รูดปรื๊ดเพิ่มวงเงินบัตร ต.ค.นี้ ลูกค้าเก่าเมินขอกู้ 2 เท่าหวั่นชำระหนี้ไม่ทัน

ผู้ให้บริการ “บัตรเครดิต-พีโลน” จ่อปรับเพิ่มวงเงินให้สินเชื่อลูกค้าเป็น 2 เท่าของเงินเดือน ตามมาตรการผ่อนปรนของแบงก์ชาติ เริ่ม ต.ค.นี้ โฟกัสลูกค้าเปิดบัตรใหม่ “อิออน” แจงสำรวจลูกค้าเดิมสนใจขอเพิ่มวงเงินน้อยไม่ถึง10% เหตุเป็นมาตรการชั่วคราว หวั่นจบมาตรการแล้วชำระคืนไม่ได้

นายนันทวัฒน์ โชติวิจิตร กรรมการบริหาร บริษัท อิออน ธนทรัพย์ (ไทยแลนด์)เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่อนปรนเกณฑ์การขยายเพดานวงเงินให้สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล (พีโลน) ผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาท

และสินเชื่อบุคคลสามารถขอสินเชื่อได้โดยไม่จำกัดจำนวนผู้ให้บริการเป็น 2 เท่าของเงินเดือน ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 3 ก.ย.ที่ผ่านมานั้น ภายหลังจากบริษัทสำรวจและติดต่อลูกค้าที่เข้าข่ายที่สามารถเพิ่มวงเงินได้ พบว่ามีลูกค้าให้ความสนใจและลงทะเบียนขอเพิ่มวงเงินไม่ถึง 10%

เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่มองว่า การเพิ่มเพดานจาก 1.5 เป็น 2 เท่า เป็นเหมือนวงเงินยืมชั่วคราวระยะสั้นเพียง 1 ปี ขณะที่การขยายให้สามารถขอสินเชื่อได้มากกว่า 3 สถาบันการเงิน น่าจะดีกว่า เพราะลูกค้าสามารถไปขอวงเงินจากสถาบันการเงินแห่งที่ 4 ได้ และจะได้รับวงเงินใหม่ทันที 1.5-2 เท่า ดีกว่าการขอเพิ่มวงเงินกับสถาบันการเงินแห่งเดิม

“ลูกค้าสนใจค่อนข้างน้อยกว่าคาด แค่ไม่กี่สิบล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการปรับเพิ่มเพดานดังกล่าว เป็นเพียงมาตรการชั่วคราวถึงแค่สิ้นปี 2565 ทำให้ลูกค้าไม่สนใจเนื่องจากเมื่อครบกำหนดเพดานวงเงินส่วนเกิน 0.5 เท่า ลูกค้าจะต้องกลับมาชำระเพื่อให้ไม่เกินเกณฑ์ 1.5 เท่าที่กำหนดเดิม และปัจจุบันลูกค้ายังไม่สามารถคาดเดาว่าสถานการณ์จะกลับมาได้หรือไม่ ทำให้ลูกค้าไม่มั่นใจว่าเมื่อครบกำหนดแล้วรายได้ยังไม่กลับมาเหมือนเดิมจะทำอย่างไร” นายนันทวัฒน์กล่าว

นายนันทวัฒน์กล่าวอีกว่า การปรับเกณฑ์ดังกล่าว ทาง ธปท.ต้องการเปิดช่องให้ลูกหนี้มีทางเลือก แม้ว่ามาตรการออกมาค่อนข้างดูดี แต่ในทางปฏิบัติยังต้องดูว่าวงเงิน 0.5 เท่าที่เพิ่มขึ้นไป เมื่อครบกำหนดในปี 2565 แล้ว ธปท.จะถอยวงเงินกลับมาให้เหลือ 1.5 เท่าอย่างไร ซึ่งตรงนี้อาจจะต้องมีไกด์ไลน์ออกมาด้วย

นางสาวณญาณี เผือกขำ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ กล่าวว่าสำหรับลูกค้าใหม่กรุงศรีฯจะปรับเปลี่ยนนโยบายการให้สินเชื่อให้เป็นไปตามประกาศของ ธปท. ตั้งแต่เดือน ต.ค.นี้เป็นต้นไป ส่วนกรณีลูกค้าปัจจุบันบริษัทจะมีการประเมินและมีการติดต่อลูกค้าที่เข้าเกณฑ์ในลำดับต่อไป

นางพิทยา วรปัญญาสกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจบัตรเครดิต บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เคทีซีได้เริ่มปรับวงเงินให้ลูกค้าไปแล้วตั้งแต่ต้นเดือน ก.ย. 2564 โดยการพิจารณาวงเงินจะอยู่ภายใต้การบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสมสำหรับผู้สมัครแต่ละราย

นายเอกสิทธิ์ พฤฒิพลากร ผู้บริหารผลิตภัณฑ์ธุรกิจรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในส่วนของลูกค้าใหม่สินเชื่อส่วนบุคคล ธนาคารอยู่ระหว่างการปรับนโยบายให้เป็นไปตาม ธปท โดยจะสามารถเริ่มปล่อยสินเชื่อเพดานวงเงิน 2 เท่าของรายได้สำหรับกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาท ได้ภายในต้นเดือน ต.ค. 2564 ซึ่งหลังจากนั้นต้องติดตามสัญญาณความต้องการสินเชื่ออีกภายใน 2-3 สัปดาห์ จึงจะประเมินผลตอบรับจากเกณฑ์มาตรการดังกล่าวได้

ด้านรายงานจากธนาคารกสิกรไทยเปิดเผยว่า ธนาคารอยู่ระหว่างการพิจารณาในรายละเอียด เพื่อเตรียมการจัดการให้เหมาะสมต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลของ ธปท. ณ เดือน ก.ค. 2564 มียอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลรวมทั้งระบบอยู่ที่ 664,200 ล้านบาท แบ่งเป็น ผู้ให้บริการที่เป็นธนาคารพาณิชย์ 290,658 ล้านบาท และผู้ประกอบการที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (น็อนแบงก์) 373,542 ล้านบาท

ขณะที่ยอดคงค้างสินเชื่อบัตรเครดิต ณ เดือน ก.ค. 2564 ของทั้งระบบอยู่ที่ 401,035 ล้านบาท แบ่งเป็น ธนาคารพาณิชย์ 241,271 ล้านบาท และน็อนแบงก์ 159,764 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ ธปท. ได้ผ่อนเกณฑ์สินเชื่อลูกหนี้รายย่อยในส่วนสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับ และสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล เพื่อบรรเทาภาระการจ่ายหนี้ รวมถึงเพิ่มสภาพคล่องให้กับลูกหนี้เป็นการชั่วคราว ประกอบด้วย 1.ขยายเพดานวงเงิน “บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล” กลุ่มผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า30,000 บาท เป็น 2 เท่าของรายได้ จากเดิม 1.5 เท่า และไม่จำกัดจำนวนผู้ปล่อยสินเชื่อ จากเดิมไม่เกิน 3 ราย

2.คงอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำบัตรเครดิต 5% ต่อ และ 3. ขยายเพดานวงเงิน “สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล” เป็น 40,000 บาทต่อราย จากเดิม 20,000 บาทต่อราย และขยายเวลาการชำระคืนจากเดิมไม่เกิน 6 เดือน เป็น 12 เดือน โดยทั้ง 3 มาตรการมีผลจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2565