อาคมแจงเวทีสัมมนา “สมาคมไทย-ญี่ปุ่น” รัฐบาลมีแผนสนับสนุนรถยนต์อีวี

รถอีวี

“สุพัฒนพงษ์” ย้ำผ่านงานสัมมนา “สมาคมไทย-ญี่ปุ่น” เศรษฐกิจไทยหลังโควิดกำลังฟื้นตัว ชี้เต็มไปด้วยโอกาสทางธุรกิจ ฟาก “อาคม” ยันรัฐบาลมีแผนสนับสนุนรถอีวีเพื่อลดปัญหาปล่อยมลพิษ

วันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 สมาคมไทย-ญี่ปุ่นร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทย และสภาหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ จัดงานสัมมนาในหัวข้อ “Thailand Post-COVID-19: Rain or Sunshine?” เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักธุรกิจไทยและญี่ปุ่นว่า ประเทศไทยพร้อมแล้วที่จะก้าวต่อไปหลังผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 และภาครัฐมีแนวนโยบายที่ชัดเจนในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ตลอดจนการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างในระยะยาว รวมถึงตระหนักถึงโอกาสในการสร้างห่วงโซ่อุปทานที่สอดคล้องไปกับกระแส ESG อันจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยบนเส้นทางการเติบโตยั่งยืนในอนาคตข้างหน้า

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาส 3 และกำลังเข้าสู่ช่วงฟื้นตัวในช่วงหลังโควิด ภูมิทัศน์ของเศรษฐกิจไทยหลังโควิดจะเปลี่ยนไปและเต็มไปด้วยโอกาสทางธุรกิจ ดังนั้น เราต้องเสริมสร้างอุตสาหกรรมหลักของไทยให้แข็งแกร่ง เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจ health care อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต และอุตสาหกรรมยานยนต์ ตลอดจนปรับตัวให้สอดรับกับกระแส Climate Change

นายคาซูยะ นาชิดะ (Mr. Kazuya Nashida) เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยกล่าวว่า ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นในอนาคตจะก้าวสู่ “การสร้างสรรค์ร่วมกัน (a partnership of co-creation)” โดยไทยและญี่ปุ่นจะสร้างสรรค์คุณค่าใหม่และนวัตกรรมร่วมกัน และความสัมพันธ์อันดีที่มีมายาวนานจะกลายเป็นความสัมพันธ์ที่เท่าเทียม เพื่อแบ่งปันภูมิปัญญาร่วมกัน และส่งเสริมซึ่งกันและกันในการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสังคมที่ดีขึ้นในอนาคต

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวในงานเสวนาในหัวข้อ “ทิศทางของนโยบายภาครัฐ” ว่า ถึงแม้ว่ารัฐบาลต้องใช้งบประมาณมหาศาลเพื่อบรรเทาผลกระทบของโควิด ซึ่งปัจจุบันสถานะการคลังของไทยยังแข็งแกร่ง ภาครัฐมีสภาพคล่องมากพอที่จะดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากนี้

ในส่วนของความกังวลประเด็นหนี้สาธารณะที่มีการขยายเพดานเพิ่มขึ้นจาก 60% เป็น 70% ของ GDP รัฐบาลมุ่งเน้นความสามารถในการชำระหนี้ โดยการดูแลให้รายได้ภาครัฐกับภาระดอกเบี้ยมีความสอดคล้องกัน นอกจากนี้ ในส่วนของประเด็น climate change รัฐบาลมีแผนสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยแก้ปัญหาการปล่อยมลพิษรวมถึงฝุ่น PM 2.5

ด้านนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้กล่าวถึงแผนการปฏิรูปโครงสร้างประเทศที่คำนึงถึงประเด็นเชิงโครงสร้างทั้งการขาดแคลนแรงงาน การศึกษา สังคมผู้สูงอายุ ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนนางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กล่าวถึงการมุ่งเน้นให้สิทธิประโยชน์การลงทุนเพื่อให้ห่วงโซ่การผลิตอุตสาหกรรมของไทยมีประสิทธิภาพมากขึ้นรวมถึงการยกระดับมูลค่าห่วงโซ่การผลิต ตลอดจนอำนวยความสะดวกให้ประเทศไทยสามารถดึงดูดแรงงานทักษะสูงจากต่างประเทศมากขึ้น

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “การมุ่งสู่ ESG ของไทย” ว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐ เอกชน และสังคมต้องร่วมมือกันผ่านทาง Public Private Partnership (PPP) ในการสร้างกลไกตลาดคาร์บอน และการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในประเด็น Climate Change จากนี้ไปยังมีโอกาสทางธุรกิจอีกมาก เช่น การมุ่งสู่อุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ แต่ต้องเร่งปรับตัวให้สอดรับกับกระแส Climate Change”

นอกจากนี้ ในการพัฒนาที่ยั่งยืน ประเทศไทยจำเป็นต้องยกระดับอุตสาหกรรมสู่การสร้างห่วงโซ่อุปทานสีเขียว (Green Supply Chain) และการปลูกป่าทดแทนเพื่อบรรลุถึงเป้าหมายที่ net zero ไทยได้ให้ไว้กับประชาคมโลก

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานคณะอนุกรรมการปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพและดำเนินธุรกิจ ยังกล่าวเสริมว่า “เพื่อที่จะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ รัฐบาลวางแผนจะผ่อนคลายกฎระเบียบภาครัฐเพื่อส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve Industries)

เช่น กฎระเบียบของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในการขอวีซ่าและใบอนุญาตทำงานเพื่อดึงดูดแรงงานทักษะสูงจากต่างประเทศ โดยหลักการในการปฏิรูปกฎหมายมี 3 ประการด้วยกัน คือ ความถูกต้อง ความจำเป็น และการอำนวยความสะดวกทางธุรกิจ

นายกลินท์ สารสิน นายกสมาคมไทย-ญี่ปุ่น และประธานอาวุโส สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวจากโควิด ท่ามกลางประเด็นท้าทายหลากหลายที่เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญ ภาครัฐและเอกชนมีความร่วมมือที่จะสร้างสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจให้เอื้อต่อการลงทุนที่ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงหลังจากโควิด