หุ้นกลุ่มการเงินในสหรัฐ โอกาสลงทุนรับดอกเบี้ยขาขึ้น

หุ้นเทคฯ สหรัฐ
สถานีลงทุน
สวภพ ยนต์ศรี บลจ.ทิสโก้

ในปี 2021 ที่กำลังจะจบลงไป ดูเหมือนว่าหุ้นกลุ่มที่สร้างผลตอบแทนได้ดีที่สุดในดัชนี S&P 500 ก็คือหุ้นกลุ่มที่ปรับตัวลดลงมากที่สุดในปี 2020 นั่นก็คือกลุ่ม energy กลุ่ม real estate และกลุ่ม financials ซึ่งหุ้นกลุ่มเหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นม้านอกสายตาในช่วงต้นปี แต่แล้วการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐ ที่เร็วมากกว่าที่คาด เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ

รวมถึงการเร่งฉีดวัคซีนที่ทำให้ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสดูเหมือนจะเริ่มลดลง ส่งผลให้เม็ดเงินลงทุนย้ายจากกลุ่ม growth ที่สร้างผลตอบแทนได้ดีในปี 2020 มายังกลุ่ม cyclicals ที่ผันแปรตามวัฏจักรเศรษฐกิจตามทิศทางของภาพการฟื้นตัว

ต่อเนื่องมาจนถึงช่วงปลายปี ภาพทิศทางของเศรษฐกิจสหรัฐยังเป็นภาพการฟื้นตัวหลังจากตัวเลขการจ้างงานเริ่มออกมาดี รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐต้องดำเนินนโยบายทางการเงินเข้มงวดมากขึ้น ทั้งการเร่งการลดวงเงิน QE ต่อเดือน และการขึ้นดอกเบี้ยที่เร็วขึ้น

และจากการประชุมธนาคารกลางสหรัฐครั้งสุดท้ายของปีในเดือนธันวาคมที่พึ่งจบลง ดูเหมือนทิศทางนโยบายของดอกเบี้ยสหรัฐในปี 2022 จะปรับเปลี่ยนมาเป็นขาขึ้นชัดเจน โดยมุมมองของคณะกรรมการ Fed ส่วนใหญ่เห็นว่า ควรปรับเพิ่มดอกเบี้ยขึ้น 3 ครั้งในปี 2022 เปลี่ยนจากทิศทางขึ้นดอกเบี้ยที่ไม่ชัดเจนในการให้ความเห็นในการประชุมเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา บวกเข้ากับการปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของอัตราเงินเฟ้อ ทำให้ภาพการลงทุนในปีหน้าน่าจะมีหุ้นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากสภาวะตลาดที่เกิดขึ้น นั่นก็คือกหุ้นกลุ่ม financials หรือกลุ่มการเงินในสหรัฐนั่นเอง

ซึ่งถ้าหากถามว่า ทำไมต้องเป็นกลุ่มการเงินในสหรัฐ คำตอบก็คือ หากมองไปที่การดำเนินนโยบายทางการเงินของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าประเทศอื่น ๆ ทั้งญี่ปุ่นและกลุ่มประเทศในทวีปยุโรปต่างก็ยังยืนยันว่าจะใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินโดยไม่มีทีท่าที่จะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยแต่อย่างใด

โดยเฉพาะธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB ที่นาง Christine Lagarde ประธาน ECB ได้ออกมาให้สัมภาษณ์หลังการประชุมเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ว่า จะยังคงไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2022 ที่จะถึงนี้อย่างแน่นอน ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐดูเหมือนจะเป็นธนาคารกลางเพียงแห่งเดียวที่แสดงท่าทีเข้มงวดนโยบายทางการเงิน หากไม่นับ BOE หรือธนาคารกลางอังกฤษที่ชิงประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปตั้งแต่การประชุมในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

โดยปกติแล้วหุ้นกลุ่มการเงินจัดอยู่ในกลุ่ม cyclicals หรือหุ้นกลุ่มที่ผันแปรตามวัฏจักรเศรษฐกิจ คือ ในช่วงที่เศรษฐกิจเป็นขาขึ้นหรือฟื้นตัว กลุ่มการเงินก็มักจะได้รับประโยชน์จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มากขึ้นตามไปด้วย รวมถึงการปล่อยสินเชื่อที่เป็นโอกาสสร้างรายได้ให้กับกลุ่มธนาคารก็มีโอกาสเติบโตและส่วนต่างของดอกเบี้ยที่มากขึ้น ซึ่งด้วนโยบายของ Fed ในปี 2022 รวมถึงภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ที่กำลังจะมาถึงนี้ กลุ่ม financials ในสหรัฐ น่าจะยังได้รับประโยชน์จากปัจจัยดังกล่าว

นอกจากนี้ อีกหนึ่งปัจจัยสนับสนุนของหุ้นกลุ่ม financials ที่หลายคนอาจจะหลงลืมไป ก็คือการขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธาน Fed ของนาย Jerome Powell ที่เอาชนะคู่แข่งคนสำคัญอย่างนาง Lael Brainard ได้นั้น แม้จะสร้างความผันผวนให้กับตลาดหุ้นในระยะสั้น เนื่องจากนาง Lael Brainard มีทิศทางในการดำเนินนโยบายที่ผ่อนคลายมากกว่านาย Jerome Powell ถึงแม้ทั้งคู่จะเป็นสาย Dovish หรือชอบใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำทั้งคู่ก็ตาม

แต่อีกสิ่งหนึ่งที่แตกต่างกันของทั้งคู่ก็คือนาง Lael Brainard ได้แสดงความเห็นอย่างชัดเจนว่า ธนาคารในสหรัฐควรถูกกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ควบคุมมากยิ่งขึ้น ต่างกับนาย Jerome Powell ที่เน้นไปที่การผ่อนคลายกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของภาคธนาคารในสหรัฐ ซึ่งทำให้ในปี 2022 หรือช่วงระยะเวลาอีก 4 ปีที่นาย Jerome Powell ยังคงดำรงตำแหน่ง ปัจจัยกดดันจากประเด็นการออกกฎเกณฑ์คุมเข้มต่าง ๆ กับภาคธนาคารน่าจะผ่อนคลายลง

อย่างไรก็ดี กลุ่ม financials สหรัฐ ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามองและระมัดระวังเป็นพิเศษ คือการเปลี่ยนนโยบายการเงินของ Fed หากอัตราเงินเฟ้อลดลงอย่างรวดเร็วหรือการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจจน Fed ต้องหันกลับมาใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินต่อ ก็อาจสร้างความผันผวนให้เกิดขึ้นกับกลุ่ม financials ได้

รวมถึงการที่อัตราการเติบโตของกำไรในปีนี้ของกลุ่ม financials สามารถเติบโตได้ดีจากฐานที่ค่อนข้างต่ำในปี 2020 ซึ่งในทางกลับกันฐานที่สูงในปี 2021 ก็อาจส่งผลให้อัตราการเติบโตในปี 2022 มีโอกาสที่จะชะลอลงได้

แต่สุดท้ายภาพการลงทุนในปี 2022 ที่จะมาถึงการกระจายการลงทุนมายังกลุ่ม financials ในสหรัฐ บ้างก็น่าจะถือเป็นโอกาสอันดีที่สอดคล้องกับภาพนโยบายดอกเบี้ยขาขึ้น รวมถึงพอร์ตการลงทุนที่มีหุ้นกลุ่ม growth ในสัดส่วนที่มากอยู่แล้ว ยิ่งสมควรที่จะกระจายการลงทุนมายังกลุ่ม financials เพื่อลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุนโดยรวมลง