KKP เปิด 3 โจทย์ท้าทายธนาคารกลาง แนะดึงเครื่องมือการเงินใหม่เตรียมพร้อม

เงิน

KKP Research เผยธนาคารกลางทั่วโลกเผชิญโจทย์ท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจจาก ”เงินเฟ้อสูง” สู่ 3 ความท้าทาย “เงินเฟ้อต่ำ-ดอกเบี้ยต่ำเวลานาน-Supply Shock แนะ ธปท.ควรเร่งศึกษาใช้เครื่องมือการเงินใหม่ หลังประเทศเกิดใหม่เริ่มขยับ เพื่อเตรียมความพร้อมรับความท้าทาย

วันที่ 30 กันยายน 2564 นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research บริษัทหลักทรัพย์เกียรติ นาคินภัทร กล่าวภายในงานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทย ประจำปี 2564 หัวข้อ “สร้างภูมิคุ้มกัน ผลักดันเศรษฐกิจไทย” หรือ Symposium 2021 Building Resilient Thailand ภายใต้หัวข้อ “นโยบายการเงินแบบบูรณาการ รังสรรค์พลังจากการผสานเครื่องมือ” ว่า ความท้าทายจากวิวัฒนาการของธนาคารกลางมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยในยุค 60-70 ธนาคารกลางเผชิญโจทย์อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง

แต่วันนี้โจทย์เปลี่ยนเป็น เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ซึ่งในวันที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง จะเห็นว่าธนาคารกลางต่างๆ ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นเพื่อกดเงินเฟ้อให้ลดลงมา แต่วันนี้ภายใต้อัตราเงินเฟ้อต่ำ และดอกเบี้ยที่อยู่ระดับต่ำเป็นเวลานาน จึงเป็นความท้าทายของนโยบายการเงิน

โดยธนาคารกลางไปอยู่ในดินแดนที่ไม่เคยมาก่อน ซึ่งมีหลายแห่งเริ่มทดลองหากลไกอย่างอื่น โดยปัจจุบันธนาคารเผชิญความท้าทายด้วยกัน 3 อย่าง คือ 1.เงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ 2.ดอกเบี้ยต่ำและต่ำเป็นเวลานาน ซึ่งมีความเสี่ยงต่อราคาสินทรัพย์ให้อยู่ในระดับที่อาจก่อให้เกิดฟองสบู่ ซึ่งจะกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงิน จึงเป็นความกังวลของธนาคารกลางนอกจากดูเรื่องของการเติบโตทางเศรษฐกิจ แม้ว่าจะเคยผ่านวิกฤตต้มยำกุ้งมาแล้ว แต่ครั้งนี้จะเผชิญวิกฤตต้นทุน และ 3.โจทย์ระยะสั้นทางด้าน Supply Shock ซึ่งนโยบายการเงินจะมีบทบาทต่อการจัดการอย่างไร เนื่องจากโจทย์มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี นโยบายการคลังก็มีความจำเป็นและสำคัญมากขึ้นด้วย

ดังนั้น จะเห็นว่าธนาคารกลางใหญ่ ๆ ในโลก 3-4 แห่ง พยายามทดลองเครื่องมือทางการเงินใหม่ ๆ นอกจากเครื่องมือปกติ เช่น อัตราดอกเบี้ย การแซงแทรกค่าเงิน และการควบคุมเงินทุน ซึ่งเป็นเครื่องคลาสสิก ส่วนเครื่องมือทางการเงินใหม่ ๆ เช่น อัตราดอกเบี้ยติดลบ หรือการทำ (Yield Curve Control) การควบคุมอัตราดอกเบี้ยระยะยาวผ่านการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว และการซื้อพันธบัตรระยะยาวผ่านมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเชิงปริมาณ (QE) ซึ่งมีธนาคารกลางหลายแห่งเปิดเครื่องมือทางการเงินใหม่ ๆ เพื่อเล็งเป้าหมายใหม่ โดยจะเห็นว่าประเทศกำลังพัฒนาในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging Market) เริ่มขยับตัวมากขึ้นเช่นกัน

“เราเห็นเครื่องมือทางการเงินใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งประเทศไทยควรเริ่มเปิด Tool Box ของคนอื่น อาจไม่ต้องก็อปปี้ และใช้ทันที และควรศึกษาและพิจารณามาใช้มากขึ้น พร้อมประสานความน่าเชื่อระหว่างสถาบันการเงินและประชาชน รวมถึงดูผลกระทบ โดยเราจะเห็นว่าธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด สามารถเอา Tool Box มาใช้ได้อย่างรวดเร็วและเต็มที่ ทำให้เขาหลุดพ้นและหลีกเลี่ยงวิกฤตการเงินในปี 2551 มาได้ โดยไทยควรจะเตรียมความพร้อมไว้”