10 องค์กรเอกชนสงขลา นัดถก ผลดี-เสีย นิคมอุตสาหกรรมจะนะ 19 ธ.ค.

10 องค์กรภาคเอกชนในจังหวัดสงขลา นัดถกเชิงลึกผลดี-ผลเสีย “นิคมอุตสาหกรรมจะนะ” ต่อประชาชน สิ่งแวดล้อม 19 ธ.ค.นี้

วันที่ 14 ธันวาคม 2564 นายธนวัฒน์ พูนศิลป์ ประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทางภาคเอกชน จ.สงขลา จะมีการประชุมร่วมกัน จำนวน 10 องค์กร มีการถกประเด็นเชิงลึกอุตสาหกรรมจะนะ อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งมีหอการค้าจังหวัดสงขลา สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัด เอสเอ็มอีจังหวัดสงขลา และผู้ที่เกี่ยวข้อง ในวันที่ 19 ธันวาคม 2564

ครม.ประยุทธ์ สั่งเบรก โครงการจะนะ จนกว่าจะทำ SEA เสร็จ

“ถือเป็นการประชุมอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกขององค์กรภาคเอกชน ที่ไม่เคยประชุมเรื่องอุตสาหกรรมจะนะกันมาก่อน ที่ผ่านมามีแต่การประชุมของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดน (สอ.บต.) และหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรอื่น ๆ ตลอดจนถึงประชาชนในพื้นที่”

นายธนวัฒน์กล่าวต่อไปว่า ในการประชุมครั้งนี้จะเป็นการประชุมเชิงลึก ว่าจะคิดกันอย่างไร จากมุมของภาคเอกชน ก็เห็นด้วยในโครงการ แต่จะต้องรับฟังกลุ่มที่คัดค้านต่อต้านด้วย ภาคเอกชนไม่ได้ต่อต้านกลุ่มคัดค้าน

ทั้งนี้จะต้องมีการศึกษาความเป็นไปได้ตามขั้นตอนถูกต้อง กลุ่มคัดค้านต่อต้านเอง ก็ไม่ได้ต่อต้านอุตสาหกรรมจะนะ แต่ต้องการให้เป็นไปตามขั้นตอน สรุปต้องศึกษาและหารือกันว่าจะสิ่งที่ควรอยู่และสิ่งที่ไม่ควรอยู่

ซึ่งในโครงการอุตสาหกรรมจะนะ มีโครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 นิคมอุตสาหกรรม ก๊าซเหลว โรงไฟฟ้า ฯลฯ ต้องดูกันแต่ละตัว อันไหนที่จะเกิดแล้วไม่ส่งผลกระทบกับชาวบ้าน สิ่งแวดล้อม ฯลฯ

นายธนวัฒน์กล่าวอีกว่า จากมุมองภาคเอกชน ถ้าโครงการไม่เกิดขึ้นภาคใต้ก็หมดโอกาส และจะมีเอกชนรายใดสนใจเข้ามาลงทุนอีก เพราะเมื่อภาคเอกชนรายหนึ่งได้ดำเนินการลงทุน หลังจาก ครม.อนุมัติแล้ว หากมีการยกเลิก และคัดค้านกัน ต่อไปจะไม่มีนักลงทุนรายใดที่จะเข้ามาลงทุนทางภาคใต้อีก

นายธนวัฒน์กล่าวอีกว่า สำหรับท่าเรือ จะเกิดผลประโยชน์ต่อประเทศไทย ภาคใต้ และ จ.สงขลา โดยเฉพาะท่าเรือสงขลา 1 ที่มีอยู่ในปัจจุบันเรือขนาดใหญ่เข้าจอดเทียบท่าไม่ได้ แต่เมื่อท่าเรือสงขลา 2 เกิดขึ้น เรือขนาดใหญ่จะเข้าเทียบท่าได้ ก็สามารถเชื่อมโยงกับต่างประเทศได้

การลงทุน การค้าขาย ระหว่างประเทศก็จะเกิดขึ้นและมีทิศทางดี จะส่งผลดีต่อนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ทั้งภาคใต้ที่มีทั้งยางพารา ไม้ยางพารา แปรรูปไม้ยางพารา แปรรูปอาหาร แปรรูปสัตว์น้ำ อาหารฮาลาล และสินค้าต่าง ๆ และในสุดก็เชื่อมโยงให้เกิดธุรกิจการท่องเที่ยวอย่างขนานใหญ่เช่นกัน จะเกิดการสร้างงานสร้างรายได้

“การศึกษาต้องพิจารณาในแต่ละโครงการท่าเรือ นิคมอุตสาหกรรม หรือส่วนอื่น ถ้าเป็นสิ่งดีก็เอาไว้ สิ่งไหนกระทบกับประชาชน ภาวะสิ่งแวดล้อมมลพิษก็ตัดไป ร่วมกันคิดร่วมกันฟังก่อน ที่ผ่านมารายได้ของคนใน อ.จะนะ หวังพึ่งพาธุรกิจเลี้ยงนกเขา ปลา ในอนาคตคงจะไม่ใช่ 2 อย่างนี้อีกต่อไป”

นายธนวัฒน์กล่าวต่อไปว่า การค้าทางด้านชายแดนทางภาคใต้โดยเฉพาะทางด่าน อ.สะเดา จ.สงขลา ที่ติดกับรัฐเกดะห์ รัฐปะลิส ประเทศมาเลเซีย มีมูลค่าว่า 600,000 ล้านบาท/ปี ขนาดใหญ่สุดในส่วนของภูมิภาคโดยได้ดุลการค้า ถ้าเกิดท่าเรือสงขลา 2 ที่นิคมอุตสาหกรรมจะนะ ต้นทุนการผลิต การขนส่งจะถูกลง เพราะระยะทางจะใกล้กว่า ทำให้ผู้ผลิตสินค้าส่งออกมีต้นทุนต้ำลงสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก การค้าขายก็จะได้ปริมาณมากขึ้น

“ถ้าพูดกันในเชิงลึก เราไม่ได้เป็นฝ่ายสนับสนุนโครงการ และไม่ใช่ฝ่ายต่อต้านโครงการ เราจะไม่มาทะเลาะกัน แต่จะมาพูดถึงส่วนดีส่วนเสียกัน เราก็ไม่เห็นด้วย หากกระทบต่อประชาชน กระทบต่อมลพิษ”