ค่าเงินแข็งค่าขึ้น ก่อนการกล่าวสุนทรพจน์ของนางเยลเลน

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 29 พฤศจิกายน 2560 ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 32.57/59 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (28/11) ที่ระดับ 32.57/58 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยคณะกรรมาธิการด้านงบประมาณของวุฒิสภาสหรัฐ (มีมติด้วยคะแนนเสียง 12 ต่อ 11 อนุมัติร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีของพรรครีพับลิกัน ซึ่งถือเป็นขั้นตอนสำคัญก่อนที่ร่างกฎหมายดังกล่าวถูกส่งให้กับวุฒิสภาเต็มคณะทำการพิจารณาเป็นลำดับต่อไปในวันพฤหัสบดีนี้ (30/11) การอนุมัติร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีจากคณะกรรมาธิการด้านงบประมาณของวุฒิสภาสหรัฐนั้น ถือเป็นสัญญาณด้านบวกที่สะท้อนให้เห็นว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้มีแนวโน้มที่จะผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาเต็มคณะ หลังจากเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐมีมติด้วยคะแนนเสียง 227 ต่อ 205 ให้ผ่านร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีของพรรครีพับลิกันฉบับดังกล่าว ทั้งนี้วุฒิสภาสหรัฐมีสมาชิกรีพับลิกันครองเสียงข้างมากอยู่ที่ 52 ที่นั่ง ดังนั้น หากรีพับลิกันจะผลักดันร่างกฎหมายให้ผ่านความเห็นชอบในสภาสำเร็จนั้น จะต้องการเสียงสนับสนุนอย่างพร้อมเพรียงจากสมาชิกรีพับลิกัน โดยยอมให้แตกแถวได้เพียง 2 คนเท่านั้น ในกรณีที่สมาชิกวุฒิสภาจากเดโมแครทไม่โหวตสนับสนุนเลยแม้แต่เสียงเดียว นอกจากนี้นักลงทุนจับตานางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งมีกำหนดที่จะแถลงต่อกรรมาธิการเศรษฐกิจร่วม แห่งสภาคองเกรสสหรัฐ (29/11) โดยนางเจเน็ต เยลเลน จะแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจ ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 32.50-32.61 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะปิดตลาดที่ระดับ 32.52/53 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้ (29/11) เปิดตลาดที่ระดับ 1.1849/50 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับยตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (28/11) ที่ระดับ 1.1892/96 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติของฝรั่งเศส (Insee) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคฝรั่งเศสปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือนพฤศจิกายน โดยสามารถปรับตัวอยู่เหนือระดับ 100 จุด ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยในระยะยาว ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคฝร้่งเศสอยู่ที่ระดับ 102 จุด โดยเพิ่มขึ้น 2 จุด เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม นอกจากนี้มีรายงานว่า ประเทศอังกฤษและสหภาพยุโรป (EU) สามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับวงเงินที่อังกฤษต้องจ่ายให้แก่ EU ก่อนที่จะแยกตัวอย่างเป็นทางการ (Brexit) เพื่อปฏิบัติตามภาระผูกพันทางการเงินต่อ EU ทั้งนี้รายงานระบุว่า ทั้ง 2 ฝ่ายบรรลุข้อตกลงในหลักการเกี่ยวกับข้อเรียกร้องของทาง EU ที่ต้องการให้อังกฤษจ่ายเงินจำนวน 6 หมื่นล้านยูโรสำหรับค่า Brexit โดยทางอังกฤษจะจ่ายค่า Brexit ในวงเงินระหว่าง 4.5-5.5 หมื่นล้านยูโร ทางด้านนายอันโตนิโอ ทาจานี ประธานรัฐสภายุโรป กล่าวก่อนหน้านี้ว่า ประเทศอังกฤษควรจ่ายเงินอย่างน้อย 6 หมื่นล้านยูโร สำหรับค่า Brexit เพื่อปฏิบัติตามภาระผูกพันทางการเงิน โดยนายอันโตนิโอ ทาจานี กล่าวว่า ถ้า EU ยอมรับวงเงินที่ต่ำกว่านี้ ประชากรของยุโรปก็จะต้องจ่ายส่วนต่างที่เหลือ แต่ทำไมเราต้องให้ชาวเยอรมัน อิตาเลียน สเปน หรือดัชท์ต้องมาจ่ายเงินในส่วนของอังกฤษ ทางด้านนายมิเชล บาร์นิเยร์ หัวหน้าคณะเจรจาของฝ่าย EU ขีดเส้นตายเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายนว่า ประเทศอังกฤษควรประกาศจุดยืนที่ชัดเจนใน 3 ประเด็นหลักภายในเวลา 2 สัปดาห์ ซึ่งได้แก่ วงเงินค่า Brexit ที่อังกฤษจะชำระแก่ EU ปัญหาเรื่องชายแดนของไอร์แลนด์ และประเด็นสิทธิพลเมืองของ EU ในอังกฤษ ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 1.1840-1.1883 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.1871/73 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ในส่วนของค่าเงินเยนวันนี้ (29/11) เปิดตลาดที่ระดับ 111.58/59 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (28/11) ที่ระดับ 111.23/27 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยนางฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้กล่าวสุนทรพจน์ในการประชุม Asia Securities Forum โดยนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ กล่าวว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการพัฒนาตลาดพันธบัตรในเอเชีย เพื่อกระจายแหล่งการระดมทุนสำหรับบริษัทต่าง ๆ ในภูมิภาค และการพัฒนาตลาดพันธบัตรสกุลเงินท้องถิ่นให้มีประสิทธิภาพและสภาพคล่องที่ดีนั้น ถือเป็นสิ่งจำเป็น นอกจากนี้นายฮิรุฮิโกะ คุโรดะ ยังกล่าวว่า ด้วยโอกาสการลงทุนที่เพิ่มขึ้น เม็ดเงินออมที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในเอเชียจะถูกนำมาหมุนเวียนใช้จ่ายภายในภูมิภาค และจะช่วยรองรับความต้องการในการระดมทุนจำนวนมากสำหรับโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 111.38-111.67 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 111.47/49 ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลทางเศรษฐกิจของสหรัฐที่สำคัญที่ต้องจับตาดูในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคเบื้องต้นประเทศเยอรมนี เดือนพฤศจิกายน (29/11) ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศสหรัฐ (จีดีพี) ไตรมาส 3 (29/11) ยอดค้าปลีกประเทศเยอรมนี เดือนตุลาคม (30/11) อัตราเงินเฟ้อประเทศฝรั่งเศส เดือนพฤศจิกายน (30/11) อัตราว่างงานอียู เดือนพฤศจิกายน (30/11) อัตราเงินเฟ้อประเทศญี่ปุ่นเดือนตุลาคม (1/12) อัตราเงินเฟ้อประเทศญี่ปุ่น เดือนตุลาคม (1/12)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -3.20/-2.40 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -4.0/-3.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ