โอไมครอนกดหุ้นไทยร่วงต่อ หวั่นเฟดเร่งปรับเพิ่มลดวงเงิน QE ฉุดฟันด์โฟลว์

หุ้น โควิด

บล.ฟิลลิป ประเมินตลาดหุ้นไทยเช้านี้มีโอกาสปรับตัวลงต่อจากเมื่อวันศุกร์ที่ลงแรงเกือบ 40 จุด กังวลไวรัสกลายพันธุ์ “โอไมครอน” หวั่นธนาคารกลางสหรัฐอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด ด้าน “Goldman Sachs” คาดเฟดจะเร่งปรับเพิ่มการลดวงเงิน QE เป็น 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน 

วันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) จำกัด รายงานภาวะตลาดหุ้นไทยวันนี้ว่า เช้านี้คาดตลาดหุ้นไทยมีโอกาสปรับตัวลงต่อจากเมื่อวันศุกร์ที่ปรับตัวลงแรงเกือบ 40 จุด ท่ามกลาง 1.ความกังวล COVID-19 สายพันธุ์โอไมครอน อาจกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหลังพบการกลายพันธุ์ที่มากกว่าสายพันธุ์เดลต้า ทำให้อาจเกิดการแพร่ระบาดได้เร็วและง่ายขึ้น

และ 2.ความกังวลที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (FED) อาจมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด โดยมุมมองของ Goldman Sachs คาดเฟดจะเร่งปรับเพิ่มการลดวงเงิน QE เป็น 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ส่งผลต่อกระแสเงินทุนต่างชาติไหลออกต่อเนื่อง โดยเมื่อวันศุกร์นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยกว่า 6,000 ล้านบาท ขณะที่เช้านี้ทิศทางค่าเงินบาทยังอ่อนค่า ล่าสุด 33.60 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับกลยุทธ์การลงทุน เนื่องด้วยข้อมูลของเชื้อ COVID-19 สายพันธุ์โอไมครอนที่มีอยู่ยังไม่มากพอที่จะบอกถึงความรุนแรง รวมไปถึงประสิทธิภาพของวัคซีนว่าสามารถป้องกันได้มากน้อยแค่ไหน ทำให้ตลาดเลือกที่จะลดความเสี่ยงในการถือครองสินทรัพย์เสี่ยง

เบื้องต้นทางฝ่ายคาดว่าตลาดหุ้นไทยมีโอกาสปรับตัวลงต่อ โดยประเมินแนวรับที่บริเวณ 1,590 จุด และ 1,570 จุด มองเป็นจุดที่ใช้พิจารณาสำหรับการทยอยเข้าซื้อหุ้นที่มีพื้นฐานดี แต่ราคามีการปรับตัวลงแรง

ทั้งนี้ ความน่ากลัวของ COVID-19 สายพันธุ์โอไมครอนที่ตลาดกังวลคือ ประสิทธิภาพของวัคซีนที่มีอยู่สามารถป้องกันได้หรือไม่ หลังการรายงานพบว่ามีผู้ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มติดเชื้อดังกล่าว เช่นเดียวกับอาการของโรคที่ยังไม่ได้บ่งชี้ว่ามีความรุนแรง

แม้ว่าจะมีการกลายพันธุ์บริเวณหนามโปรตีนมากถึง 32 ตำแหน่ง มากกว่าสายพันธ์เดลต้า ที่มีการกลายพันธุ์บริเวณหนามเพียง 9 ตำแหน่ง โดยหลายประเทศมีการพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ดังกล่าวแล้ว ไม่ว่าจะเป็น อิตาลี, เยอรมนี, อังกฤษ, ออสเตรเลีย, เนเธอร์แลนด์, สาธารณรัฐเช็ก ฯลฯ

ส่วนไทยแม้ที่ประชุม ศบค. มีมติเริ่มผ่อนคลายกฎระเบียบให้กับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไทยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา สำหรับ 63 ประเทศที่กำหนด โดยใช้เพียงการตรวจ ATK แทนการตรวจ RT-PCR ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค. 64 เป็นต้นไป แต่ทางฝ่ายวิจัยคาดอาจมีการเปลี่ยนแปลงหลังจากนี้ได้ หากสถานการณ์โควิดสายพันธุ์โอไมครอนไม่เอื้ออำนวย

โดยล่าสุดมีการประกาศห้ามผู้ที่เดินทางมาจาก 8 ประเทศ ได้แก่ บอตสวานา, เอสวาตีนี, เลโซโท, มาลาวี, โมซัมบิก, นามิเบีย, ซิมบับเว และแอฟริกาใต้ เดินทางเข้าประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 64 เป็นต้นไป ส่วนผู้โดยสารจากประเทศข้างต้นที่เดินทางถึงไทยในช่วงวันที่ 28-30 พ.ย. 64 ต้องเข้ากระบวนการ Quarantine จำนวน 14 วันทันที

ปัจจัยที่ต้องติดตามสัปดาห์นี้คือ 1.ถ้อยแถลงของประธานเฟด 2.ดัชนี PMI ภาคการผลิตของจีน พ.ย. 64 ตลาดคาดหดตัวต่ำกว่าระดับ 50 จุด ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 อยู่ที่ 49.6 จุด และ 3.การประชุมของกลุ่มโอเปกพลัสต่อกำลังการผลิต