แบงก์ชี้เทรดไฟแนนซ์โต 9% รับอานิสงส์ส่งออกครึ่งปีหลังพุ่ง

ส่งออก-ท่าเรือ

แบงก์ชี้อานิสงส์ส่งออกโตหนุนเทรดไฟแนนซ์ขยายตัว เปิดข้อมูล 5 เดือนแรก ยอดสินเชื่อคงค้างทั้งระบบแตะ 5.91 แสนล้านบาท เติบโต 9.3% จากสิ้นปี’63 “กสิกรไทย” ประเมินภาพครึ่งปีหลังส่งออกยังโต หนุนความต้องการใช้สินเชื่อถึงปลายปี เผยกลุ่มสินค้า “เกษตร-อิเล็กทรอนิกส์-ผลิตภัณฑ์เคมี” ยังไปต่อ ฟาก “ซีไอเอ็มบี ไทย” เน้นเจาะท็อป 10 เซ็กเตอร์ โตตามภาวะตลาด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า สินเชื่อหมุนเวียนสำหรับธุรกิจระหว่างนำเข้าและส่งออกของธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ ณ เดือน พ.ค. 2564 มียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 5.91 แสนล้านบาท

คิดเป็นการเติบโตอยู่ที่ 9.3% จากสิ้นปี 2563 ที่ยอดคงค้างอยู่ที่ 5.41 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นเม็ดเงินสินเชื่อเพิ่มขึ้นประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ขณะที่ในปี 2562 หรือก่อนเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ยอดคงค้างสินเชื่ออยู่ที่ 5.84 แสนล้านบาท

นางสาวศิริพร วงศ์ตรีภพ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มูลค่าธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ (trade finance) ของธนาคารกสิกรไทย ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 เพิ่มขึ้นราว 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขการขยายตัวของการนำเข้า-ส่งออกของประเทศ

“ตัวเลขการส่งออกรายเดือนของไทยใน 2 เดือนที่ผ่านมา ตัวเลขสูงมาก โดยเดือน พ.ค.ขยายตัว 41.6% และในเดือนมิ.ย.ขยายตัวถึง 43.8% แต่ก็เกิดจากการเทียบกับฐานที่ต่ำในช่วงปี 2563 ซึ่งความต่างนี้น่าจะลดลงปลายปี เนื่องจากช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ยอดธุรกรรมและกิจกรรมการค้าระหว่างประเทศได้เริ่มกลับมาดีขึ้นแล้ว” นางสาวศิริพรกล่าว

ทั้งนี้ ประเมินว่าแนวโน้มในครึ่งปีหลังของปี 2564 เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวได้ดี ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าในระยะสั้น การส่งออกทั้งปีน่าจะเติบโตประมาณ 11.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากสินค้าเกษตร ผักผลไม้ ผลิตภัณฑ์ยางพารา อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ที่มีความต้องการสูง และกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับปิโตรเคมี น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ที่มีปัจจัยด้านราคาหนุนการเติบโต

และหากปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ค่าระวางเรือที่ปรับตัวสูงคลี่คลายได้ ตัวเลขส่งออกจะเติบโตกว่าที่คาดไว้ ขณะที่การนำเข้าปีนี้น่าจะกลับมาขยายตัวได้ 21.5% จากปี 2563 หดตัวไปมากกว่า -12%

“ธุรกรรมเทรดไฟแนนซ์ของแบงก์ขยายตัวเพิ่มขึ้น ถึงเดือน มิ.ย. มียอดสินเชื่อรวมกว่า 1.8 แสนล้านบาท โดยกลุ่มที่ใช้สินเชื่อหลักยังเป็นอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการเกษตร รองลงมาเป็นกลุ่มโลหะอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์เคมี และคอมเมิร์ซ

ซึ่งลูกค้ามีความต้องการใช้สินเชื่อจนถึงช่วงปลายปี โดยลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่มีสัดส่วนการใช้สินเชื่อราว 75% และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) อยู่ที่ 25% ซึ่งธนาคารฐานะผู้นำด้านเทรดไฟแนนซ์พร้อมสนับสนุนธุรกิจส่งออกและนำเข้าของไทยเต็มที่ เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาวะที่ไม่ปกติ” นางสาวศิริพรกล่าว

นายไพศาล ธรรมโพธิทอง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกรรมการเงิน และเทคโนโลยีและวิทยาการข้อมูล บมจ.ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ปีนี้ธุรกรรมเทรดไฟแนนซ์ของแบงก์เป็นไปตามเป้าหมาย โดยมีอัตราการเติบโตที่ดีสอดคล้องกับตลาด ซึ่งแบงก์เน้นกลยุทธ์โฟกัสกลุ่มธุรกิจนำเข้าและส่งออกที่สอดคล้องกับการเติบโตของภาวะตลาด และได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไม่รุนแรงมากนัก

โดยปีนี้ธุรกิจ 10 อันดับแรกที่แบงก์เน้นปล่อยสินเชื่อ อาทิ กลุ่มปิโตรเคมิคอล พลังงาน น้ำมัน และเกษตร เป็นต้น ปัจจุบันกลุ่มนี้มีปริมาณธุรกรรมราว 70-80% ของปริมาณธุรกรรมทั้งหมด

นายไพศาลกล่าวว่า ในช่วง 6 เดือนแรก ธุรกรรมเทรดไฟแนนซ์ของแบงก์มีอัตราการเติบโตสูงถึง 50% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมียอดปล่อยสินเชื่อเพื่อการส่งออกอยู่ที่ 377 ล้านดอลลาร์ มาจากกลุ่มธุรกิจที่ธนาคารโฟกัสราว 275 ล้านดอลลาร์ ซึ่งปีนี้ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อเพื่อการส่งออกอยู่ที่ 750 ล้านดอลลาร์ จากในปี 2563 ยอดปล่อยสินเชื่ออยู่ที่ 500 ล้านดอลลาร์

ส่วนสินเชื่อเพื่อการนำเข้าในช่วง 6 เดือนแรก ปล่อยไปแล้ว 525 ล้านดอลลาร์คิดเป็นการเติบโต 30% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเป็นกลุ่มลูกค้าธุรกิจที่โฟกัสประมาณ 416 ล้านดอลลาร์ คาดว่าทั้งปีจะสามารถปล่อยสินเชื่อได้ 1,045 ล้านดอลลาร์เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่ธนาคารปล่อยสินเชื่อเพื่อการนำเข้าอยู่ที่ 795 ล้านดอลลาร์

สำหรับแนวโน้มในช่วงที่เหลือของปีนี้จากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งมีความไม่แน่นอน ธนาคารพิจารณาการปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวังตามนโยบายการบริหารความเสี่ยง โดยพิจารณาเซ็กเตอร์ธุรกิจของลูกค้าที่ไม่มีความเสี่ยงในอนาคต และดูความสามารถในการชำระหนี้เป็นต้น ส่วนลูกค้าเดิมจะพยายามกระตุ้นการเบิกใช้วงเงินที่ตั้งไว้ให้มากขึ้น

“ภาพรวมธุรกิจเทรดไฟแนนซ์ยังขยายตัวได้ เราก็พยายามสนับสนุนการเติบโตของลูกค้ารายเล็ก รายกลาง และรายใหญ่ต่อเนื่อง และบริหารความเสี่ยงจากการปล่อยสินเชื่อภายใต้กลยุทธ์แผนของธนาคารที่วางไว้” นายไพศาลกล่าว