ค่าเงินบาททรงตัว หลังเฟดประกาศปรับลดวงเงิน QE ตามที่ตลาดคาดการณ์

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 13 ธันวาคม-17 ธันวาคม 2564

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (13/12) ที่ระดับ 33.50/52 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพฤหัสบดี (9/12) ที่ระดับ 33.47/49 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐออกมาค่อนข้างดี โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค พุ่งขึ้น 6.8% ในเดือน พ.ย. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2525 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 6.7%

นอกจากนี้ ดัชนี CPI เพิ่มขึ้น 0.8% ในเดือน พ.ย. เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.7% ดัชนี CPI ได้รับแรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของราคาอาหารและพลังงาน ซึ่งทะยานขึ้นสูงสุดในรอบ 13 ปี เมื่อเทียบรายปี นอกจากนี้ ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนยังระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 70.4 ในเดือน ธ.ค. จากระดับ 67.4 ในเดือน พ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้แต่เดือน พ.ย. 2554 สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าดัชนีจะปรับตัวลงสู่ระดับ 67.1 โดยดัชนีได้รับแรงหนุนจากความเชื่อมั่นที่พุ่งขึ้นในกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ

ขณะที่กลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้สูงและปานกลางต่างมีความเชื่อมั่นลดลง ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐเป็นการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภค 500 รายต่อภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งได้แก่ สถานะการเงินส่วนบุคคล, ภาวะเงินเฟ้อ, การว่างงาน, อัตราดอกเบี้ย และนโยบายรัฐบาล ทั้งนี้ ในวันที่ 15 ธันวาคม คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติเป็นเอกฉันท์ในการคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 0.00-0.25% และจะเพิ่มการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เป็นเดือนละ 30,000 ล้านดอลลาร์ เริ่มตั้งแต่เดือน ม.ค. 2565 โดยการปรับลดวงเงิน QE ของเฟดจะเริ่มขึ้น 2 เท่าจากเดิมเดือนละ 15,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะส่งผลให้เฟดยุติการทำ QE ในเดือน มี.ค. 2565

นอกจากนี้ ในการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) เจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี 2565 และจำนวน 2 ครั้งในปี 2566 และอีก 2 ครั้งในปี 2567 ทั้งนี้ การประกาศคงอัตราดอกเบี้ยและการปรับลดวงเงิน QE สอดคล้องกับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ขณะเดียวกันเฟดได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในปีนี้ สู่ระดับ 5.5% ขณะที่ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของปี 2565 สู่ระดับ 4.0% และเฟดปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปี 2564-66 สู่ระดับ 5.3%, 2.6 และ 2.3% ตามลำดับ

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ธนาคารโลก (World Bank) ประจำประเทศไทย ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (GDP) ไทยในปี 2565 เป็น 3.9% จากเดิมที่คาดไว้ 3.6% ซึ่งเป็นการฟื้นตัวจากปี 2564 ที่คาดว่าจะเติบโตได้ราว 1.0% ก่อนที่ 2566 จะเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 4.3% ขณะที่คาดว่าเงินเฟ้อจะยังอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้

โดยเศรษฐกิจไทยในปี 2565 และ 2566 นั้น จะได้รับแรงขับเคลื่อนจากการฟื้นตัวของกิจกรรมภาคการบริการ การบริโภคภาคเอกชน และการท่องเที่ยวที่กลับมาเพิ่มขึ้น คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 7 ล้านคนในปี 2565 โดยจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงครึ่งหลังของปี และเพิ่มขึ้นอีกในปี 2566 เป็นประมาณ 20 ล้านคน หรือคิดเป็นครึ่งหนึ่งของระดับนักท่องเที่ยวในปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการเกิดวิกฤตโควิด ทั้งนี้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.29-33.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (17/12) ที่ระดับ 33.36/36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดในวันจันทร์ (13/12) ที่ระดับ 1.1309/12 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพฤหัสบดี (9/12) ที่ระดับ 1.1319/20 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ และสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในภูมิภาค หลังนายมาร์ติน เฮิร์สซ์ ผู้อำนวยการกลุ่มโรงพยาบาล AP-HP ในปารีสให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า ฝรั่งเศสอาจต้องเผชิญการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 6 เนื่องจากการอุบัติของไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนที่แพร่กระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดิม

ส่วนในขณะนี้ ฝรั่งเศสยังอยู่ในช่วงการระบาดระลอกที่ 5 ซึ่งมีสายพันธุ์เดลต้าเป็นสายพันธุ์หลักของการระบาด โดยธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันที่ 16 ธันวาคม ตามการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ ทั้งนี้ ที่ประชุม ECB มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรืออัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ที่ระดับ 0% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับ ECB ที่ระดับ -0.50%

ขณะเดียวกัน ECB ระบุว่า ทางธนาคารจะซื้อพันธบัตรวงเงิน 4 หมื่นล้านยูโร/เดือนภายใต้โครงการ Asset Purchase Programme (APP) ในไตรมาส 2 ของปี 2565 และลดวงเงินสู่ระดับ 3 หมื่นล้านยูโรในไตรมาส 3 ขณะที่คงวงเงินที่ระดับ 2 หมื่นล้านยูโร ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2565 และจะซื้อพันธบัตรนานเท่าที่จำเป็นเพื่อรักษาสภาพคล่องในตลาด

นอกจากนี้ ECB จะลดวงเงินซื้อพันธบัตรในโครงการ Pandemic Emergency Purchase Programme (PEPP) และจะยุติโครงการดังกล่าวในเดือน มี.ค. 2565 โดยระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบ 1.1225-1.1360 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (17/12) ที่ระดับ 1.1337/38 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดวันจันทร์ (29/1) ที่ระดับ 113.49/51 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพฤหัสบดี (9/12) ที่ระดับ 113.55/57 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ หลังสำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ว่า ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐานซึ่งไม่รวมเครื่องจกรสำหรับอุตสาหกรรมต่อเรือและสาธารณูปโภคไฟฟ้า ปรับตัวขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ทั้งนี้ ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐานในเดือน ต.ค. ปรับตัวขึ้น 3.8% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 2.1% เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มดีดตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งในไตรมาส 4/2564

โดยธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษ (Ultraloose Monetary Policy) ในการประชุมวันนี้ (17/12) ซึ่งรวมถึงการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.1% และคงเป้าหมายอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีไว้ที่ประมาณ 0% โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมอยู่ในระดับต่ำ เพื่อช่วยเหลือบริษัทเอกชนและภาคครัวเรือน ที่ประชุม BOJ ได้ตัดสินใจลดวงเงินในโครงการจัดหาเงินทุนสนับสนุนธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19

อย่างไรก็ดี โครงการดังกล่าวจะได้รับการขยายเวลาออกไปจนถึงเดือน ก.ย. 2565 จากเดิมที่จะสิ้นสุดลงในช่วงปลายเดือน มี.ค. 2565 สำหรับโครงการสนับสนุนเงินทุนของ BOJ ที่ริเริ่มเมื่อปีที่แล้วนั้น ประกอบด้วยการซื้อหุ้น (Corporate Bond) และตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะสั้น (Commercial Paper) ที่ออกโดยสถาบันการเงินขนาดใหญ่ และการจัดหาเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำให้กับสถาบันการเงินที่ขยายวงเงินกู้ให้กับบริษัทขนาดเล็กที่ประสบปัญหาด้านการเงิน ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 113.30-114.20 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (17/12) ที่ระดับ 113.49/50 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ