โบรกฯ เตือนโควิดสายพันธุ์เดลต้า กลางเดือน ก.ค.ถึงจุดพีก

โควิดไทยถึงจุดพีคกลางเดือน ก.ค.
REUTERS/Jorge Silva

กางแบบจำลองจุดพีก โควิดสายพันธุ์เดลต้า “อินเดีย VS ไทย” กลางเดือน ก.ค. ทุบสถิติ

วันที่ 2 กรกฏาคม 2564 นายฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส เปิดเผยว่า จากการศึกษาสถิติไวรัสโควิดในประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นต้นกำเนิดสายพันธุ์เดลต้าที่ระบาดหนักอยู่ในประเทศไทยขณะนี้ พบว่าในช่วงที่มีการแพร่ระบาดโควิดสายพันธุ์เดลต้า ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ของอินเดียเกิดขึ้นช่วงประมาณวันที่ 13 มี.ค. 64 จำนวนผู้ติดเชื้อตกประมาณกว่า 24,882 รายต่อวัน และใช้ระยะเวลาที่ทรงตัวต่ำขึ้นไปทำจุดพีกรวมกันประมาณ 55 วัน โดยไปแตะระดับจุดสูงสุดที่ 414,188 ราย เพิ่มขึ้นกว่า 15.65 เท่า

นั่นหมายความว่าการแพร่ระบาดโควิดสายพันธุ์เดลต้าในอินเดียใช้เวลาประมาณเกือบ 2 เดือน กว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อจะพีก หลังจากนั้นใช้เวลาประมาณ 51 วัน จากตัวเลขผู้ติดเชื้อที่พีกก็ค่อย ๆ ลดลง ซึ่งส่งผลให้อินเดียผ่านพ้น stage ความกังวลเรื่องโควิดสายพันธุ์เดลต้า และจำนวนผู้ติดเชื้อที่พุ่งขึ้นไปแล้ว

ในขณะที่ถ้ามาลองประเมินการระบาดโควิดสายพันธุ์เดลต้าในประเทศไทย โดยได้ทำแบบจำลองถ้าเกิดการแพร่ระบาดโควิดสายพันธุ์เดลต้าในไทย ซึ่งตอนนั้นเราพบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลต้าในประเทศไทยครั้งแรกวันที่ 21 พ.ค. 64 ตอนนั้นมีจำนวนผู้ติดเชื้อประมาณ 80 ราย ผ่านมาแล้วประมาณเกือบ 1 เดือน ถ้าอิงสมมุติฐานจากการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลต้าในอินเดีย เชื่อว่าการแพร่ระบาดโควิดสายพันธุ์เดลต้า

ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลต้าในประเทศไทยน่าจะไปพีกอีกประมาณ 55 วัน นับจากวันที่ 21 พ.ค. 64 หรือประมาณสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน ก.ค. 64 นี้ และหลังจากผ่านจุดพีกไปแล้วคาดว่าอีกประมาณ 50 วัน หรือประมาณกลางเดือน ก.ย. 64 ผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลต้าในไทยจะค่อย ๆ ลดลง

Advertisment

นอกจากนี้ถ้าอ้างอิงแบบจำลองของ United States University ต่อการระบาดโควิดสายพันธุ์เดลต้าในประเทศไทย มองว่าผู้ติดเชื้อของไทยน่าจะไปทำจุดพีกกลางเดือน ก.ค. 64 ซึ่งเป็นประเด็นที่เราก็อยากให้เกิดขึ้น เพื่อส่งผลให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะค่อย ๆ ลดลง ซึ่งยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม

โดยช่วงนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น ผลกระทบที่ตามมาคือรัฐมีการประกาศล็อกดาวน์ 10 จังหวัด ในทางบวกทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อในอนาคตลดลง แต่ทางลบคือฉุดเศรษฐกิจไทย โดยประเมินเบื้องต้นผลกระทบการล็อกดาวน์ จะกระทบประมาณการจีดีพีที่สำนักเศรษฐกิจส่วนใหญ่ทำไว้ โดยคาดอยู่บริเวณ 1.4-2% ซึ่งผลกระทบส่วนใหญ่ยังไม่ได้รวมในประมาณการ จึงมองเป็นดาวน์ไซต์ที่จะเกิดขึ้น

โดยคาดว่าผลกระทบต่อจีดีพี 1 วันเท่ากับ -0.03% หรือมูลค่าประมาณ -3,373 ล้านบาท 7 วันเท่ากับ -0.22% มูลค่าประมาณ -23,612 ล้านบาท และ 30 วันเท่ากับ -1.52% มูลค่าประมาณ -165,287 ล้านบาท

Advertisment

“เราประเมินจีดีพีไตรมาส 2-3 ของปี 2564 มีโอกาสชะลอตัวลงทั้งไตรมาสก่อนหน้าและเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน จากผลการล็อกดาวน์ และจีดีพีทั้งปียังต้องติดตามว่าการล็อกดาวน์จะยืดเยื้อหรือไม่ แต่ปีนี้เห็นชัดตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปี 64 คือ ภาคส่งออกที่เป็นพระเอก โดยมุมมองธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือ มีการปรับเพิ่มคาดการณ์ตัวเลขส่งออกปีนี้จะเติบโต 17%” นายฐกฤตกล่าว