ค่าเงินบาทผันผวน ตลาดรอคอยสัญญาณที่ชัดเจนจากเฟด

FX-เงินบาท-ธนบัตร-ดอลลาร์

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 18 สิงหาคม 2564

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (18/8) ที่ระดับ 33.21/22 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งคต่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (17/8) ที่ระดับ 33.23/24 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าเทียบกับสกุลเงินยุโรปและปอนด์ หลังจากที่นักลงทุนยังคงเข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจ รวมทั้งความวุ่นวายทางการเมืองในอัฟกานิสถาน, การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า

ด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยเมื่อคืนนี้ว่า ยอดค้าปลีกเดือนกรกฎาคม ร่วงลง 1.1% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะลดลงเพียง 0.3% หลังจากที่เพิ่มขึ้น 0.7% ในเดือนก่อนหน้า ส่วนทางด้านสมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ (NAHB) ของสหรัฐระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้สร้างบ้านลดลง 5 จุด สู่ระดับ 75 ในเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 โดยมีสาเหตุจากสต๊อกบ้านที่มีจำกัด การขาดแคลนแรงงาน รวมทั้งการพุ่งขึ้นของราคาบ้าน และต้นทุนในการก่อสร้าง ในขณะที่นักลงทุนยังจับตาการประชุมประจำปีของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่เมืองแจ๊กสัน โฮล รัฐไวโอมิง ในวันที่ 26-28 ส.ค.นี้  เพื่อหาสัญญาณที่ชัดเจนเกี่ยวกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของเฟด

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 20,515 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 312 ราย ในขณะที่ประชาชนติดตามการรับมือการแพร่ระบาดโควิด-19 หลังจากที่ ครม.มีมติรับทราบการจัดซื้อวัคซีนไฟเซอร์เพิ่มเติมอีก 140 ล้านโดส โดยเมื่อรวมกับการจัดหาก่อนหน้านี้ 20 ล้านโดส ทำให้ประเทศไทยมีวัคซีนไฟเซอร์ ชนิด mRNA ประมาณ 30 ล้านโดส คาดว่าจะส่งมอบได้พร้อมกันในช่วงไตรมาส 4/2564

ด้านผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่าหลังจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติประกาศ GDP ไตรมาส 2 ขยายตัว 7.5% ดีกว่าที่ ธปท. คาดไว้ที่ 6.6% แต่ ธปท.ยังไม่เปลี่ยนมุมมองเศรษฐกิจใหม่เพราะที่คาดไว้ยังอยู่ใกล้เคียงคาดทั้งปี 2564 GDP ขยายตัว 0.7% แต่ถ้าล็อกดาวน์ไปไตรมาส 4 อาจทบทวนลดลงเพราะแต่ละเดือนเศรษฐกิจถูกกระทบ 0.3-0.4% และยังเชื่อว่าโอกาส GDP ติดลบมีไม่มาก และยังได้แรงสนับสนุนจากการส่งออกจากเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวขึ้น โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวน อยู่ในกรอบระหว่าง 33.15-33.31 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.29/31 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (18/8) ที่ระดับ 1.1711/12 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (17/8) ที่ระดับ 1.1765/67 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรปรับตัวอ่อนค่าจากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยมีแรงเทขายอย่างต่อเนื่อง หลังจากไม่สามารถแข็งค่าทะลุแนวต้านสำคัญที่ระดับ 1.1800 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโรขึ้นไปได้

นอกจากนี้ตัวเลขเศรษฐกิจในกลุ่มยูโรโซนยังเป็นปัจจัยกดันค่าเงินเช่นกันโดยในวันนี้ (18/8) ตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดอัตราเงินเฟ้อ ในเดือนกรกฎาคม ปรับตัวลดลง 0.1% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า เท่ากับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ซึ่งบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อเริ่มปรับตัวลดลง จากผลของการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1710-1.1729 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1715/17 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (18/8) ที่ระดับ 109.51/53 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (17/8) ที่ระดับ 109.29/30 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนปรับตัวอ่อนค่าในคืนที่ผ่านมาจากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ในช่วงเช้าสำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ว่า ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐาน ปรับตัวลดลง 1.5% ในเดือน มิ.ย.เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 4 เดือน

โดยตัวเลขดังกล่าวสะท้อนถึงผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกล่าสุดในวันนี้ (18/8) นายโยชิฮิเดะ ซูงะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นขอให้กลุ่มธุรกิจรายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นให้ความช่วยเหลือในการลดจำนวนผู้เดินทางในระบบขนส่งมลชน โดยหันมาทำงานจากที่บ้านแทน เนื่องจากญี่ปุ่นพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มสูงเหนือความคาดหมายในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ หลังไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า และยังคงทำสถิติต่อเนื่องเป็นวันที่ 6 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.48-109.67 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 109.64/66 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคของสหภาพยุโรป ประจำเดือนกรกฎาคม (18/8), รายงานจำนวนใบอนุญาตก่อสร้างของสหรัฐ ประจำเดือนกรกฎาคม (18/8), จำนวนผู้ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐประจำเดือนสิงหาคม (19/8) ประจำเดือนสิงหาคม (19/8), ดัชนีคาดการณ์ผลิตของสหรัฐจากธนาคารกลางรัฐฟิลาเดลเฟีย ประจำเดือนสิงหาคม (16/8), ดัชนียอดขายปลีกของสหราชอาณาจักร ประจำเดือนกรกฎาคม (20/8) และดัชนีผู้ผลิตของเยอรมัน ประจำเดือนกรกฎาคม (20/8

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.40/+0.60 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +2.30/+3.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ