ปรับพอร์ตรับนโยบาย Fed

คอลัมน์ลงทุนทั่วโลก

ถิรัจฉรีย์ นวกิจไพฑูรย์
บลจ.วรรณ

แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐที่ฟื้นตัวอย่างโดดเด่น พร้อมกับอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น เป็นปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนต่างกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) จะดำเนินนโยบายทางการเงินที่เข้มงวดขึ้นเพื่อชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจ และเป็นปัจจัยที่สร้างความผันผวนให้กับตลาดทุนเป็นระยะ ๆ ในช่วงที่ผ่านมา โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากความคืบหน้าของการเร่งฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ซึ่งครอบคลุมไปแล้วกว่า 45% ของประชากรทั้งหมด การทยอยเปิดเมือง รวมถึงการอัดฉีดมาตรการการคลังขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง

จากผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) รอบเดือน มิ.ย. ที่นักลงทุนทั่วโลกต่างจับตาออกมามีมติเป็นเอกฉันท์ว่า Fed ยังคงดำเนินนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายเช่นเดิม โดยคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0-0.25% และยังคงมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เดือนละ 1.2 แสนล้านดอลลาร์ต่อไป ซึ่งเป็นไปตามที่นักลงทุนส่วนใหญ่คาด

ในระยะสั้น ตลาดบางส่วนเริ่มคลายความกังวลจากการเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อ โดยมองเป็นปัจจัยชั่วคราวจากฐานที่ต่ำเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันจากปีก่อน และมีผลมาจากความต้องการที่อัดอั้นและความตึงตัวด้านอุปทาน โดยเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นจะค่อย ๆ มีผลลดลงและทยอยเข้าสู่ภาวะปกติจากฐานที่สูงขึ้นในระยะข้างหน้า เมื่อดูพัฒนาการของตลาดแรงงานประกอบ พบว่าอัตราการจ้างงานโดยรวมยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ค่อนข้างมากที่ประมาณ 7.6 ล้านตำแหน่ง

ทั้งนี้ เรามองว่าตลาดแรงงานมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่อง และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวมจะมีความชัดเจนมากขึ้น ดังนั้น จึงต้องติดตามความคืบหน้าของตัวเลขเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด หากการเปิดเมืองเป็นไปอย่างต่อเนื่อง มีความเป็นไปได้ที่ตลาดแรงงานจะกลับสู่ปกติเร็วกว่าที่คาดไว้ และอาจส่งผลให้ Fed เริ่มพูดคุยเรื่องการลดการอัดฉีดเงินเข้าระบบ (QE tapering) ในการประชุมในครั้งถัด ๆ ไป โดยเฉพาะการประชุม Jackson Hole Symposium ที่จะจัดขึ้นในช่วงปลายเดือน ส.ค. ก่อนที่จะมีการประชุมของ FOMC ในวันที่ 21-22 ก.ย.นี้ โดยเราคาดว่า Fed จะเริ่มส่งสัญญาณในการทำ QE tapering ช่วงปลายปีนี้ ก่อนจะเริ่มทยอยลดสัดส่วนการเข้าซื้อสินทรัพย์ในปี 2022 เป็นต้นไป

แม้การประชุมในครั้งนี้ Fed เริ่มส่งสัญญาณที่ Hawkish หรือมีแนวโน้มการดำเนินนโยบายแบบตึงตัวมากขึ้น จากมุมมองของคณะกรรมการที่มีต่อแนวโน้มอัตราดอกเบี้ย (dot plot) ที่ชี้ว่าควรจะปรับดอกเบี้ยขึ้น 2 ครั้งในปี 2023 ซึ่งเร็วกว่าเดิมจากที่เคยส่งสัญญาณว่าจะคงดอกเบี้ยไว้จนกว่าจะปี 2024 สะท้อนมุมมองการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐ ที่ดีกว่าคาด แต่ก็สามารถตีความได้ว่า ในภาพรวมนโยบายการเงินยังอยู่ในโซนที่ค่อนข้างผ่อนคลาย โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 0-0.25% ในปี 2022

แนวโน้มการทำ QE tapering ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ (bond yield) 10 ปีมีทิศทางเป็นขาขึ้น (ราคาลดลง) ในระยะข้างหน้า ในทางกลับกันการที่ตลาดการเงินเริ่มมองว่าอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นไม่มาก ความคาดหวังอัตราเงินเฟ้อ (breakeven inflation) จึงเพิ่มด้วยอัตราที่น้อยกว่า bond yield เป็นผลให้อัตราผลตอบแทนที่แท้จริง (real yield) กลับมาเพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยที่อาจกดดันทองคำในระยะข้างหน้า ด้วยปริมาณเงินที่ยังคงมากในระบบ คาดว่าการทำ QE tapering และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่จะตามมานั้น จะไม่กระทบกระเทือนต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ยังเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นในระยะสั้น ๆ เนื่องจากเป็นการเพิ่มต้นทุนทางการเงินซึ่งส่งผลให้มูลค่าหุ้นลดลง

ทั้งนี้ หากมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อาจทำให้เกิดแรงเทขายหุ้นในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ โดยกระแสเงินทุนมีแนวโน้มที่จะไหลกลับไปที่สหรัฐ และทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นโดยเปรียบเทียบซึ่งเป็นปัจจัยลบต่อประเทศที่มีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดกับสหรัฐสูงอย่างกลุ่ม LATAM ขณะที่หุ้นจีนและเวียดนามมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบน้อยกว่า จากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดกับสหรัฐในปัจจุบัน และมีกำลังการอุปโภคบริโภคในประเทศที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง

มองไปข้างหน้า เรามองว่าตลาดหุ้นยังเป็นขาขึ้นรอบใหญ่ แต่จะมีความผันผวนเข้ามามากขึ้น จากข้อมูลสถิติในอดีตพบว่า การหยุดทำ QE ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวลงอยู่ในกรอบประมาณลบ 7-20% โดยจะใช้เวลาเพียง 2-5 เดือนในการฟื้นตัว ประกอบกับแนวโน้มนโยบายการเงินที่เปลี่ยนแปลงมาจากเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งขึ้น

ดังนั้น เรายังแนะนำให้มีลงทุน (stay invested) และยังคงเน้นให้มีการกระจายการลงทุนที่เพียงพอ ความเคลื่อนไหวด้านนโยบายการเงินน่าจะส่งผลให้นักลงทุนหันไปให้น้ำหนักต่อผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนมากกว่าปัจจัยเชิงมหภาค ทำให้หุ้นกลุ่มเติบโต (growth stocks) กลับมีความน่าสนใจเพิ่มขึ้น จากอัตราการเติบโตในแง่ของรายได้และกำไรที่อยู่ในระดับสูง

นักลงทุนจึงควรให้ความสำคัญกับการเลือกลงทุนในบริษัทที่มีศักยภาพในการแข่งขัน และสามารถเติบโตสอดคล้องไปกับโลกอนาคต เพราะบริษัทที่มีพื้นฐานการเติบโตที่แข็งแกร่งจะทนทานต่อช่วงเปลี่ยนผ่านของนโยบายการเงิน รวมถึงความผันผวนในระยะสั้นได้ดีกว่ากลุ่มที่อ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจที่แนวโน้มของรายได้กำไรเริ่มอิ่มตัวในระยะข้างหน้า