กสิกรไทยขยับจีดีพีปีนี้โต 0.2% รับฉีดวัคซีน-คลายล็อกเร็วกว่าคาด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับคาดการณ์จีดีพีปี’64 ขยายตัว 0.2% จากเดิมหดตัว -0.5% ส่วนปี’65 คาดขยายตัว 3.7% อานิสงส์การฉีดวัคซีน-ผ่อนคลายล็อกดาวน์เร็วกว่าคาด พร้อมติดตามการเปิดประเทศ หวั่นการระบาดรอบใหม่ฉุดเศรษฐกิจปีหน้าร่วง 1-2%

วันที่ 27 ตุลาคม 2564 นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ศูนย์วิจัยฯ ได้ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปีนี้ขยายตัวอยู่ที่ 0.2% จากคาดการณ์เดิมหดตัว -0.5% เป็นผลมาจากการฉีดวัคซีนและการคลายล็อกมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้เร็วขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ รวมถึงการเปิดประเทศในต้นเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นผลพ่วงให้จำนวนนักท่องเที่ยวปรับเพิ่มจากคาดเดิมอยู่ที่ 1.5 แสนคน มาอยู่ที่ 1.8 แสนคน ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐ จะเห็นว่ามีการเบิกจ่ายเท่ากับปีงบประมาณปกติ

อย่างไรก็ดี กรณีเลวร้ายหากหลังการเปิดประเทศและมีการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ อาจจะส่งผลกระทบไปยังอัตราการเติบโตในปี 2565 ให้ปรับลดลงได้ จากประเมินอัตราการเติบโตจีดีพีในปี 2565 ไว้ที่ระดับ 3.7% ซึ่งเป็นการขยายตัวที่ค่อนข้างจำกัด โดยหากเกิดการระบาดรอบใหม่ลสายพันธุ์ใหม่คล้ายกับอังกฤษและสิงคโปร์ที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 2-3 หมื่นรายต่อวัน จะส่งผลต่อจีดีพีย่อตัวลง 1-2% จากประมาณการที่มองไว้ แต่อาจจะไม่ปรับลดลงไปสู่ระดับ 0% หรือติดลบ

“ภาพเศรษฐกิจไตรมาส 4 ของปีนี้น่าจะขยายตัวดีกว่าคาด แต่ก็มีประเด็นฉุดรั้ง ทั้งในเรื่องของภัยน้ำท่วม เงินเฟ้อจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นภาระค่าครองชีพ รวมถึงความไม่แน่นอนการระบาดอีกครั้งหลังจากการเปิดประเทศ แต่โดยรวมจีดีพีไตรมาส 4 จะขยายตัวเป็นบวก 3.6% เทียบจากไตรมาส 3 แต่หดตัว -0.5% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนไตรมาส 3 เป็นจุดต่ำสุด โดยเทียบไตรมาสก่อนหน้าจะหดตัว -3% และหดตัว -4.4% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน”

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจปี 2565 มองการฟื้นตัวยังคงจำกัด เนื่องจากปัจจัยโควิด-19 ยังคงไม่หายไป แต่การฉีดวัคซีนครบ 2 โดสน่าจะครอบคลุม 70% ของประชากรทั้งหมด ทำให้ความจำเป็นการล็อกดาวน์น้อยลง แต่ขึ้นกับตัวแปรของสายพันธุ์ด้วย ขณะที่ปัจจัยการส่งออกแม้จะย่อตัว แต่เป็นเรื่องฐาน ส่วนการบริโภคเอกชนขยายตัว 3.6% จากปี’64 หดตัว -0.1% เนื่องจากประชาชนอั้นไว้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ส่วนภาพการท่องเที่ยวยังคงมองระมัดระวัง โดยต้องติดตามการเปิดประเทศและมีการทบทวนทุก 3 เดือน โดยประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 2 ล้านคนในปีหน้า

นางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า สำหรับประเด็นผลกระทบจากน้ำท่วม โดยมองว่าผลกระทบส่วนใหญ่น่าจะอยู่ภายในปี 2564 โดยสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคม 2564 คาดว่าจะสร้างความเสียหายให้กับทั้งภาคเกษตร ซึ่งน่าจะกระทบทั้งหมดประมาณ 6-7 ล้านไร่ รวมถึงนอกภาคเกษตร ที่สำคัญคือ ภาคบริการและแรงงานรับจ้างรายวันที่ได้รับผลกระทบจากการที่ธุรกิจหยุดชะงักลงบางพื้นที่ในกว่า 30 จังหวัด ดังนั้น โดยรวมแล้ว คาดว่ากระทบเศรษฐกิจไทยประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 0.16% ของจีดีพี โดยแบ่งเป็นผลกระทบต่อภาคเกษตร 1.2 หมื่นล้านบาท และกระทบนอกภาคเกษตร 1.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งน้อยกว่าเหตุการณ์น้ำท่วมในปี 2551, 2553 และ 2560 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยได้รวมผลกระทบข้างต้นในประมาณการจีดีพีปี 2564 แล้ว

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงจะอยู่ที่ราคาพลังงานสูงและเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังไม่ได้เข้าสู่ภาวะ Stagflation โดยมองเงินเฟ้อในปี 2565 ที่ 1.6% บนเงื่อนไขที่ราคาน้ำมันโลกไม่ได้ยืนอยู่ในระดับสูงมากกว่า 100 ดอลลาร์ ต่อบาร์เรลเป็นระยะเวลายาวต่อเนื่อง โดยคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 82 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จึงยังไม่ได้สร้างแรงกดดันต่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เท่ากับธนาคารกลางอื่น อย่างไรก็ดี กรณีเลวร้ายหากมีวิกฤตพลังงานในจีน และความต้องการมากกว่ากำลังการผลิต คาดราคาน้ำมันดิบดูไบในไตรมาส 1 ในปี 2565 จะพีกอยู่ที่ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล