“KBANK” ต่อจิ๊กซอว์ธุรกิจ ปักธงจีน…เชื่อม AEC+3

ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เข้าไปชิมลางทำธุรกิจในแดนมังกร “สาธารณรัฐประชาชนจีน” มาระยะหนึ่งแล้ว หวังใช้เป็นเวทีเชื่อมต่อไปสู่ตลาดอาเซียน

เป้าหมายก่อนหน้านี้คือ ยกระดับสู่ “อาเซียนแบงก์”

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด ทาง KBANK เพิ่งได้รับใบอนุญาต (ไลเซนส์) ให้ประกอบธุรกิจเป็น “ธนาคารพาณิชย์ท้องถิ่น” (LII) ของเมืองจีนได้

โดย “บัณฑูร ล่ำซำ” ประธานกรรมการ บินลัดฟ้าไปทำพิธีเปิดสำนักงานใหญ่ธนาคารกสิกรไทย (ประเทศจีน) ที่เมืองเสิ่นเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง เมื่อเร็ว ๆ นี้

เขาให้ภาพว่า ประเทศจีนมีทิศทางเศรษฐกิจที่ดี และการค้าเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งหลังจากพยายามมาหลายปี ธนาคารก็ได้รับไลเซนส์ธนาคารพาณิชย์ท้องถิ่นจากรัฐบาลจีนอย่างเป็นทางการ

Advertisment

“จีนจะทำให้เราเข้าถึงแหล่งความรู้มหาศาล ทั้งด้านเทคโนโลยี และการเชื่อมโยงโครงสร้างธุรกิจการเงินในอาเซียน ซึ่งเรามองโจทย์ใหญ่ในการสร้างตัวเชื่อมการค้าขายการลงทุนระหว่างประเทศ ในกลุ่ม “AEC+3″ (กลุ่มประเทศอาเซียน และจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) ซึ่งการเชื่อมโยงอาจไม่ใช่รูปแบบของสาขาอย่างในโลกเดิม แต่เป็นการเชื่อมด้วยระบบไอที ที่จะเปลี่ยนโฉมหน้าภาคการเงิน เช่น อาจจะไม่มีเงินสด ไม่มีสาขา มีแต่โทรศัพท์มือถือกับคอมพิวเตอร์” นายใหญ่ KBANK กล่าว

“พิพิธ เอนกนิธิ” กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย (ประเทศจีน) บอกว่า การเป็นธนาคารท้องถิ่นจะสามารถต่อยอดให้บริการลูกค้าธุรกิจ ในกลุ่ม AEC+3 ได้ เพราะการจะเข้าไปตั้งสาขาในทุกประเทศอาจจะไม่คุ้ม แต่หากทำแพลตฟอร์มเข้าไปแทนจะง่ายกว่าโดยใช้จีนเป็นฐานเชื่อมโยง

“KBANK ในจีน จะเป็นเหมือนแพลตฟอร์มแบบมาตรฐาน มีพร้อมทั้งระบบไอที โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เพื่อให้การทำงานในหลาย ๆ ประเทศง่ายขึ้น อย่างไรก็ดี ต้องขึ้นอยู่กับกฎระเบียบแต่ละประเทศด้วยว่าจะทำได้ช้าเร็วแค่ไหน” นายพิพิธกล่าว

นอกจากนี้ KBANK ยังมีแผนขยายแผนงานสู่ธุรกรรมรายย่อยในจีน เช่น ด้านการชำระเงิน เป็นต้น โดยตั้งเป้าหมายยื่นขอไลเซนส์ให้ได้ภายใน 2 ปีนี้

Advertisment

“จีนจะเป็นศูนย์กลางของโลก แบงก์จึงต้องตั้งฐานให้แน่นเพื่อจะสามารถต่อยอดงานต่าง ๆ ได้มากขึ้น อย่างเทคโนโลยีที่กลายเป็นเรื่องพื้นฐานของการทำธุรกิจ แบงก์ต้องพยายามสร้างคนที่มีความสามารถ และรู้ว่าจะนำมาใช้อย่างไร เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า” นายพิพิธกล่าว

และว่าการเป็นธนาคารท้องถิ่นจะทำให้ KBANK สามารถให้บริการลูกค้าบรรษัทได้อย่างครบวงจร ทั้งยังสามารถขยายสาขาหรือยกระดับสำนักงานตัวแทนเป็นสาขาได้รวดเร็วขึ้น

ปัจจุบัน KBANK มีสาขาและสำนักงานผู้แทนในจีน 6 แห่ง ได้แก่ สาขาเสิ่นเจิ้น (และสาขาย่อยหลงกั่ง) สาขาเฉิงตู สาขาเซี่ยงไฮ้ สาขาฮ่องกง สำนักงานผู้แทน นครปักกิ่ง และสำนักงานผู้แทน เมืองคุนหมิง โดยในปี 2561 แบงก์ตั้งเป้าสินเชื่อรวม 2 หมื่นล้านบาท หรือโตเฉลี่ย 15-20% จากปี 2560 ที่คาดว่าจะมีสินเชื่อรวม 1.5 หมื่นล้านบาท แบ่งสัดส่วนเป็น ธุรกรรมลูกค้าไทย 30% ลูกค้าจีน 60% และอีก 10% เป็นลูกค้าญี่ปุ่นและสหรัฐ

การรุกปักธงแดนมังกรรอบนี้ เป็นอีกก้าวสำคัญที่แบงก์สัญชาติไทยแห่งนี้ในการต่อจิ๊กซอว์ธุรกิจ เพื่อให้เข้าใกล้เป้าหมายการเป็น “Asian Bank” มากขึ้น แถมการขยับตัวรอบนี้ เป้าหมายกว้างขึ้นเป็น “AEC+3” อีกด้วย