คลังเปิดช่องกู้เพิ่ม 1.2 ล้านล้านบาท ยันไม่กระทบแผนชำระหนี้

รมว.คลังเผยปรับเพดานหนี้ 70% เพิ่มพื้นที่ทางการคลัง ก่อหนี้ได้อีก 1.2 ล้านล้านบาท ยันไม่กระทบแผนชำระหนี้ ชี้ปีงบ’65 มีเม็ดเงิน พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท เหลือ 3.6 แสนล้านบาท ดูแลเศรษฐกิจปีหน้า เล็งเพิ่มรายได้ใหม่ “ดึงดูการลงทุน-BOI”

ปรับเพดานหนี้ 70% เพิ่มพื้นที่การคลังก่อหนี้ได้อีก 1.2 ล้านล้านบาท

วันที่ 21 กันยายน 2564 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ มีมติเห็นชอบให้มีการปรับกรอบสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) จากเดิมที่กำหนดไว้ ต้องไม่เกิน 60% เป็นต้องไม่เกิน 70% นั้น เป็นการเพิ่มพื้นที่ทางการคลังอีก 10% ช่วยให้รัฐสามารถก่อหนี้ได้เพิ่มขึ้นประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ดี ไม่ได้หมายความว่ารัฐจะต้องกู้เพิ่มทั้งหมด จะพิจารณาใช้เงินตามความจำเป็นเท่านั้น

ซึ่งรัฐบาลยังมีเงินกู้ จาก พ.ร.ก.เงินกู้เพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท ซึ่งมีการวางกรอบวงเงินสำหรับใช้ในการแก้ปัญหาและเยียวยาผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปี 2564 ไว้ที่ 1.4 แสนล้านบาท ซึ่งล่าสุดได้ทำการกู้เงินไปแล้ว 1.2 แสนล้านบาท ขณะที่วงเงินอีก 3.6 แสนล้านบาท จะถูกนำไปใช้ในปีงบประมาณ 2565 ดังนั้น กรณีโควิดแพร่ระบาดยืดเยื้อ หรือเศรษฐกิจฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ และจะเป็นต้องใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ก็จะมาพิจารณาถึงความจำเป็นในการกู้เงินอีกครั้ง

“การกู้เงินตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ทำให้หนี้สาธารณะในปี 2564 กระโดดขึ้นมาและใกล้เคียง 60% โดยคาดการณ์ว่า ณ ก.ย. 64 หนี้สาธารณะจะอยู่ที่ 58.96% ซึ่งตามปีงบประมาณถือว่ายังต่ำกว่าเป้าที่กำหนดไว้ที่ 60% แต่หากมีการกู้เงินจาก พ.ร.ก. อีก 3 แสนกว่าล้านบาทในปี 65 ก็จะทำให้หลุดกรอบที่ตั้งไว้ ดังนั้นจึงต้องขยับเพดานเพื่อเพิ่มพื้นที่ทางการคลัง” นายอาคมกล่าว

ยันไม่กระทบแผนชำระหนี้ ชี้ปีงบ’65 ตั้งกรอบไว้ 3.2%

อย่างไรก็ดี การขยายกรอบเพดานหนี้ไม่มีผลต่อการชำระหนี้สาธารณะของประเทศ โดยกระทรวงการคลังมีวินัยการชำระหนี้ 4 ด้าน ได้แก่ 1.ขยายเพดานหนี้สาธารณะจากเดิมต้องไม่เกิน 60% เป็น 70% 2.ความสามารถในการชำระหนี้ต่อจีดีพี และภาระหนี้ของรัฐต้องน้อยกว่า 35% โดยปัจจุบันอยู่ที่ 31.76% ซึ่งยังมีพื้นที่ทางการคลัง 3.หนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศ ต้องน้อยกว่า 10% โดยขณะนี้อยู่ที่ 1.67% ซึ่งถือว่าต่ำมากเนื่องจากระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาไม่ได้กู้เงินจากต่างประเทศ และ 4.หนี้เงินตราต่างประเทศต่อภาคการส่งสินค้าและบริการ น้อยกว่า 5% ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 0.6%

ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ได้กำหนดให้สำนักงบประมาณต้องจัดสรรงบรายจ่ายประจำปีในสัดส่วน 2.5%-4% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งในปีงบประมาณ 65 ได้จัดสรรงบสำหรับชำระคืนต้นเงินกู้ที่ 3.2% หรือ 1 แสนล้านบาทไว้แล้ว และจัดสรรเพิ่มเติมอีก 2 แสนล้านบาทสำหรับชำระดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น โดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะจะมีการบริหารโครงสร้างหนี้ของรัฐอย่างใกล้ชิด เพื่อลดภาระในเรื่องของต้นทุนการกู้เงิน เช่น เงินกู้ก้อนไหนที่มีดอกเบี้ยสูง ก็จะใช้วิธีออกพันธบัตรเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ ซึ่งเป็นการบริหารหนี้ให้มีความเหมาะสม

เล็งเพิ่มรายได้ใหม่ “ดึงดูดลงทุนอีอีซี-BOI”

พร้อมกันนี้ การเปิดกรอบเพดานหนี้เพิ่มขึ้นเป็น 70% ไม่ได้หมายความว่าจะต้องกู้เพิ่มทั้งหมด ซึ่งหากเศรษฐกิจขยายตัว โดยยอมรับว่าปี 2563 เศรษฐกิจลบ และในปี 2564 สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (ส.ศ.ค.) ยังประมาณการอยู่ที่ 1.3% และแม้ศูนย์วิจัยหลายแห่งจะประเมินว่าอาจจะติดลบ แต่หากมีการเปิดประเทศก็จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัว ก็จะเป็นส่วนที่เข้าไปเป็นฐานของเพดานหนี้ด้วย

นอกจากนี้ ยังมีนโยบายการเพิ่มรายได้ใหม่ ที่เกิดจากการดึงดูดการลงทุนในอีอีซี รวมถึงรายได้ที่ได้จากการส่งเสริมการดึงดูดการลงทุน จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) รวมทั้งอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยรายได้ใหม่จะเป็นส่วนหนึ่งที่เข้ามาเพิ่มกำลังการผลิต ซึ่งจะทำให้รายได้จีดีพีเพิ่ม ซึ่งจะกลับมาเป็นเม็ดเงินภาษีเข้ารายได้รัฐต่อไป

ย้ำหนี้สาธารณะไทยยังต่ำ ชี้หนี้ที่รัฐก่อเพียง 51.4%

นายอาคมกล่าวว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก ก็คาดว่า 2 ปี ทั่วโลกจะมีการกู้เงินเพื่อดูแลฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยเรื่องการปรับเพดานหนี้สาธารณะนั้น ที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกาได้มีการปรับเพดานหนี้มากกว่า 80 ครั้ง ขณะที่มาเลเซียก็ได้ขยายเพดานหนี้จาก 60% เป็น 65% ซึ่งเป็นหนี้ของรัฐบาลทั้งหมด หากเทียบกับประเทศไทยถือว่าหนี้สาธารณะยังไม่ได้สูงมาก เมื่อคำนวณจาก IMF หนี้ที่รัฐบาลก่ออยู่ที่ระดับ 51.4%

พร้อมกันนี้ ในอดีตที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2545 กรอบเพดานหนี้สาธารณะ อยู่ที่ 65% โดยตัวเลขหนี้สาธารณะขณะนั้นอยู่ที่ระดับ 54% โดยยังไม่มีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานด้วย และเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้นก็ปรับลดลงกรอบเพดานหนี้ลงมาที่ระดับ 60% ตั้งแต่ปี 2552 แต่ในช่วงนั้นมีการลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเข้ามาด้วย เช่น พลังงาน และคมนาคม ซึ่งไม่ได้เป็นการกู้เพื่อการบริโภคแต่อย่างใด

ขณะที่ปี 2562 หนี้สาธารณะอยู่ที่ระดับ 41% แต่เมื่อปี 2563 เมื่อสถานการณ์โควิด รัฐจำเป็นต้องออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ส่งผลให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเป็น 49% และยังมีโควิดระลอก 3 ในปี 2564 จึงได้มีการออก พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท ซึ่งคาดว่าสิ้นเดือน ก.ย. 2564 หนี้สาธารณะของไทยจะอยู่ที่ 58.96% โดยเป็นผลมาจากการออกมาตรการเยียวยาประชาชน เช่น มาตรการเราไม่ทิ้งกัน คนละครึ่ง เป็นต้น โดยการขยายกรอบเพดานหนี้ เป็นการเพิ่มพื้นที่รองรับความต้องการใช้เงินในปีงบประมาณ 2565

“การจัดเก็บรายได้จะกลับมาเมื่อจีดีพีขยายตัว ซึ่งปี 2564 เก็บภาษีภายใต้ฐานรายได้ปี 2563 ซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด ทำให้การจัดเก็บรายได้ภาษีลดลง เนื่องจากประชาชนได้รับผลกระทบ และภาคการท่องเที่ยวต้องปิดกิจการ ซึ่งเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวฐานภาษีก็ต้องเพิ่มด้วย ซึ่งปัจจุบันก็มีการปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ เช่น กรมสรรพากรนำระบบออนไลน์มาใช้ ให้เสียภาษีผ่านออนไลน์ได้ พร้อมกันนี้จะมีการปรับรายได้รัฐทั้งด้านภาษี และรัฐวิสาหกิจด้วย” นายอาคมกล่าว