สภาพคล่องล้นแบงก์ 2.3 ล้านล้าน หั่น “ดอกเบี้ยฝาก” บริหารต้นทุน

baht notes-ธนบัตร
REUTERS/Athit Perawongmetha/File Photo

สภาพคล่องล้นแบงก์ “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” เปิดตัวเลขแบงก์ 19 แห่ง มีสภาพคล่องส่วนเกิน 2.3 ล้านล้านบาท ยอดเงินฝากคงค้างเพิ่มต่อเนื่องเกือบ 14.88 ล้านล้าน เผยแบงก์ดอดลดดอกเบี้ยเงินฝากประจำบริหารต้นทุน “CIMBT” ยอมรับหั่นดอกเบี้ยเงินฝากปกติหันเพิ่มดอกเบี้ยดิจิทัลเป็น 2% บริหารต้นทุนยามเงินฝากท่วม “ไทยพาณิชย์” ชี้ผลตอบแทนบัญชี e-Saving จูงใจแล้ว ฟาก “ทีทีบี” ย้ำต้องหาจุดสมดุลผู้ฝาก-ผู้กู้

สภาพคล่องล้นแบงก์

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ”ว่า แนวโน้มสภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ยังคงอยู่ในระดับสูง เนื่องจากมีการสะสมสภาพคล่องมาหลายปี โดยข้อมูลจากระบบธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย 19 แห่ง พบว่า มีสภาพคล่องสะสมอยู่ที่ 5.06 ล้านล้านบาท โดยหากหักเกณฑ์การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องยังคงมีสภาพคล่องส่วนเกินอยู่ที่ 2.3 ล้านล้านบาท

โดยทิศทางเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ 19 แห่งยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดย ณ เดือนเมษายน เงินฝากทั้งระบบเพิ่มขึ้น 1.52% มาอยู่ที่ 14.88 ล้านล้านบาท

ช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.ซึ่งเป็นช่วงโควิด-19 มีการระบาดระลอก 3 พบว่า เดือน มี.ค.มีเงินฝากเพิ่มขึ้น 7.38 หมื่นล้านบาท และในเดือน เม.ย.เพิ่มขึ้น 1.78 แสนล้านบาท อย่างไรก็ดี หากเทียบกับในช่วงที่เกิดโควิด-19 ระลอกแรกในปี 2563 ที่มียอดคงค้างเงินฝากเพิ่มขึ้นเฉลี่ยสูงถึง 4.96 แสนล้านบาทต่อเดือน

ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 ที่อยู่มา 1 ปี ทำให้คนเริ่มต้องการนำเงินสภาพคล่องออกมาใช้จ่าย ประกอบกับสถานการณ์ตลาดตกใจน้อยกว่าเมื่อเทียบกับครั้งแรกที่ทุกคนกลัว และเร่งเทขายสินทรัพย์เสี่ยง และนำเงินมาฝากไว้ในที่ปลอดภัยทั้งหมด

“ลดดอกเบี้ย” ฝากประจำ

นางสาวกาญจนากล่าวว่า จากสภาพคล่องส่วนเกินทำให้แต่ละธนาคารบริหารจัดการเพื่อลดต้นทุน โดยที่ผ่านมาธนาคารต่าง ๆ ก็มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์และเงินฝากประจำ หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีที่ผ่านมา

โดยในเดือน เม.ย. 2563 อัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์อยู่ที่ 0.30% ต่อปี และปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 0.25% ในเดือน พ.ค. 2563 เช่นเดียวกับเงินฝากประจำ 3 เดือน จาก 0.50% มาอยู่ที่ 0.37% เงินฝากประจำ 6 เดือน จาก 0.60% มาอยู่ที่ 0.45% เงินฝากประจำ 12 เดือน จาก 0.65% มาอยู่ที่ 0.45%

นอกจากนี้ล่าสุดพบว่าในเดือน มี.ค. 2564 มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือน จาก 0.37% มาอยู่ที่ 0.32% ขณะเดียวกันก็เห็นแบงก์ไปขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากพวกดิจิทัลแทน

นางสาวกาญจนากล่าวว่า ปัจจุบันจะเห็นว่าธนาคารพาณิชย์หันมามุ่งเน้นบัญชีเงินฝากดิจิทัลตระกูล e-Saving มากขึ้น โดยเสนออัตราดอกเบี้ยจูงใจระดับ 1.5% ต่อปี โดยลูกค้าไม่ต้องมีสมุดบัญชี ส่วนหนึ่งเป็นการลดต้นทุนของธนาคาร และต้องการดึงฐานลูกค้าขึ้นบนแพลตฟอร์มดิจิทัล และเพื่อเป็นการบริหารจัดการไม่ให้สภาพคล่องล้นเกินไป

ลดต้นทุนชูเงินฝากดิจิทัล

สอดคล้องกับนายเอกสิทธิ์ พฤฒิพลากร ผู้บริหารผลิตภัณฑ์ธุรกิจรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า กลยุทธ์ด้านเงินฝากปีนี้ ธนาคารมุ่งเน้นบริหารจัดการต้นทุนเงินฝากให้เหมาะสม เนื่องจากการเติบโตสินเชื่อชะลอตัว และเพื่อไม่ให้เงินฝากท่วม โดยมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากบัญชีปกติ และไปเพิ่มอัตราดอกเบี้ยบัญชีเงินฝากดิจิทัล เนื่องจากต้นทุนการหาบัญชีเงินฝากของดิจิทัลต่ำกว่า

โดยธนาคารได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ดิจิทัล “ชิลดี” ตั้งแต่ปลายเดือน พ.ค. เช่น ยอดเงินฝากเริ่มต้น 1 หมื่นบาท เดิมจะได้รับดอกเบี้ย 0.20% ปรับใหม่เป็น 0.50% และฝากจำนวน 5 หมื่นบาท ดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ 1.70% ปรับเป็น 2.00%

“ในช่วงสินเชื่อไม่โต เราต้องบริหารเงินฝากไม่ให้เป็นต้นทุน แม้ว่าสภาพคล่องไม่ล้นเท่าปีก่อน โดยเห็นสภาพคล่องส่วนเกินย้ายส่วนหนึ่งมาอยู่บัญชีเงินฝากดิจิทัลมากขึ้น เพราะได้ผลตอบแทนสูง ซึ่งเรามีแผนจะออกโปรดักต์ตระกูลเงินฝากดิจิทัลอีก 2 ตัว เพื่อมาดูดซับสภาพคล่องส่วนเกิน”

SCB ยันไม่ลดดอกเบี้ยฝาก

ด้านนายมาณพ เสงี่ยมบุตร รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่า วิธีบริหารจัดการในภาวะสภาพคล่องเงินฝากท่วมของธนาคารแต่ละแห่งมีนโยบายไม่เหมือนกัน

ในส่วนของธนาคารไทยพาณิชย์ จะพยายามบริหารจัดการไม่ให้กระทบความสัมพันธ์กับลูกค้า ปัจจุบันจึงยังไม่ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ดิจิทัลของธนาคารค่อนข้างสูงอยู่แล้ว อยู่ที่ 1.5% ต่อปี ตั้งแต่บาทแรกจนถึง 2 ล้านบาท และส่วนที่เกิน 2 ล้านบาทอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 0.5% ต่อปี

ธนาคารมีการประเมินสภาพคล่องของตัวเองอยู่ตลอดเวลา หากในช่วงที่มีสภาพคล่องสูง ในภาวะที่สินเชื่อชะลอตัวธนาคารก็ได้มีการนำสภาพคล่องส่วนเกินไปลงทุนในตลาดต่าง ๆ เช่น ตลาดทุน ตลาดเงิน รวมถึงลงทุนในพันธบัตร เพื่อหาผลตอบแทนและบริหารต้นทุน

โยกเงินฝากไปลงทุน

ขณะที่นายอนุวัติร์ เหลืองทวีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าบุคคล ทีเอ็มบีธนชาต หรือทีทีบี (ttb) กล่าวว่า เป้าหมายเงินฝากปีนี้ธนาคารจะบริหารให้สอดคล้องกับภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อที่คาดว่าจะขยายตัวเล็กน้อย

ปัจจุบันธนาคารมียอดเงินฝากอยู่ราว 1.3-1.4 ล้านล้านบาท โดยในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยต่ำ ธนาคารแนะนำลูกค้าที่ต้องการเพิ่มผลตอบแทนและรับความเสี่ยงได้ให้ลงทุนผ่าน “ttb smart port” ที่สามารถเลือกลงทุนได้ 5 พอร์ตตามระดับความเสี่ยงที่เหมาะสม

ขณะที่ลูกค้ารายใดยังคงต้องการฝากเงินจะมีผลิตภัณฑ์เงินฝากที่ยิ่งฝากนานยิ่งให้ดอกเบี้ยสูง รวมถึงจะทยอยออกผลิตภัณฑ์เงินฝากออกมาเพิ่มเติมเพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้า

“เราพยายามดูสภาพคล่องของเงินฝากและสินเชื่อ เพราะต้องยอมรับว่าตอนนี้เงินกู้น้อยลง จึงจำเป็นต้องบริหารจัดการต้นทุนให้สอดคล้องกัน เพราะคนฝากเงินก็ต้องการดอกเบี้ยสูง และคนกู้ก็ต้องการดอกเบี้ยต่ำ ๆ เราจึงต้องหาจุดเหมาะสม”