เดาใจ กนง.แก้วิกฤตหนี้ ลดดอกเบี้ย/หั่นเงินนำส่ง FIDF

แบงก์ชาติ

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 23 มิ.ย.นี้ นอกจากต้องจับตาทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายแล้ว ยังมีเรื่องการลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ที่ปัจจุบันลดจาก 0.46% มาอยู่ที่ 0.23% ชั่วคราว และจะครบกำหนดในสิ้นปีนี้ โดยต้องติดตามว่าจะมีการต่ออายุหรือปรับลดลงต่ำกว่านี้หรือไม่ หลังจากก่อนหน้านี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่งสัญญาณว่า กำลังพิจารณาเกี่ยวกับการลดเงินนำส่ง FIDF นี้อยู่

โดย “ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา คาดการณ์ว่า รอบนี้น่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับ 0.50% ต่อปี แต่น่าจะมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจ (GDP) ใหม่

ขณะเดียวกันมองว่ายังไม่มีความจำเป็นเรื่องการลดอัตราเงินนำส่ง FIDF ลงไปต่ำกว่า 0.23% ซึ่งการลด FIDF เป็นผลทางอ้อมมากกว่า เนื่องจากปัญหาด้านสินเชื่อในตอนนี้ไม่ใช่เรื่องราคา แต่เป็นปัญหาด้านการเข้าถึงสินเชื่อมากกว่า ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ธปท.พยายามทำ โดยออกสินเชื่อฟื้นฟู และโครงการ “พักทรัพย์ พักหนี้” เป็นกลไกเข้าไปช่วย แต่ก็ต้องใช้เวลา

ทั้งนี้ เพื่อให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น มีวิธีการสนับสนุนทำได้หลากหลายวิธี เช่น ค้ำประกันความเสียหาย หรือผ่อนคลายเกณฑ์บางอย่างให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อเพิ่มได้

“การลด FIDF เป็นการแก้ไม่ตรงจุด ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาการเข้าถึงสภาพคล่องอย่างแท้จริง ตอนนี้คนกู้ยังคงอยากกู้อยู่ แต่จะทำอย่างไรให้ได้สินเชื่อ โดยรัฐเข้าไปช่วยค้ำประกันหรือการันตี ซึ่งควรโฟกัสเรื่องของสินเชื่อฟื้นฟูและการทำแวร์เฮาซิ่ง อันนี้น่าจะตรงจุดมากกว่าการลดดอกเบี้ยหรือลด FIDF ซึ่งเราเดินมาถูกทางแล้ว ก็ต้องไปดูและคุยกับแบงก์ว่าอะไรคืออุปสรรค และจะมีการปรับแผนอย่างไรที่ทำให้สภาพคล่องไปถึงคนกู้” ดร.สมประวิณกล่าว

ขณะที่ “ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล” รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า กนง.จะยังคงดอกเบี้ยเช่นกัน โดยท่าทีจะเป็นไปด้วยความระมัดระวังมากขึ้น เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ รวมถึงตอนนี้ไม่มีความจำเป็นในการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อไม่ให้ต้นทุนธุรกิจเพิ่มขึ้นผ่านการดูแลผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยีลด์) ที่เร่งตัวเพิ่มขึ้นตามบอนด์ยีลด์สหรัฐ เพราะปัจจุบันแรงกดดันจุดนี้คลายตัวแล้ว

“ความจำเป็นการลดดอกเบี้ยเพื่อดึงบอนด์ยีลด์ให้ลดลง ก็คงไม่มีผลมากนัก จึงน่าจะเก็บกระสุนหรือรักษาศักยภาพในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) ไว้ใช้ในยามจำเป็นมากกว่า อย่างไรก็ดี การลดดอกเบี้ยนโยบายไม่ใช่เรื่องไม่ดี แต่ตอนนี้ไทยมีปัญหาเรื่องของภาระหนี้ และสภาพคล่อง เชื่อว่า ธปท.จะใช้นโยบายเข้าไปดูแลเป็นจุด ๆ ในส่วนที่มีปัญหา เช่น กลุ่มรายย่อย กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี หรือธุรกิจรายใหญ่ โดยให้สถาบันการเงินเร่งเข้าไปช่วยเหลือลูกค้าในการปรับโครงสร้างหนี้ และ ธปท.เข้าไปช่วยในเรื่องของการผ่อนคลายเกณฑ์กำกับให้”

ส่วนการปรับลดอัตราเงินนำส่ง FIDF อีกนั้นมองว่า หากปรับลดก็จะช่วยลดภาระให้สถาบันการเงิน เพื่อให้สถาบันการเงินนำส่วนต่างที่ลดลงไปช่วยลดอัตราดอกเบี้ยให้ลูกค้า ช่วยลดภาระของลูกหนี้ แต่การลด FIDF จะช่วยลูกหนี้ไม่ได้ทั้งหมด และคนที่ได้ประโยชน์จากการปรับลด FIDF จะเป็นลูกค้าที่ดี เชื่อว่าจะปรับลดหรือไม่ ธปท.คงพิจารณาสัญญาณเพิ่มเติม เช่น การระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ และการกระจายวัคซีน เป็นต้น

“รอบการประชุมครั้งนี้ ธปท.มีโจทย์ที่ยากขึ้น เพราะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว และอีกข้างมีเรื่องของอัตราเงินเฟ้อขึ้น ยีลด์เด้งตัว แม้ว่าในเดือน เม.ย.-พ.ค.จะทยอยลดลงมาแล้ว จึงมองว่าเงินเฟ้อเป็นปัจจัยชั่วคราว และใช้นโยบายด้านการดูแลราคาสินค้ามากกว่านโยบายการเงิน ดังนั้น การลดดอกเบี้ยไม่ใช่คำตอบสุดท้าย โดยคงดอกเบี้ยครั้งนี้เพื่อเก็บกระสุนไว้ก่อน” นางสาวธัญญลักษณ์กล่าว

ฟาก “ดร.อมรเทพ จาวะลา” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย มองอีกมุมหนึ่งว่า ในภาวะที่เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า และคาดว่า GDP จะโตต่ำกว่า 2% โดยการกระจายวัคซีนไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมาย จึงต้องเร่งในเรื่องของสินเชื่อและการลดภาระหนี้ ขณะที่การลดอัตราเงินนำส่ง FIDF เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของ ธปท.ที่สามารถทำได้ เพราะจะมีผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ปรับลดลง

ทั้งนี้ ธปท.สามารถปรับลด FIDF ในรอบการประชุมนี้ได้ หรืออาจจะรอดูสัญญาณเศรษฐกิจให้ชัดเจนขึ้นและค่อยปรับลด FIDF ก็สามารถทำได้ แต่ต้องยอมรับว่าการส่งผ่านจะเกิดขึ้นในอีก 6 เดือนข้างหน้า หรือไปมีผลต่อเศรษฐกิจปี 2565 มากกว่า ซึ่งอาจจะช้าเกินไป ดังนั้น ควรรีบทำให้เร็วที่สุด เพราะนโยบายการคลัง เม็ดเงินกู้เพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท ทำได้ค่อนข้างน้อย และเตรียมไว้รองรับการระบาดรอบใหม่

ดังนั้น นโยบายการเงินยังจำเป็นต้องเดินต่อ และนโยบายการคลังก็จำเป็นต้องเร่งมากขึ้น ซึ่งจังหวะนี้การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่ใช่คำตอบ จึงคาดว่าการประชุมในวันที่ 23 มิ.ย.นี้ จะยังคงดอกเบี้ยไว้ที่ 0.50% ต่อปี

“ตอนนี้โจทย์เปลี่ยนจากนโยบายการเงิน เป็นนโยบายเฉพาะจุดมากขึ้น โดย ธปท.พยายามคลายเกณฑ์ต่าง ๆ ทำมาตรการที่ไม่ได้เป็นการเหวี่ยงแห แต่การลดภาระหนี้ โดยการลด FIDF อีกครึ่งหนึ่ง เหลือ 0.115% มีโอกาสก็ทำได้” ดร.อมรเทพกล่าว

หลังจากนี้ ต้องติดตามกันต่อไปว่า กนง.จะตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงินในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 อย่างไร ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ที่ยังมีความรุนแรง ยืดเยื้อ ขณะที่การกระจายวัคซีนยังสะดุด ซึ่งอาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยยิ่งฟื้นตัวช้ายิ่งขึ้นไปอีก