กรุงไทย ชี้เงินบาทขยับอ่อนค่าแตะ 32 บาทต่อดอลลาร์ ตามเงินไหลออก

เงินบาท

แบงก์ประเมินเงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่า 31.50-32.00 บาทต่อดอลลาร์ จับตาตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร-อัตราการว่างงานสหรัฐฯ หนุนเงินดอลลาร์แข็งค่า ด้าน “กรุงไทย” ชี้ โอกาสบาทแตะกรอบ 32 บาทต่อดอลลาร์ ประเมินกระแสฟันด์โฟลว์ไหลออกตามการปรับพอร์ตนักลงทุนสถาบัน

วันที่ 27 มิถุนายน 2564 นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า (วันที่ 28 มิถุนายน-2 กรกฎาคม 64) เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.60-32.00 บาทต่อดอลลาร์ โดยปัจจัยที่ต้องติดตามจะเป็นตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ โดยเฉพาะตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่จะมีผลต่อการเคลื่อนไหวของตลาด หากตัวเลขออกมาค่อนข้างดีอยู่ที่ระดับ 6 แสนตำแหน่ง รวมถึงตัวเลขอัตราว่างงานที่ปัจจุบันอยู่ที่ 5.8% หากมีการปรับลดลงเฉลี่ย 0.2% ต่อเดือนภายในสิ้นปี

โดยจากปัจจัยข้างต้นหากตัวเลขออกมาดีกว่าตลาดคาดการณ์ จะสะท้อนภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวได้ดีกว่าประเทศอื่น ซึ่งจะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจส่งสัญญาณปรับดอกเบี้ยและลดปริมาณการเข้าซื้อพันธบัตรผ่านมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ได้เร็วขึ้น ซึ่งจะหนุนค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าได้ ขณะที่เงินบาทจะเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่าได้ และมีโอกาสอ่อนค่าแตะกรอบบนระดับ 32.00 บาทต่อดอลลาร์ได้

ขณะที่ทิศทางกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ยังมีแนวโน้มไหลออก เนื่องจากมีการปรับพอร์ตของนักลงทุนสถาบัน โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมาจะเห็นว่ามียอดขายสุทธิตลาดหุ้นอยู่ที่ 4,500 ล้านบาท และตลาดพันธบัตร (บอนด์) ซื้อสุทธิอยู่ที่ 1,950 ล้านบาท

“เงินบาทสัปดาห์หน้ายังอยู่ในโทนอ่อนค่า แต่จะอ่อนค่าระดับใดต้องดูปัจจัยต่างประเทศ ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญในสหรัฐฯ และปัจจัยโควิด-19 ภายในประเทศ แต่มีโอกาสเห็นที่ระดับ 32 บาทได้ และในสัปดาห์ที่ผ่านมาที่เห็นเงินบาทไม่ได้อ่อนค่าเร็ว มองว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าไปช่วยซัพพอร์ตเพื่อช่วยนำเข้า โดยขายเงินทุนสำรองระหว่างประเทศราว 3.5 พันล้านดอลลาร์ เพื่อไม่ให้อ่อนค่าเร็ว”

Advertisment

นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเคลื่อนไหวในสัปดาห์หน้าอยู่ที่ 31.50-32.00 บาทต่อดอลลาร์ โดยยังคงมีแรงส่งขาขึ้นของค่าเงินดอลลาร์แข็งแกร่งหลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เปิดเผยประมาณการว่าอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าเดิม โดยตลาดสับสนเกี่ยวกับการประเมินของเฟดเรื่องเงินเฟ้อ ซึ่งส่งผลต่อการคาดการณ์จังหวะเวลาที่เฟดจะเริ่มปรับนโยบายกลับสู่ภาวะปกติระยะถัดไป

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญในสัปดาห์หน้า ได้แก่ ดัชนี ISM ภาคการผลิต และการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนมิถุนายนของสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นราว 7 แสนตำแหน่ง ส่วนสถานการณ์โควิด-19 ที่รุนแรงมากขึ้นในกทม.ฉุดรั้งความเชื่อมั่นและกดดันค่าเงินบาทเช่นกัน