โควิดทุบกำไรแบงก์ Q3 ฮวบ แห่ตั้งสำรองพุ่งรับมือหนี้เสียเพิ่ม

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดแบงก์ไทยกำไรไตรมาส 3 ฮวบหนัก “โควิด” รอบล่าสุดกดดันรายได้ธุรกิจหลัก ดันภาระตั้งสำรองหนี้เพิ่มสูงอีกรอบ รับมือแนวโน้มเอ็นพีแอลพุ่ง

รายงานจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินกำไรสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศอยู่ที่กรอบ 3.25-3.35 หมื่นล้านบาท ในไตรมาสที่ 3/2564 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2564 ที่มีกำไรสุทธิสูงถึง 5.72 หมื่นล้านบาท

เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ปะทุขึ้นในช่วงต้นไตรมาส 3/2564 กดดันรายได้จากธุรกิจหลัก โดยเฉพาะรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ และทำให้ธนาคารพาณิชย์มีค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญในระดับที่สูงกว่าช่วงปกติ และสูงกว่าช่วงครึ่งแรกของปี

ทั้งนี้ สถานการณ์โควิด-19 ที่ปะทุขึ้นในช่วงระหว่างไตรมาสที่ 3 มีความรุนแรงและขยายเป็นวงกว้างย่อมมีผลกดดันสถานะทางการเงินของลูกหนี้หลายกลุ่ม ขณะที่ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สะท้อนสัญญาณว่าลูกหนี้มีแนวโน้มทยอยเข้ารับความช่วยเหลือจากสถาบันการเงินเพิ่มขึ้น

โดยยอดภาระหนี้เข้ามาตรการช่วยเหลือขยับขึ้นจากจุดต่ำสุดของปีนี้ที่ 3.18 ล้านล้านบาท (จากจำนวนบัญชีลูกหนี้เข้ามาตรการ 4.77 ล้านบัญชี)ในเดือน เม.ย. 2564 มาที่ 3.35 ล้านล้านบาท (จำนวนบัญชีลูกหนี้เข้ามาตรการ 5.12 ล้านบัญชี) ในเดือน ก.ค. 2564 โดยในจำนวนนี้ สัดส่วนกว่า 60% เป็นลูกหนี้ที่รับความช่วยเหลือจากธนาคารพาณิชย์

ดังนั้นภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งจะทยอยตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญในระดับที่สูงกว่าช่วงปกติ เพื่อเตรียมการรองรับความไม่แน่นอนของประเด็นคุณภาพของสินเชื่อที่ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด แม้ว่าธปท.ได้ขยายเวลาผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นลูกหนี้และการกันเงินสำรองให้กับสถาบันการเงินไปจนถึงสิ้นปี 2565 แล้วก็ตาม

สำหรับสัดส่วนหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของระบบธนาคารพาณิชย์คาดว่าอาจขยับขึ้นมาที่ 3.10-3.17% ต่อสินเชื่อรวมในไตรมาส 3/2564 แม้ว่าจะได้รับอานิสงส์จากความยืดหยุ่นของเกณฑ์การจัดชั้นลูกหนี้ เพิ่มจากระดับ 3.09% ในไตรมาส 2/2564 ตามสัญญาณความเปราะบางทางการเงินและปัญหาในการประคองรายได้ของลูกหนี้ในกลุ่ม SMEs และรายย่อย

ขณะที่สัดส่วนการตั้งสำรองฯต่อสินเชื่อ หรือ Credit Cost ยังคงทรงตัวอยู่ในกรอบ 1.46-1.49% ในไตรมาส 3/2564 ขยับขึ้นจากระดับ 1.45% ไตรมาส 2/2564

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าในไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 ธนาคารพาณิชย์น่าจะสามารถปรับตัวเพื่อประคองผลการดำเนินงานให้อยู่ในระดับที่สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนได้ แต่โจทย์ต่อเนื่องในปีหน้าจะยังคงเป็นเรื่องการดูแลปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพ และการเตรียมรับมือกับการแข่งขันในตลาดผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ซึ่งจะมีผู้เล่นที่หลากหลายมากขึ้น