โรงแรมอ่วมพิษโควิดยืดเยื้อตัดสินใจขายกิจการ 10%

โรงแรม
แฟ้มภาพประกอบข่าว

ธปท.เผยสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรมเดือน ก.ย. 64 จำนวน 184 แห่ง เจอพิษโควิด-19 ยืดเยื้อทำผู้ประกอบการ 10% ตัดสินใจขายกิจการ และอีก 8% อยู่ระหว่างประกาศขาย ระบุโรงแรมกว่า 14% ปิดกิจการชั่วคราวหลังอุปสงค์ต่ำ-ต้นทุนดำเนินการสูง คาดกลับมาเปิดไตรมาส 4/64 และจำนวนโรงแรมที่เปิด 55% รายได้กลับมาไม่ถึง 10% และ 53% มีสภาพคล่องทำธุรกิจไม่เกิน 3 เดือน ด้านอัตราการเข้าพักเพิ่มขึ้นเป็น 15.5% จากเดือนก่อนอยู่ที่ 10.6% คาดเดือน ต.ค. ทรงตัวอยู่ที่ 16%

วันที่ 5 ตุลาคม 2564 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรม Hotel business operator Sentiment Index (HSI) ในเดือนกันยายน 2564 ซึ่ง ธปท.ได้จัดทำร่วมกับสมาคมโรงแรมไทย จากผลสํารวจจากผู้ประกอบการที่พักแรม 225 แห่ง (เป็น ASQ 25 แห่ง Hospitel 16 แห่ง) ระหว่างวันที่ 9-26 กันยายน 2554

พบว่าผู้ประกอบการที่พักแรมเริ่มได้รับผลบวกจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการเดินทาง สะท้อนจากอัตราการเข้าพักที่ปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะในจังหวัดใกล้เคียงกรุงเทพฯ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอัตราการเข้าพักของโรงแรมที่เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน แต่ยังต่ำกว่าที่ผู้ประกอบการคาดไว้ ทั้งนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยืดเยื้อส่งผลให้ผู้ประกอบการกว่า 10% ที่สำรวจในครั้งนี้ตัดสินใจขายกิจการ

ทั้งนี้ ข้อมูลสรุปผลสำรวจจากโรงแรมจํานวน 184 แห่ง (ไม่รวมโรงแรมที่เป็น ASQ และ Hospitel) พบว่า สถานะกิจการประมาณ 51% เปิดกิจการปกติเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน จากโรงแรมในจังหวัดใกล้เคียงกรุงเทพฯที่กลับมาเปิดกิจการเป็นสำคัญ ขณะที่อีก 14% ปิดกิจการชั่วคราว เนื่องจากมองว่าอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำและต้นทุนในการดำเนินการสูง โดยส่วนใหญ่คาดว่าจะกลับมาเปิดกิจการอีกครั้งในไตรมาสที่ 4 ของปี 2564

ขณะที่อัตราการเข้าพักในเดือนกันยายน 2564 พบว่าอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ 15.5% เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนอยู่ที่ 10.6% โดยหากไม่มีกลุ่มที่รับลูกค้าตามโครงการ Sandbox และลูกค้าที่เข้าพักระยะยาวเป็นหลัก (ต่างชาติที่มาทำงานในไทย Workation และ Staycation อัตราการเข้าพักเฉลี่ยจะอยู่ที่ 13% ทั้งนี้ คาดการณ์อัตราการเข้าพักในเดือนตุลาคม 2564 จะทรงตัวเฉลี่ยอยู่ที่ 16%

อย่างไรก็ดี สัดส่วนโรงแรม 55% ของโรงแรมที่เปิดกิจการอยู่ทั้งหมด พบว่ารายได้ยังกลับมาไม่ถึง 10% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 และสัดส่วนอีก 21.1% รายได้กลับมาเพียง 11-30% ทั้งนี้ หากดูสัดส่วนโรงแรมกว่า 61% มีสภาพคล่องลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และอีก 53% มีสภาพคล่องเพียงพอในการดำเนินธุรกิจได้ไม่เกิน 3 เดือน อย่างไรก็ดี 11% มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยเป็นกลุ่มที่มีอัตราการเข้าพักสูงกว่าค่าเฉลี่ย และรับลูกค้าที่เข้าพักระยะยาวเป็นสำคัญ

สำหรับการจ้างงาน พบว่าผู้ประกอบการโรงแรมจ้างงานเฉลี่ย 54% ของช่วงก่อนเกิดโควิด-19 (หากไม่รวมกลุ่มที่ปิดกิจการชั่วคราวจะเฉลี่ยอยู่ที่ 55%) โดยสัดส่วนแรงงานที่ได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 เข็ม เฉลี่ยอยู่ที่ 82% เพื่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ 74% โดยเพิ่มขึ้นทุกภูมิภาค และสูงสุดในภาคใต้ที่ 94% ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ 71% มองว่าผลของการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติต่ออัตราการเข้าพักแย่กว่าที่คาด แม้ว่าอัตราการเข้าพักของโรงแรมที่เปิดรับนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเฉลี่ยอยู่ที่ 18.4% แต่มีแนวโน้มทรงตัวในเดือนตุลาคม 2564 ซึ่งเป็นเดือนที่เริ่มเข้าสู่ช่วง High Season

ทั้งนี้ หากดูโอกาสการขายกิจการ พบว่าผู้ประกอบการประมาณ 10% ที่ตัดสินใจขายกิจการแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงแรมในจังหวัดท่องเที่ยวและเป็นโรงแรมขนาดกลาง และอีก 48% ยังคงไม่ขายกิจการ ขณะที่อีก 42.7% ยังไม่ตัดสินใจและอยู่ระหว่างการประกาศขาย 8.0% และที่เหลือ 1.8% อยู่ระหว่างเจรจากับผู้ซื้อ

สำหรับข้อมูลสรุปผลสำรวจโรงแรม ASQ จำนวน 25 แห่ง พบว่าการฟื้นตัวของรายได้ฟื้นตัวได้ดีกว่ากลุ่มที่ไม่เป็น ASQ เล็กน้อย โดยมีเพียง 39% ที่รายได้ยังกลับมาไม่ถึง 10% การจ้างงานสูงกว่าโรงแรมทั่วไปเล็กน้อยเฉลี่ยที่ 58% อัตราการเข้าพักเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน และสูงกว่ากลุ่มที่ไม่เป็น ASO โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 26% และ 21% ในเดือนกันยายน 2564 และตุลาคม 2564 ตามลำดับ

และข้อมูลสรุปผลสำรวจ Hospitel จํานวน 16 แห่ง (ภาคกลางและภาคใต้) การฟื้นตัวของรายได้ไม่ต่างจากโรงแรมทั่วไปโดย 50% รายได้ยังกลับมาไม่ถึง 10% การจ้างงานสูงกว่าโรงแรมทั่วไปเล็กน้อยเฉลี่ย 62% และอัตราการเข้าพักลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน แต่ยังสูงกว่าโรงแรมทั่วไปโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 21% และ 22% ในเดือนกันยายน 2564 และเดือนตุลาคม 2564 ตามลำดับ