อาคมกล่อมนักลงทุนต่างชาติ รัฐบาลเตรียมกระตุ้นเศรษฐกิจปีหน้า ดันจีดีพีโต 4-5%

รมว.คลังแจงนักลงทุนต่างชาติรัฐบาลเตรียมกระตุ้นเศรษฐกิจเต็มที่ในปีหน้า ตั้งเป้าดันจีดีพีโต 4-5% ยันฐานะการเงินการคลังแกร่ง ลั่นพร้อมขยายเพดานกู้เพิ่มหากจำเป็น ชูยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน 6 ด้านหลังโควิด

วันที่ 25 สิงหาคม 2564 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปาฐกถาพิเศษ “สร้างความพร้อมประเทศไทย สู่โอกาสทางเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด-19” ในงาน Thailand Focus 2021 : Thriving in the Next Normal จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ขณะนี้อยู่ในห้วงเวลาที่ประเทศไทยยังคงเดินหน้าแก้ไขปัญหาการระบาดของโควิด-19 และเตรียมการณ์เพื่อให้แน่ใจว่าประเทศไทยจะมีความพร้อมเพื่อที่จะก้าวสู่ความรุ่งโรจน์ในโลกยุคหลังโควิด

ทั้งนี้ เศรษฐกิจของไทยนั้นได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งเมื่อปีที่แล้ว ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการควบคุมการระบาด อย่างไรก็ตาม เมื่อสายพันธุ์เดลต้าที่สามารถระบาดได้รวดเร็วมาถึงก็ทำให้การควบคุมเป็นไปได้ลำบากขึ้น ส่งผลให้มีการติดต่อกันไปเป็นวงกว้างในระยะเวลาอันสั้น

โดยรัฐบาลได้จัดสรรทรัพยากรที่มีเพื่ออยู่สนับสนุนระบบสาธารณสุขและผู้ปฏิบัติงานอย่างรวดเร็ว รวมทั้งนำเอามาตรการควบคุมต่าง ๆ กลับมาใช้อีกเพื่อป้องกันมิให้อัตราระบาด และอัตราการเสียชีวิตพุ่งขึ้นสูง และก็เป็นดังที่คาดการณ์ไว้ มาตรการควบคุมการระบาดทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการเคลื่อนย้ายเดินทางของประชาชนลดน้อยลงไป ซึ่งทำให้การฟื้นตัวและอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของปี 2564 ชะงักงัน

“ด้วยเหตุดังนี้ กระทรวงการคลังได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2564 ลงเหลือ 1.3% จากผลพวงของการระบาดระลอกล่าสุด ซึ่งเริ่มต้นในช่วงท้ายของไตรมาสสองในปีนี้ การปรับลดนี้สืบเนื่องมาจากผลกระทบที่เกิดกับภาคการท่องเที่ยว และการลดลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้จ่ายภายในประเทศที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการระบาดของโควิด-19” นายอาคมกล่าว

อย่างไรก็ตาม โครงการต่าง ๆ ของรัฐบาลที่ออกมาเพื่อช่วยลดภาระของประชาชน อย่างเช่น โครงการคนละครึ่ง หรือโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ได้ช่วยประคองสถานการณ์ของการบริโภคภายในประเทศเอาไว้ ซึ่งรัฐบาลก็จะดำเนินโครงการต่าง ๆ เหล่านี้ต่อเนื่องไป เพราะมีความสำคัญต่อสถานการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต

ส่งออกโตเด่นหนุนลงทุนเอกชนฟื้น

ในทางตรงกันข้าม การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ารายใหญ่ของไทย ส่งผลให้เกิดความต้องการสินค้าส่งออกของไทยมากขึ้น ซึ่งคาดว่าการส่งออกของสินค้าประเภทต่าง ๆ จะกลายมาเป็นปัจจัยหลักกระตุ้นเศรษฐกิจไทยภายในสิ้นปีนี้ ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 มูลค่าการส่งออกขยายตัวเกือบ 16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว และการส่งออกของเดือนมิถุนายนก็ขยายตัวอย่างแข็งแกร่งถึง 44% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว อันเป็นการขยายตัวสูงที่สุดในรอบ 11 ปี

นอกจากนี้ ยังเห็นการขยายตัวในด้านการลงทุนภาคเอกชนในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ซึ่งสะท้อนจากตัวเลขการนำเข้าสินค้าทุนที่เพิ่มขึ้น 14.5% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตถึง 7.5% ในไตรมาสสองของปีนี้ แต่สภาพการณ์ทั่วไปของเศรษฐกิจก็ยังคงไม่แข็งแกร่งนัก โดยที่อัตราการเติบโตเทียบระหว่างสองไตรมาสนับตั้งแต่ต้นปีนี้มาอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 1% การระบาดระลอกที่ 2 และ 3 ส่งผลให้การฟื้นตัวอาจจะใช้เวลานานกว่าที่คาดไว้ ทำให้หน่วยงานที่สำคัญต่าง ๆ ในประเทศพากันปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจลง อย่างเช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย ปรับลดคาดการณ์ลงมาอยู่ที่ 0.7% สำหรับปีนี้ และ 3.7% สำหรับการฟื้นตัวในปี 2565 ขณะที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติปรับลดคาดการณ์ปีนี้ลงมาอยู่ที่ 0.7-1.2% จากเดิม 1.5-2.5%

ลุยกระตุ้นเศรษฐกิจปีหน้าโต 4-5%

นายอาคมกล่าวว่า สำหรับปี 2565 รัฐบาลจะทุ่มสรรพกำลังและทรัพยากรเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยใช้โมเดลภูเก็ตแซนด์บอกซ์และสมุยพลัส ที่ตอนนี้ขยายไปครอบคลุมนักท่องเที่ยวจากจังหวัดอื่น ๆ ในภาคใต้ของไทย ซึ่งการระบาดที่ลดลงจะทำให้รัฐบาลสามารถหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ 4.0-5.0% ได้ในปี 2565

โดยในช่วงต่อไปนโยบายของรัฐบาลจะมุ่งส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งหากต่อไปมีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะ คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลัง ซึ่งตั้งขึ้นมาภายใต้พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ ก็สามารถที่จะทบทวนเพื่อที่จะยกระดับเพดานดังกล่าวได้

“ผมอยากจะใช้โอกาสนี้ชี้ว่าสถานภาพทางด้านการเงินของไทยนั้นยังคงแข็งแกร่ง แม้ว่ารัฐบาลจะมีโครงการกู้ยืมเป็นจำนวนเงินที่สูง แต่สัดส่วนของหนี้ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) นั้นยังคงอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ โดยอยู่ที่ 56.1% และกระทรวงการคลังก็คาดหมายว่าสัดส่วนหนี้ต่อ GDP นี้จะอยู่ต่ำกว่า 60% ในปลายปีงบประมาณนี้ อันเป็นผลมาจากการดำเนินนโยบายการคลังที่มีประสิทธิภาพ และการมีวินัยการคลังอันเข้มงวด” นายอาคมกล่าว

เตรียมการเปิดเศรษฐกิจ

นายอาคมกล่าวอีกว่า ในขณะที่ยังคงต่อสู้อยู่กับการระบาดของโควิด-19 รัฐบาลก็ได้เตรียมการเพื่อจะเปิดเศรษฐกิจอีกครั้ง ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยกลับมามีความก้าวหน้าอีกครั้งเมื่อการระบาดนี้จบลง และโควิด-19 ก็ไม่ได้ทำให้เปลี่ยนเป้าหมายไปแต่อย่างใด แท้จริงแล้ว ทำให้มุ่งมั่นมากขึ้นเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงการเติบโตอย่างยั่งยืน แต่หมายรวมไปถึงการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย

กาง 6 ยุทธศาสตร์วางรากฐานประเทศ

โดยยุทธศาสตร์ที่ประเทศไทยได้วางไว้เพื่อเป็นรากฐานแห่งการเติบโตในระยะยาวของประเทศ ได้แก่
ประการแรก แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมโดยการสนับสนุนให้ทุกคนสามารถเข้าถึงโอกาสโดยถ้วนหน้า

ประการที่สอง ความต่อเนื่องของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน จากที่ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ลงทุนในสาธารณูปโภคพื้นฐานหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ถนน, ทางรถไฟ, การบิน และพลังงาน

ประการที่สาม ลดภาวะเรือนกระจกและหาวิธีแก้ไขปัญหาภาวะภูมิอากาศแปรปรวน รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายที่จะการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุดจนให้อาจถึงระดับเป็น 0 ภายในปี พ.ศ. 2608 ซึ่งประเทศไทยก็ได้กำหนดแผนการดำเนินงานต่าง ๆ เพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย อย่างเช่น ส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า, พลังงานทางเลือก, เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy), ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในอุตสาหกรรม รวมทั้งการปลูกป่าให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง การสนับสนุนทางด้านการเงินแก่อุตสาหกรรมสีเขียวในรูปแบบของพันธบัตรเพื่อการพัฒนายั่งยืน

ประการที่สี่ สร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการแข่งขัน เช่น อุตสาหกรรมอาหาร ทั้งในแง่การพัฒนานวัตกรรมและกระบวนการการผลิต, การเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์, การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ และการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

ประการที่ห้า ส่งเสริมอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ประเทศไทยควรจะปรับโครงสร้างและสนับสนุนอุตสาหกรรมใหม่ที่ตอบสนองกับความต้องการของประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกได้ การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย 13 ชนิดจะทำให้ผลผลิตแห่งชาติและรายได้ของประชาชนเพิ่มขึ้น ประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะศูนย์กลางข้อมูลและดิจิทัล, อุตสาหกรรมเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ที่มีความฉลาด, และเทคโนโลยีชีวภาพ

ประการที่หก สร้างความเข้มแข็งและความสามารถการแข็งขันสำหรับธุรกิจรายย่อย (MSMEs) ภาคธุรกิจรายย่อยนั้นมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของเรา เพราะคิดเป็นร้อยละ 42 ของมูลค่า GDP ทั้งหมด รัฐบาลกำลังเดินหน้าส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ เปิดโอกาสให้เข้าถึงเม็ดเงินลงทุนได้ และสร้างโอกาสที่เข้าร่วมในการจัดซื้อของภาครัฐ