ค่าเงินบาทอ่อนค่า ภายหลังจากการปรับโครงสร้างภาษีสหรัฐมีแนวโน้มดีขึ้น

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของค่าเงินระหว่างวันที่ 27 พฤศจิกายน -1 ธันวาคม 2560 ค่าเงินบาทเปิดตลาดในเช้าวันจันทร์ (27/11) ที่ 32.67/68 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวอยู่ในระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (24/11) ที่ 32.67/69 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แต่อย่างไรก็ตาม ในระหว่างสัปดาห์ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ได้ปรับตัวแข็งค่าตลอดสัปดาห์ โดยปัจจัยสนับสนุนจากความคืบหน้าในการปฏิรูปภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดยในวันพุธที่ผ่านมา (29/11) คณะกรรมาธิการด้านงบประมาณของวุฒิสภาสหรัฐมีมติคะแนนเสียง 12 ต่อ 11 อนุมัติร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีของพรรครีพับลิกัน ซึ่งถือเป็นขั้นตอนสำคัญก่อนที่ร่างกฎหมายดังกล่าว ถูกส่งให้กับวุฒิสภาเต็มคณะทำการพิจารณาเป็นลำดับต่อไปในวันพฤหัสบดี (30/11) ซึ่งการอนุมัติร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีจากคณะกรรมาธิการด้านงบประมาณของวุฒิสภาสหรัฐนั้น ถือเป็นสัญญาณด้านบวกที่สะท้อนให้เห็นว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้มีแนวโน้มที่จะผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาเต็มคณะ หลังจากเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ มีมติด้วยคะแนนเสียง 227 ต่อ 205 ให้ผ่านร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีของพรรครีพับลิกันฉบับดังกล่าว ทั้งนี้ วุฒิสภาสหรัฐ มีสมาชิกรีพับลิกันครองเสียงข้างมากอยู่ที่ 52 ที่นั่ง ประกอบกับธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจทั้ง 12 เขต หรือ “Beige Book” เมื่อวานนี้โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐยังคงขยายตัวเล็กน้อยจนถึงปานกลางในช่วงเดือน ต.ค. จนถึงกลางเดือน พ.ย. ขณะที่เศรษฐกิจในหลาย ๆ เขตมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีขึ้นเล็กน้อย ส่วนแรงกดดันด้านราคานั้น ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่เดือน ต.ค. โดยเขตส่วนใหญ่รายงานว่า ราคาขายสินค้าปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ต้นทุนที่ไม่เกี่ยวข้องกับแรงงาน ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่มีแนวโน้มดีขึ้น โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 สำหรับการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 3 ที่ระดับ 3.3% สูงกว่าตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 ที่ระดับ 3.0% และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 3.2%

ในส่วนของค่าเงินบาทสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ผสศค.) เปิดเผยว่า ในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (30/11) ว่าเศรษฐกิจไทยในเดือนตุลาคม 2560 ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่องทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน โดยในด้านอุปสงค์พบว่า การส่งออกสินค้ายังคงขยายตัวได้ดีในระดับสูง ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนมีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากขึ้น ส่วนในด้านอุปทานยังคงได้รับแรงขับเคลื่อนหลังจากนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่ขยายตัวสูงสุดในรอบ 26 เดือน สศค.ยังคงเป้าการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ปี 60 ไว้ที่ 3.8% แต่มองว่ามีโอกาสที่จะโตได้ถึง 4% ต้น ๆ หากภาพรวมปัจจัยที่มีผลทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงที่เหลือของปีนี้ ยังต้องติดตามภาพรวมการส่งออกว่ายังมีแนวโน้มที่ดีต่อเนื่องหรือไม่ ส่วนในภาคการท่องเที่ยจวที่แม้จะเติบโตได้ดีในปัจจุบัน แต่มีแนวโน้มว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจากประเทศมาเลเซียลดลงบ้าง ซึ่งปกติยอดนักท่องเที่ยวมาเลเซียจะอยู่ในระดับสูง ดังนั้นจึงต้องติดตามในส่วนนี้ โดยระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 32.52-32.69 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 32.61/63 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวสกุลเงินยูโรในสัปดาห์นี้ ค่าเงินเปิดตลาดในวันจันทร์ (27/11) ที่ระดับ 1.1916/18 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (24/11) ที่ระดับ 1.1860/62 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยเงินสกุลยูโรปรับตัวสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบสองเดือน โดยได้รับแรงหนุนจากตัวเลขเศรษฐกิจของเยอรมนีที่ออกมาเป็นที่น่าพอใจ โดยสถาบันไอเอฟโอได้เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนีปรับดีขึ้นสู่ระดับ 117.5 ในเดือนพฤศจิกายน จาก 116.6 ในเดือนก่อนหน้า ประกอบกับความผ่อนคลายทางการเมืองในประเทศเยอรมนียังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนค่าเงินยูโร ซึ่งก่อนหน้านี้นางเมอร์เคลเคยพยายามจะจัดตั้งรัฐบาลผสมสามฝ่ายร่วมกับพรรคฟรี เดโมเครต (เอฟดีพี) และพรรคกรีนส์ แต่การเจรจาดังกล่าวประสบความล้มเหลว และทำให้นักลงทุนไม่แน่ใจว่า นางเมอร์เคลจะได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปหรือไม่ แต่เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา มีรายงานว่าพรรคเอสพีดีซึ่งเป็นพรรคอันดับ 2 เผยถึง “ความเป็นไปได้” ในการกลับมาร่วมรัฐบาลกับพรรคอันดับ 1 ของนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล แต่อย่างไรก็ตามความกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับผลเจรจา Brexit ซึ่งประเทศอังกฤษและสหภาพยุโรป (EU) สามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับวงเงินที่อังกฤษต้องจ่ายให้แก่ EU ก่อนที่จะแยกตัวอย่างเป็นทางการ (Brexit) เพื่อปฏิบัติตามภาระผูกพันทางการเงินต่อ EU ทั้งนี้รายงานระบุว่า ทั้ง 2 ฝ่ายบรรลุข้อตกลงในหลักการเกี่ยวกับข้อเรียกร้องของทาง EU ที่ต้องการให้อังกฤษจ่ายเงินจำนวน 6 หมื่นล้านยูโรสำหรับค่า Brexit โดยทางอังกฤษจะจ่ายค่า Brexit ในวงเงินระหว่าง 4.5-5.5 หมื่นล้านยูโร โดยตลอดทั้งสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1.1815-1.1960 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตัวที่ระดับ 1.1900.01 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนสัปดาห์นี้ ค่าเงินเปิดตลาดในวันจันทร์ (27/11) ที่ระดับ 111.62/65 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (24/11) ที่ระดับ 11.41/43 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมามีการเปิดเผยตัวเลขพีเอ๋็มไอภาคการผลิตของญี่ปุ่นปรับตัวดีขึ้น จาก 52.6 สู่ระดับ 53.8 ซึ่งขยายตัวในอัตราที่รวดเร็วที่สุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2014 ดัชนีที่ระดับสูงกว่า 50 บ่งชี้ว่าภาคการผลิตขยายตัว รอยเตอร์รายงานว่าผลสำรวจขั้นต้นบ่งชี้ว่า กิจกรรมกาคการผลิตของญี่ปุ่นมีการขยายตัวในเดือนพฤศจิกายนในอัตราที่รวดเร็วที่สุดในรอบกว่า 3 ปี ในขณะที่ผลผลิตยอเสั่งซื้อใหม่ และยอดสั่งซื้อใหม่เพื่อส่งออกต่างก็เติบโตในอัตราที่เร็วขึ้นด้วยเช่นกัน อีกทั้งยังมีรายงานระบุว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบเป็นตัวเลขเต็มปีในไตรมาส 3 ซึ่งเป็นการเติบโตเป็นไตรมาสที่ 7 ติดต่อกัน โดยการเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาส 3 ได้รับแรงหนุนหลักจากยอดส่งออกที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ปริมาณการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคลดลง และการลงทุนมีการชะลอตัวลงบ้าง ในขณะที่นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้กล่าวสุนทรพจน์ในการประชุม Asia Securities Forum โดยนายอารุฮิโกะ คุโรดะ กล่าวว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการพัฒนาตลาดพันธบัตรในเอเชีย เพื่อกระจายแหล่งการระดมทุนสำหรับบริษัทต่าง ๆ ในภูมิภาค และการพัฒนาตลาดพันธบัตรสกุลเงินท่องถิ่นให้มีประสิทธิภาพและมีสภาพคล่องที่ดีนั้น ถือเป็นสิ่งจำเป็น นอกจากนี้นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ยังกล่าวว่า ด้วยโอกาสการลงทุนที่เพิ่มขึ้น เม็ดเงินออมที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในเอเชียจะถูกนำมาหมุนเวียนใช้จ่ายภายในภูมิภาค และจะช่วยรองรับความต้องการในการระดมทุนจำนวนมากสำหรับโครงสร้างพื้นฐาน โดยตลอดสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 110.98-112.68 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 112.46/51 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ