หุ้นกลุ่ม ปตท.ส่อกำไร 200% ดีมานด์น้ำมันพุ่ง-สหรัฐขึ้นดอกเบี้ยไม่กระทบ

หุ้นกลุ่ม PTT-หุ้นโออาร์-ปตท.ค้าปลีกฯ

โบรกฯประเมินกำไรกลุ่ม ปตท.ปี’64 พุ่ง 2 แสนล้านบาท โตกว่า 200% ทั่วโลก สร่างไข้ “โควิด-19” หนุนความต้องการใช้น้ำมันดิบทะยาน “บล.กสิกรไทย” ชี้เฟดส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยไม่กระทบ แนะลงทุนหุ้นโรงกลั่น-ขายทำกำไรหุ้นปิโตรฯ ด้าน “บล.เอเซีย พลัส” ประเมินราคาน้ำมันค่าเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 50 เหรียญ จับตาโอเปกเพิ่มกำลังการผลิตครึ่งปีหลัง

นายจักรพงศ์ เชวงศรี ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ประมาณการกำไรหุ้นกลุ่ม ปตท.ปี 2564 นี้ จำนวน 6 บริษัทประกอบด้วย บมจ.ปตท. (PTT), บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP), บมจ.ไทยออยล์ (TOP), บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC), บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) และ บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (OR) จะมีกำไรรวมอยู่ที่ 2.02 แสนล้านบาท เติบโต 235% เทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า

“ปี 2563 ธุรกิจได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวร่วงแรง และได้รับผลกระทบโควิด-19 มีการล็อกดาวน์ประเทศ ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันดิบปรับตัวลดลง กดดันกำไรลดลงเหลืออยู่แค่ 60,500 ล้านบาท ขาดทุนจากสต๊อกสินค้าที่บริษัทมีอยู่ (inventory loss) แต่ปีนี้กลายมาเป็นกำไร (inventory gain) ประกอบกับกำไรหลักเริ่มปรับตัวดีขึ้นด้วย” นายจักรพงศ์กล่าว

อย่างไรก็ดี ในช่วงไตรมาส 2/2564 คาดว่ากำไรหุ้นกลุ่ม ปตท.จะปรับตัวลดลงจากไตรมาส 1/2564 สาเหตุหลักมาจาก inventory gain ปรับตัวลดลงค่อนข้างมากจากไตรมาสแรกที่ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 15 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ในขณะที่ไตรมาส 2 ปรับตัวขึ้นน้อยกว่า แต่ก็ยังอยู่ในขาขึ้น โดยมีเพียง PTTGC ที่กำไรปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรก นอกนั้นถูกกดดันจาก inventory gain ทำให้กำไรปรับตัวลดลง แต่กำไรกลุ่มยังถือว่าค่อนข้างดี เพราะยังมี inventory gain ประกอบกับส่วนต่างผลิตภัณฑ์ (spread) อยู่ในระดับสูง และค่าการกลั่นปรับตัวดีขึ้น ยังอยู่ใกล้เคียงจุดคุ้มทุน

“ถ้าพิจารณากำไรหลัก เด่นสุดในกลุ่มจะเป็น PTTEP และ PTTGC แต่ถ้าเป็นกำไรสุทธิเติบโตเด่นสุด คือ PTTGC จากปัจจัย spread ที่ทำจุดพีกในเดือน เม.ย. ส่วนกำไรต่ำสุด คือ กลุ่มโรงกลั่น แต่แนวโน้มจะค่อย ๆ ดีขึ้นจากที่ยุโรปและอเมริกาดำเนินการฉีดวัคซีนไปมาก ส่งผลให้ดีมานด์การใช้น้ำมันดิบกลับมาสูงเหมือนช่วงก่อนเกิดโควิดแล้ว ส่วนฝั่งเอเชียและไทยคาดว่าจะทยอยฉีดวัคซีน และกว่าดีมานด์การใช้น้ำมันดิบจะกลับขึ้นไปสูงเท่าก่อนโควิดได้ คงเป็นต้นปี 2565 ดังนั้น ภาพดีมานด์การใช้น้ำมันจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นเรื่อย ๆ”

ทั้งนี้ ธุรกิจปิโตรเคมี spread ทำจุดพีกไปแล้วในไตรมาส 2 เพราะฉะนั้น จังหวะในการลงทุนต้องโฟกัสหุ้นที่กำลังจะปรับตัวขึ้นอย่างหุ้นโรงกลั่น ส่วนรอบนี้ถ้าหุ้นปิโตรฯราคาหุ้นปรับตัวขึ้นจะเป็นจังหวะขายทำกำไร

นายจักรพงศ์กล่าวอีกว่า ปีนี้ประเมินราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 65 เหรียญต่อบาร์เรล และปีหน้าจะปรับตัวขึ้นมาอยู่บริเวณ 68 เหรียญต่อบาร์เรล โดยความกังวลต่อหุ้นพลังงานอยู่ที่กรณีอิหร่านจะกลับมาปฏิบัติตามข้อตกลงนิวเคลียร์หรือไม่ ถ้าหากตกลงกันได้ตลาดน้ำมันโลกพร้อมที่จะมีซัพพลายออกมาอีก 1.3 ล้านบาร์เรล ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นช่วงปลายปี 2564 จึงอาจจะทำให้ราคาน้ำมันดิบจากปัจจุบันที่ปรับตัวขึ้นมาบริเวณ 75 เหรียญจะปรับตัวลงมาได้ ซึ่งเป็นความเสี่ยงกดดันกลุ่มพลังงาน

“ช่วงนี้เซนติเมนต์ตลาดคงได้รับผลกระทบจากการที่ตลาดโลกกังวลว่าดอกเบี้ยจะขึ้น แต่แนวโน้มโดยรวมยังเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ โดยกรอบราคาน้ำมันปีนี้ถึงปีหน้าอยู่บริเวณ 65-73 เหรียญ ซึ่งปัจจุบันราคาน้ำมันยังอยู่ในกรอบ วิ่งอยู่ช่วงขาบน 72-73 เหรียญ”

นางสาวนลินรัตน์ กิตติกำพลรัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า ภาพสั้น ๆ ช่วงไตรมาส 2/2564 คาดการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจะดีต่อหุ้น PTTEP ที่จะเห็นราคาขายปรับตัวเพิ่มขึ้น ดังนั้น กำไรจากการดำเนินงานปกติน่าจะเห็นการปรับตัวที่ดีขึ้นเมื่อเทียบไตรมาส 1/2564 ขณะเดียวกัน หุ้นโรงกลั่นจะเห็นกำไรจากสต๊อกน้ำมันต่อเนื่องจากไตรมาส 1/2564 ส่วนค่าการกลั่นดีขึ้นเล็กน้อย แต่ไม่มีนัยเมื่อเทียบไตรมาส 1/2564

ส่วน spread ธุรกิจปิโตรฯถ้าดูราคา spot ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2564 เกือบทุกสายการผลิต แต่กำไรอาจจะไม่ลดลงเพราะรับรู้ราคาส่วนต่างที่ดีสุดช่วง เม.ย. สำหรับไตรมาส 2 นี้อาจจะทำให้กำไรไม่ลดลงมาก น่าจะยังแข็งแกร่งอยู่

“ช่วงไตรมาส 3/2564 อัพไซด์จากราคาน้ำมันจำกัด spread ปิโตรฯจะมีซัพพลายใหม่เข้ามามาก ก็น่าจะเห็น spread ที่ซอฟต์ลงอีก ประกอบกับเป็นช่วงโลว์ซีซั่นด้วยกำไรอาจจะดรอปตัวลงอีกเมื่อเทียบไตรมาส 2/2564 ทั้งนี้ ประเมินราคาน้ำมันค่าเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 50 เหรียญ มองครึ่งหลังน่าจะซอฟต์กว่าครึ่งปีแรก เพราะถูกควบคุมโดยกลุ่มโอเปก ซึ่งหากโอเปกทยอยเพิ่มกำลังการผลิตน่าจะเห็นราคาที่อ่อนตัวลง” นางสาวนลินรัตน์กล่าว