ดอลลาร์แข็งค่าเล็กน้อย จับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตร วันศุกร์นี้

ค่าเงินบาท-ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย จับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตรวันศุกร์นี้ ขณะที่ปัจจัยในประเทศ กระทรวงการคลังคาด 4 โครงการของรัฐบาลจะชวยเติมเงินเข้าระบบกว่า 4.7 แสนล้าน

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่าสภาวการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 2 มิถุนายน 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (2/6) ที่ระดับ 31.15/17 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (1/6) ที่ระดับ 31.14/16 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยระหว่างวันดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย รับข้อมูลภาคการผลิตที่แข็งแกร่งของสหรัฐ

โดยสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐอยู่ที่ระดับ 61.2 ในเดือน พ.ค. เพิ่มขึ้นจากเดือน เม.ย.ที่ระดับ 60.7 ทั้งนี้ ดัชนีภาคการผลิตในเดือน พ.ค.ได้รับแรงหนุนจากยอดคำสั่งซื้อใหม่ ยอดการผลิต และการจ้างงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเพื่อผลิตสินค้าให้ทันความต้องการที่สูงขึ้น

และทางด้านไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 62.1 ในเดือน พ.ค. จากระดับ 60.5 ในเดือน เม.ย. โดยดัชนี PMI เดือน พ.ค. ถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มมีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในเดือน พ.ค. 2550

ทั้งนี้นักลงทุนยังจับตาข้อมูลแรงงานของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน พ.ค.

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2564 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ โดยมอบหมายให้กระทรวงการคลังดำเนินมาตรการลดภาระค่าครองชีพและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของ COVID-19 ซึ่งประกอบด้วย 4 โครงการครอบคลุมประชาชนประมาณ 4 ล้านคน

โดยกระทรวงการคลังคาดว่า การดำเนินการโครงการทั้ง 4 จะช่วยรักษากำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจ จากการเติมเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจำนวน 473,000 ล้านบาท อีกทั้งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่พี่น้องประชาชน เพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการรายย่อยและผู้ผลิต ตลอดจนห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งรักษาระดับและทิศทางของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพื่อให้เป็นไปได้อย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี 2564

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทยังแกว่งตัวอยู่ในกรอบ โดยเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 31.13-31.19 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 31.14/16 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (2/6) ที่ระดับ 1.2219/20 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (1/6) ที่ระดับ 1.2216/17 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ค่าเงินยูโรได้รับแรงหนุนหลัง ไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายเดือ พ.ค. ทะยานขึ้นสู่ระดับ 63.1 จากระดับ 62.9 ของเดือน เม.ย. ซึ่งดีกว่าตัวเลขคาดการณ์เบื้องต้นก่อนหน้านี้ที่ระดับ 62.8 และเป็นตัวเลขสูงที่สุดเท่าที่เคยมีการรายงานมา นับตั้งแต่ที่มาร์กิตเริ่มจัดทำดัชนีเมื่อเดือน มิ.ย. 2540

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ โดยเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.2190-1.2227 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.2178/80

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (2/6) ที่ระดับ 109.52/53 ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (1/6) ที่รดับ 109.49/50 เยน/ดอลลาร์ ญี่ปุ่นและสหรัฐเตรียมจัดการหารือแบบตัวต่อตัวครั้งแรก ระหว่างนายทาโร อาโสะ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังญี่ปุ่น และนางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐ ในวันศุกร์นี้ (4/6) ณ กรุงลอนดอน

โดยรัฐมนตรีการคลังของทั้ง 2 ประเทศจะยืนยันถึงความร่วมมือในการส่งเสริมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในระหว่างการประชุมครั้งนี้ ซึ่งจะจัดขึ้นนอกกรอบการประชุมรัฐมตรีคลังจากกลุ่มชาติอุตสาหกรรม G7

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.48-109.81 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 109.76/78 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายเดือน พ.ค.ของสหรัฐ (1/6), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการบริการขั้นสุดท้ายเดือน พ.ค.ของอังกฤษ (3/6), ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการบิการขั้นสุดท้ายเดือน พ.ค.ของประเทศฝั่งยุโรป (3/6), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการบริการขั้นสุดท้ายเดือน พ.ค.ของสหรัฐ (3/6), ตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนเดือน พ.ค. (3/6), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (3/6), ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร (4/6), การใช้จ่ายภาคครัวเรือนเดือน เม.ย.ของญี่ปุ่น (4/6)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.40/+0.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +0.75/+1.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ