุมโอเปกพลัส

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรและอัตราการว่างงานเดือนพ.ค. ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการเดือนพ.ค. ของจีน ญี่ปุ่นและยูโรโซน