“สมคิด” ดึงแบงก์รัฐ-ธพ. ปั้นบิ๊กดาต้า ตีโจทย์ SMEs ให้แตก 1 ปี

รัฐบาลวางจังหวะก้าวทางการเมืองไว้ว่า ปลายปีหน้าจะมี “เลือกตั้งทั่วไป” ทำให้ช่วงนี้เป็นช่วงเวลา “นับถอยหลัง” จึงมีเวลาทำโน่นทำนี่ได้อีกราว 1 ปี โดยเฉพาะการขับเคลื่อนนโยบายทางด้านเศรษฐกิจ ถือเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญก่อนจะถึง “วันเลือกตั้ง” เพราะเป็นเรื่อง “ปากท้อง” ของประชาชน

ดังนั้น เราจึงได้เห็น “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี แม่ทัพเศรษฐกิจ เดินสายฉายภาพความสำเร็จของบางนโยบายด้านเศรษฐกิจที่ได้ทำมาอย่างเรื่องอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจที่ดีขึ้นรวดเดียว 20 อันดับ ขณะเดียวกันก็ถือโอกาสประกาศนโยบายที่จะผลักดันในระยะ 1 ปีที่เหลือนี้

โดยล่าสุด ในการเปิด “โครงการบริหารความเสี่ยง FX ของ SMEs” เมื่อ 6 พ.ย. “สมคิด” ประกาศบนเวทีว่า ช่วง 1 ปีนับจากนี้ อยากจะเห็นภาครัฐและเอกชน (ธนาคารพาณิชย์ : ธพ.) ให้ความสำคัญการแก้ปัญหาให้แก่กลุ่ม SMEs อย่างจริงจัง เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจ แต่ที่ผ่านมากลับต้องเผชิญปัญหามากมาย อย่างเช่น เวลาที่เงินบาทแข็งค่า เป็นต้น

“ผมอยากจะใช้คำว่า SMEs focus economy คือเอา SMEs เป็นหลักในการทำงาน อย่างน้อยใช้พลังงานครึ่งหนึ่งของการทำงานทั้งหมด ขอให้เอาใจใส่ SMEs ไม่ว่ารัฐ ไม่ว่าเอกชน ช่วยกันดูว่าเขามีปัญหาอะไร ทำไมตีไม่แตก”

สำหรับในฝั่งภาครัฐนั้น “สมคิด” บอกว่าได้หารือกับ รมว.คลังแล้ว และได้มอบนโยบายให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ปรับโครงสร้างองค์กรและปรับวิธีการทำงานครั้งใหญ่ เพื่อให้มีกำลังมากพอช่วยแก้ปัญหาเชิงลึกให้แก่ SMEs ได้ ซึ่งรัฐบาลพร้อมสนับสนุนการเพิ่มกำลังคนทำงานที่มีความเชี่ยวชาญเทคโนโลยี

“หลักการคือ จะต้องมีความเข้มข้นขององค์กรที่สามารถลงลึกไปในระดับชุมชนที่เป็นที่มั่นของ SMEs ได้ ซึ่งไม่ได้หมายถึงการขยายสาขา แต่หมายถึงวิธีการบริหารจัดการให้มีบุคลากร มีเทคโนโลยี ที่สามารถทำให้เกิดการวิเคราะห์ ติดตามลูกค้าอย่างใกล้ชิด และประมวลผลได้ โดยไม่ต้องเข้ามาสำนักงานใหญ่”

ด้านธนาคารออมสิน จะต้องจัดตั้งศูนย์ SMEs ทั่วประเทศ ซึ่งต้องประสานกับ ธพว.ในการช่วยพัฒนา SMEs และสตาร์ตอัพ (ผู้เริ่มต้นธุรกิจ) ไม่ใช่แค่การให้กู้ยืมเงินเท่านั้น ส่วนธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ต้องผลักดันลูกค้า SMEs ยกระดับไปค้าขายกับต่างประเทศให้มากขึ้น

ทั้งนี้ “สมคิด” ย้ำว่า กำลังในการช่วยเหลือ SMEs ที่ดีที่สุด ไม่ใช่แบงก์รัฐ แต่เป็น “แบงก์พาณิชย์” โดยอยากให้มอง SMEs เป็นอนาคต ไม่ใช่ภาระ ดังนั้นจึงต้องช่วยกันเสริมเขี้ยวเล็บให้ SMEs โดยเฉพาะการพัฒนาด้านเทคโนโลยี การเชื่อมโยงฐานข้อมูล SMEs ในลักษณะ “บิ๊กดาต้า” ซึ่งตนได้หารือกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ช่วยหาวิธีการจูงใจธนาคารพาณิชย์ให้เข้ามาร่วมพัฒนา SMEs ทั้งในด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และ e-Commerce

ส่วนการที่กระทรวงการคลังส่งเสริมให้ธุรกิจ SMEs ทำบัญชีเล่มเดียว ก็จะช่วยให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อได้อย่างมั่นใจมากขึ้น

“ถ้าดูตามตารางเวลา รัฐบาลมีเวลาอีก 1 ปี ซึ่งดูเหมือนจะสั้น แต่ผมเชื่อว่าปัญหาของ SMEs พวกเราทุกคนรู้หมด เพียงแต่ว่า ผมเชื่อว่า ถ้าเราลดอัตตาของเรา ลดกำไรสูงสุด แล้วเชื่อมโยงกัน เวลาแค่ปีเดียว เหลือเฟือ” รองนายกฯกล่าว

ด้าน “วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าการ ธปท. บอกว่า รองนายกฯต้องการส่งเสริมให้เกิดฐานข้อมูลการให้สินเชื่อ SMEs โดยเฉพาะการปล่อยสินเชื่อที่ไม่ได้ใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันเท่านั้น อย่างการส่งเสริมให้ SMEs ใช้บริการ e-Payment มากขึ้นก็สามารถใช้เป็นข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์สินเชื่อได้ ซึ่งจะช่วยให้เข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ก็มีเรื่องกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจที่ต้องผลักดันเพื่อหนุน SMEs เข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น

ฟาก “ปรีดี ดาวฉาย” ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าปัญหาของ SMEs มีหลากหลาย แต่ตอนนี้ทางฝั่งแบงก์พาณิชย์ก็มีการเร่งดำเนินการ ทั้งการปรับปรุงและพัฒนาการให้ความรู้แก่ SMEs รวมถึงปรับปรุงบริการต่าง ๆ ที่จะทำให้ SMEs เข้มแข็งขึ้น

ขณะที่ “อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์” รมว.คลัง บอกว่า นายสมคิดได้ย้ำถึงการดึง SMEs เข้าสู่ระบบทำบัญชีเดียว เนื่องจากจะเป็นพื้นฐานการทำธุรกิจต่อไปในอนาคต ซึ่ง SMEs ต้องเรียนรู้เรื่อง e-Payment และ e-Commerce เพื่อให้ก้าวทันโลกธุรกิจที่เปลี่ยนไป

“ต้องส่งเสริมให้ SMEs มีความรู้เรื่องเหล่านี้ เพื่อจะได้มี e-Payment ที่ดี ทำบัญชีเดียวได้ แล้วก็เรียนรู้การทำธุรกิจ e-Commerce เพื่อที่อย่างน้อยเขาจะได้ขายของบนเว็บไซต์ได้ในอนาคต”

รมว.คลัง กล่าวด้วยว่า รองนายกฯได้ย้ำว่า การให้เงินกู้แก่ SMEs ของแบงก์รัฐในระยะต่อไป จะไม่ใช่แค่การไปสัมภาษณ์ หรือไปดูธุรกิจ ดูบัญชีเท่านั้น แต่จะต้องดำเนินการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Payment เพื่อเก็บข้อมูลมาวิเคราะห์ เพื่ออนุมัติสินเชื่อให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินได้ง่ายขึ้น

“เรามีโครงการที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ทำอยู่ คือทำโมเดลบิ๊กดาต้า ซึ่งจะให้รัฐวิสาหกิจแชร์ดาต้ากัน เพื่ออย่างน้อยจะได้นำข้อมูลมาวิเคราะห์แล้วนำไปสู่การให้บริการที่ดีขึ้น โดยเฟสแรกจะทำกับแบงก์รัฐก่อน แล้วต่อไปค่อยเชื่อมโยงรัฐวิสาหกิจทั้งหมด”

ทั้งหมดนี้ คือความพยายามจะวางระบบ “บิ๊กดาต้า” ขึ้นมาเพื่อ “ตีโจทย์” ปัญหาของ SMEs ให้แตกนั่นเอง