คลังไฟเขียว 33 รัฐวิสาหกิจ หลุดบ่วงระเบียบใหม่จัดซื้อ

33 รัฐวิสาหกิจเฮ หลุดบ่วง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ กรมบัญชีกลางชงขุนคลังเซ็นคลอดระเบียบใหม่รองรับ ยกเว้น รสก.ที่ดำเนินธุรกิจการพาณิชย์โดยตรง ไม่ต้องปฏิบัติตามกฎคุมเข้มจัดซื้อจัดจ้าง ให้เวลา 180 วัน จัดทำหลักเกณฑ์เงื่อนไขประกาศใช้เอง ด้านกรมควบคุมมลพิษหนุนส่วนราชการ-รสก.-ท้องถิ่นจัดซื้อสินค้า-บริการสี เขียว

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” กรณีหน่วยงานรัฐวิสาหกิจหลายแห่งระบุว่า ได้รับผลกระทบจาก พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างแกระทรวงดดดดดดดดละบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐวิสาหกิจที่ประกอบธุรกิจในเชิงพาณิชย์ โดยชี้แจงว่า แม้หลักปฏิบัติการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐวิสาหกิจจะต้องทำตามกติกาที่กำหนดไว้ ใน พ.ร.บ.ดังกล่าว แต่มีข้อยกเว้นเพื่อความคล่องตัวในการประกอบกิจการส่วนที่เป็นการพาณิชย์ โดยตรง

เปิดทางขอยกเว้นกฎจัดซื้อ-จ้าง

ดังนั้นหากรัฐวิสาหกิจใดต้องการจะขอยกเว้นผ่อนปรนโดยจะออกกฎระเบียบของตัวเองใช้ในการ จัดซื้อจัดจ้าง สามารถทำหนังสือชี้แจงปัญหารวมทั้งขอยกเว้นไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ ได้ โดยส่งเรื่องมาให้คณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาค รัฐ ที่มีนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เป็นประธานพิจารณา ทั้งนี้ ขณะนี้กระทรวงการคลังแจ้งให้รัฐวิสาหกิจทราบแล้ว และเร่งรัดให้ส่งเรื่องนี้มาให้พิจารณาโดยเร็ว

“ตามขั้นตอนคณะกรรมการนโยบายจะดูร่างระเบียบของแต่ละรัฐวิสาหกิจที่เสนอมา ถ้าเห็นว่าไปได้ ก็จะไม่คุมแต่ต้องเป็นเรื่องการพาณิชย์โดยตรง ที่ต้องแข่งขัน หรือต้องเป็นความลับทางการค้า ส่วนการซื้อวัสดุอุปกรณ์สำนักงาน ซื้อสินค้าไอที ต้องทำตาม พ.ร.บ.นี้” นายวิสุทธิ์กล่าว

ชงคลังออกประกาศข้อยกเว้น

นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ที่รมว.คลังเป็นประธาน รับทราบปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว และได้มีการประชุมตั้งแต่เดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปว่า ให้กรมบัญชีกลางจัดทำร่างประกาศคณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการ บริหารพัสดุภาครัฐ เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างของรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวกับการพาณิชย์โดยตรง ตามมาตรา 7 (1) ของ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560

กรมบัญชีกลางได้ยกร่างระเบียบอยู่ระหว่างนำเสนอ รมว.คลังลงนาม จากนั้นจะมีเวลา 180 วัน ถึงเดือน พ.ค. 2561 ระหว่างนี้รัฐวิสาหกิจต้องไปจัดทำร่างระเบียบจัดซื้อจัดจ้างของตนเองเสนอให้ คณะกรรมการนโยบายฯเห็นชอบ และต้องนำระเบียบดังกล่าวเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) รัฐวิสาหกิจพิจารณาด้วย จากนั้นจึงประกาศบังคับใช้ได้ ถือเป็นการออกจาก พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ โดยสมบูรณ์

33 รสก.เฮ หลุด กม.จัดซื้อ

ล่าสุด เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2560 มา กรมบัญชีกลางได้เรียกรัฐวิสาหกิจ 33 แห่งที่ดำเนินกิจการเกี่ยวกับการพาณิชย์โดยตรงมาซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับ การปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าวแล้ว สาระสำคัญจะกำหนดว่า รัฐวิสาหกิจที่ทำการพาณิชย์โดยตรง โดยมีรัฐวิสาหกิจ 33 แห่งที่เข้าข่าย และจะจัดทำบัญชีแนบท้าย ใส่ชื่อรัฐวิสาหกิจเหล่านั้นไว้ พร้อมจัดหมวดหมู่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รัฐวิสาหกิจที่มีธุรกิจหรือกิจการเกี่ยวกับพาณิชย์โดยตรง มี บมจ.ปตท. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ บจ.กฟผ.อินเตอร์เนชั่นแนล การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค บจ.พีอีเอ เอ็นคอมฯ การไฟฟ้านครหลวง บมจ. อสมท บจ.ไปรษณีย์ไทย บมจ.ทีโอที บมจ.กสท โทรคมนาคม บมจ.การบินไทย บจ.ไทยสมายล์แอร์เวย์ บจ.วิทยุการบิน บจ.ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมฯ การยางแห่งประเทศไทย องค์การคลังสินค้า องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ โรงงานยาสูบ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล

องค์การ ตลาด บจ.อู่เรือกรุงเทพ องค์การเภสัชกรรม บจ.บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท บจ.บริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงไทย

จี้หน่วยงานรัฐซื้อสินค้าสีเขียว

นางสาวสุทธิรัตน์กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้ “สิทธิพิเศษ” ตามนโยบายที่รัฐบาลส่งเสริมอยู่แล้ว โดยออกกฎกระทรวงรองรับ ไม่ต้องผ่อนปรนอะไรอีก”

ขณะที่นางสุณีย์ ปิยะพันธุ์พงษ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า จะเสนอ ครม.พิจารณาปรับแก้ไขรายการสินค้าตามแผนส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและ บริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ระยะที่ 3 (2560-2564) โดยจะเพิ่มรายการสินค้าและบริการรวม 11 รายการ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าเครื่องใช้ในสำนักงาน เช่น กระดาษ เครื่องถ่ายเอกสาร แฟ้มเอกสาร เป็นต้น ให้สามารถจัดซื้อจัดจ้างด้วย “วิธีพิเศษ” ภายใต้ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ ด้วยการออกประกาศเพิ่มรายการสินค้าเหล่านี้เพิ่มเข้าไป จะช่วยให้สามารถลดมลพิษตั้งแต่ต้นทางการผลิต

ทั้งนี้ ราคาสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมีต้นทุนการผลิตที่สูงและมีราคาแพง เมื่อเทียบกับสินค้าในประเภทเดียวกัน รัฐจึงต้องส่งเสริมให้ผู้ผลิตเข้าถึงตลาดและแข่งขันในตลาดนี้เพิ่มมากขึ้น

ดึง รสก.-ท้องถิ่นร่วมโครงการ

นางสุณีย์กล่าวว่า แผนส่งเสริมฯดังกล่าวดำเนินการมาต่อเนื่องโดยช่วงปลายปี 2559 พบว่ามีหน่วยงานรัฐจัดซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมรวมทั้งสิ้น 773 แห่ง หรือร้อยละ 69.57 คิดเป็นมูลค่า 530 ล้านบาท ขณะที่มูลค่ารวมการจัดซื้อจัดจ้างหน่วยรัฐทั้งปีอยู่ที่ 11,500 ล้านบาท สามารถลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 53,000 ตัน สำหรับแผนส่งเสริมฯ ระยะที่ 3 นี้กำหนดเป้าหมายสำคัญชัดเจนว่า 1) ให้หน่วยงานรัฐทุกหน่วยงาน รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน มหาวิทยาลัย หน่วยงานในกำกับของรัฐ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการ 7-11 รายการ โดยมีเป้าปี 2560 จำนวน 7 รายการ และปี 2564 จะเพิ่มเป็น 11 รายการ 2) เพิ่มจำนวนหน่วยงานที่เข้าร่วมจัดซื้อจัดจ้าง และ 3) เพิ่มมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการ