“แบงก์” ออกตราสารเพิ่มเงินกองทุน-ตุนสำรอง ครบไถ่ถอนปีนี้ 2 หมื่นล้าน

“สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย” เผยปีนี้มีตราสารทางการเงินที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 (Tier 2) ของบรรดาธนาคารพาณิชย์ ครบไถ่ถอนปีที่ 5 จำนวน 4 แบงก์ “BAY-KBANK-KKP-TISCO” มูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท

วันที่ 24 สิงหาคม 2564 นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปี 2564 ธนาคารพาณิชย์ (BANK) แม้ระดับฐานะเงินกองทุนจะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง มีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) มากกว่า 20% แต่เริ่มเห็นสัญญาณแบงก์มีการออกตราสารทางการเงินที่สามารถนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Tier 1) ในต่างประเทศกันมาก

โดยปีนี้มีธนาคารที่ออกตราสาร Tier 1 ไปแล้ว 2 แห่งคือธนาคารกรุงไทย (KTB) วงเงิน 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และธนาคารกสิกรไทย(KBANK) วงเงิน 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่ตราสารทางการเงินที่สามารถนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 (Tier 2) ซึ่งส่วนใหญ่จะออกในประเทศไทย โดยเมื่อประมาณ 4-5 ปีก่อนได้ออกกันไปค่อนข้างมาก ซึ่งโดยตราสารประเภทนี้จะมีอายุประมาณ 10 ปี แต่ส่วนใหญ่แบงก์จะไถ่ถอน (call) ก่อนครบกำหนดประมาณปีที่ 5 ซึ่งด้วยอัตราดอกเบี้ยในตลาดที่ถือว่าอยู่ในระดับต่ำกว่ามากเป็นแรงจูงใจให้ไถ่ถอนก่อนครบกำหนด

โดยปีนี้ตราสาร Tier 2 มีมูลค่าครบไถ่ถอนปีที่ 5 อยู่ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย

1.ธนาคารกรุงศรีฯ 1 หมื่นล้านบาท 2.ธนาคารกสิกรไทย 4.5 พันล้านบาท 3.ธนาคารเกียรตินาคินภัทร 3 พันล้านบาท และ 4.ธนาคารทิสโก้ 680 ล้านบาท

ซึ่งปัจจุบันทางธนาคารเกียรตินาคินภัทรและธนาคารทิสโก้ได้ไถ่ถอนและออกใหม่ไปแล้ว เชื่อว่าอีก 2 แบงก์ที่เหลือคงจะไถ่ถอนและออกใหม่เหมือนกัน โดยธนาคารกรุงศรีฯ จะครบกำหนดช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย.นี้

“แบงก์คงเตรียมการสำรองเงินกองทุนเอาไว้เพื่อความระมัดระวังในภาวะหนี้เสีย (NPLs) ที่ตอนนี้แม้จะยังควบคุมได้จากมาตรการช่วยเหลือของแบงก์ชาติ แต่ในอนาคตเอ็นพีแอลคงมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น ขณะเดียวกันใช้รองรับการขยายธุรกิจในอนาคตด้วย เพราะช่วงนี้ต้นทุนดอกเบี้ยไม่สูง” นางสาวอริยากล่าว