หุ้นไทยแกว่งตัวแคบ หวังคลายล็อกระยะ 2-กังวลเดลต้าระบาดสหรัฐกดดัน

ตลาดหุ้นไทย-SET

ตลาดหุ้นไทยแกว่งตัวในกรอบ 1,630-1,650 จุด ไร้ปัจจัยหนุนใหม่ แม้มีความหวังลุ้นคลายล็อกระยะที่ 2 แต่นักลงทุนกังวลโควิดสายพันธุ์เดลต้าระบาดในสหรัฐฉุดจีดีพีไตรมาส 4 กดดันฟันด์โฟลว์ไหลออกสินทรัพย์เสี่ยง จับตาประชุม ECB เย็นนี้ คาดคงดอกเบี้ย

วันที่ 9 กันยายน 2564 บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) รายงานภาวะตลาดหุ้นไทยวันนี้ว่า คาดดัชนี SET Index เช้านี้จะยังคงแกว่งตัวออกข้างในกรอบระหว่าง 1,630-1,650 จุด ท่ามกลางการไร้ปัจจัยหนุนใหม่ แม้มีความหวังเรื่องการคลายมาตรการคุมเข้มระยะที่ 2 ที่ทาง ศบค. จะมีการพิจารณาในวันพรุ่งนี้

แต่แรงกดดันจากปัจจัยภายนอกจะทำให้ตลาดขยับไปไม่ได้ไกล โดยเฉพาะความกังวลการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าที่ยังคงกดดันตลาดหุ้นสหรัฐ และเริ่มส่งสัญญาณเชิงลบต่อคาดการณ์เศรษฐกิจในไตรมาส 4

จึงต้องจับตาการเคลื่อนย้ายเงินทุนต่างชาติ (Fund Flow) จากสินทรัพย์เสี่ยง แม้วานนี้ต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทยอีกครั้งกว่า 3.3 พันล้านบาท (ไม่นับ Big Lot ของ LHFG-F 4.2 พันล้านบาท) แต่ทิศทางของค่าเงินบาทยังทรงตัวด้านอ่อนค่า

ส่วนช่วงเย็นติตตามการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ว่าจะเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงินตามธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) หรือไม่

กลยุทธ์การลงทุน แม้ว่าเริ่มเห็นแรงขายทำกำไรในหุ้นกลุ่มเปิดเมือง แต่คาดว่าธีมนี้จะยังเล่นได้ต่อไปหากเปิดเมืองสำเร็จ ทางฝ่ายวิจัยแนะนำ “ซื้อสะสม” เมื่อราคาย่อตัวหรือ Laggard เทียบกับกลุ่ม ส่วนหุ้นที่มีปัจจัยเฉพาะตัวอย่าง “เงินบาทอ่อนค่า” ควรเก็งกำไรระยะสั้นจบในรอบการประชุม ECB

ทางฝ่ายวิจัยมีมุมมองคาดว่าทาง ECB จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ตามเดิม แต่ที่ต้องจับตาคือมาตรการ QE ผ่านโครงการ PEPP ที่เดิมคาดจะสิ้นสุดในเดือน มี.ค.65 ทั้งนี้เชื่อว่า ECB น่าจะยังไม่ประกาศทำ QE Tapering ก่อนกำหนดแม้ตัวเลขเงินเฟ้อเดือน ส.ค.64 จะออกมาสูงกว่าคาดการณ์ก็ตาม เนื่องจากอาจต้องใช้เวลาในการพิจารณาว่าเป็นการเร่งตัวขึ้นแบบชั่วคราวเท่านั้นหรือไม่ ร่ามกับการประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป

ดังนั้นน่าจะจับสัญญาณจากถ้อยแถลงของนางคริสติน ลาการ์ด ประธาน ECB เกี่ยวกับมุมมองเศรษฐกิจของยูโรโซนในช่วงที่เหลือของปีนี้ เพื่อสะท้อนถึงสัญญาณการทำ QE Tapering ของโครงการ PEPP ว่าจะเร็วกว่ากำหนดตามสัญญาณการทำ QE Tapering ของ Fed ในช่วงสิ้นปีนี้หรือไม่

ขณะที่วานนี้ ศบค. เผยคนไทยได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้วกว่า 26 ล้านคน เกิน 50% ของเป้าหมายการฉีด 50 ล้านคนในปีนี้ โดยมีกรุงเทพฯ ที่สัดส่วนการฉีดวัคซีนสูงสุดถึง 94% ของประชากร (ครบ 2 โดส 33%) และวัคซีนส่วนใหญ่เป็นของ AstraZeneca ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อเฉลี่ย 7 วันที่ผ่านมาต่ำกว่า 4,000 ราย เป็นสัญญาณบวกถึงแนวโน้มการระบาดลดลง ทำให้กรุงเทพฯ มีโอกาสเปิดเมืองท่องเที่ยวได้ตั้งแต่ ต.ค.64 เป็นต้นไป

จึงคาดว่าการคลายมาตรการคุมเข้มระยะที่ 2 และ 3 น่าจะทำได้ตามเป้า แม้ว่าหลังจากนี้ผู้ติดเชื้อในประเทศอาจเร่งตัวอีกครั้ง แต่หากไม่เกินขีดจำกัดสาธารณสุขไทยอาจไม่ถึงขั้นที่จะต้องกลับไปใช้มาตรการ Lockdown อีกครั้ง