ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าหลังถูกเทขายทำกำไร

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า  สภาวการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 18 พฤศจิกายน 2564

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (18/11) ที่ระดับ 32.65/67 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (17/11) ที่ระดับ 32.71/72 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยในช่วงคืนที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เปิดเผยว่า ตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านลดลง 0.7% ในเดือนตุลาคมสู่ระดับ 1.520 ล้านยูนิต สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 1.576 ล้านยูนิต จากระดับ 1.530 ล้านยูนิตในเดือนกันยายน โดยการเริ่มต้นสร้างบ้านได้รับผลกระทบจากการพุ่งขึ้นของราคาวัสดุก่อสร้าง และการขาดแคลนแรงงาน ส่วนการอนุญาตก่อสร้างบ้านเพิ่มขึ้น 4.0% สู่ระดับ 1.650 ล้านยูนิตในเดือนตุลาคม

ทั้งนี้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ยังได้แรงหนุนก่อนหน้านี้จากการพุ่งขึ้นของตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐ ที่แตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 30 ปี ซึ่งอาจส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด ทั้งนี้นายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟด สาขาเซนต์หลุยส์ ได้มีการแถลงการณ์เมื่อคืนเพื่อเรียกร้องให้เฟดเร่งการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เพื่อให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยโดยเร็วที่สุดในช่วงฤดูใบไม้ผลิในปีหน้า

อย่างไรก็ดี ตลาดจับตาดูการเลือกประธานธนาคารกลางสหรัฐ คนใหม่ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน โดยมีการรายงานจากเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวรายหนึ่ง ซึ่งกล่าวว่าประธานาธิบดีไบเดนจะตัดสินใจเรื่องดังกล่าวก่อนวันขอบคุณพระเจ้าในวันที่ 25 พฤศจิกายน ซึ่งบ่งชี้ว่าประธานาธิบดีไบเดนอาจประกาศการตัดสินใจในสัปดาห์หน้า

ทั้งนี้ นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด และนางลาเอลเบรนาร์ด หนึ่งในคณะผู้ว่าการเฟด ถือเป็น 2 ตัวเก็งที่อาจได้รับการเสนอชื่อให้เป็นประธานเฟดคนใหม่ โดยนายพาวเวลล์จะครบวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปีในเดือนกุมภาพันธ์ 2565

สำหรับปัจจัยภายในประเทศนั้น นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในเดือนตุลาคม 2564 มีการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 81,577 คัน เพิ่มขึ้น 14.30% จากเดือนตุลาคม 2563 และเพิ่มขึ้น 10.49% จากเดือนกันยายน 2564 ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 71,410.68 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.82% จากเดือนตุลาคม 2563

นอกจากนี้มีการรายงานสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) โดยจากการรายงานข้อมูลเบื้องต้นมียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น 6,901 ราย เสียชีวิต 55 ราย อย่างไรก็ดี นักลงทุนยังคงจับตาดูสถานการณ์การเปิดประเทศ เพื่อหาสัญญาณฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.57-32.65 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 32.57/59 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (18/11) ที่ระดับ 1.1321/22 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (17/11) ที่ระดับ 1.1311/13 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของยูโรโซนดีดตัวขึ้น 0.8% ในเดือนตุลาคมเมื่อเทียบรายเดือน และเมื่อเทียบรายปีดัชนี CPI พุ่งขึ้น 4.1% ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อ 2% ที่ธนาคารกลางยุโรป (BCB) กำหนดไว้กว่า 2 เท่า

ทั้งนี้ ดัชนี CPI ของยูโรโซนได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของราคาพลังงาน รวมทั้งการปรับตัวขึ้นของราคาอาหาร และราคาในภาคบริการ ส่วนดัชนี CPI พื้นฐานซึ่งไม่รวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ BCB ให้ความสำคัญ ปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือนตุลาคม เมื่อเทียบรายเดือน และเพิ่มขึ้น 2.1% เมื่อเทียบรายปี โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1318-1.1337 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1328/31 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดเช้าวันนี้ (18/11) ที่ระดับ 114.18/20 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (17/11) ที่ระดับ 114.80/82 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากความกังวลของตลาดในเรื่องสถานการณ์โควิด-19 ในฝั่งประเทศยุโรป จึงทำให้มีเงินทุนไหลเข้าสู่สกุลเงินเยนในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 114.02-114.21 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 114.19/21 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอสวัสดิการว่างงานสหรัฐ (18/11) และยอดค้าปลีกอังกฤษ (19/11)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.95/+1.05 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -2.80/-1.70 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ