อาคมเผย เพิ่มประสิทธิภาพเก็บรายได้-ขยายฐานภาษี สร้างความยั่งยืนการคลัง

อาคม รมว.คลัง
อาคม เติมพิทยาไพสิฐ

รมว.คลังเผยต้องเพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บรายได้-ขยายฐานภาษี สร้างความยั่งยืนทางการคลัง หลังวิกฤตโควิด 2 ปี ภาระการคลังพุ่ง ออก พ.ร.ก.กู้เงินเยียวยาโควิด

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ไทยมีภาระทางการคลังจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงที่ต้องจัดหาเงินกู้เพื่อนำมาใช้ช่วยเหลือเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของไวรัสโควิด-19

ดังนั้นสิ่งที่ต้องมองไปในอนาคตและมีการพูดถึงทั่วโลก ใน 2 ประเด็น คือ ความยั่งยืนทางการคลัง ซึ่งหมายถึงการเพิ่มประสิทธิภาพมาตรการทางการคลัง โดยช่วงที่ผ่านมามีการใช้เงินจำนวนมาก ดังนั้นจะต้องเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ในรัฐ และเรื่องของการขยายฐานภาษี

ทั้งนี้ กรอบกติกาของโลก ในเรื่องของนโยบายการคลังจะเปลี่ยนไป คือ เรื่องของการลดความเหลื่อมล้ำในการจัดเก็บภาษีระหว่างประเทศ เพราะยังมีความได้เปรียบเสียเปรียบ และความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นในประเทศยากจน ประเทศกำลังพัฒนา และประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ แม้ว่าจะมีกติกาของโลกในเรื่องของการเก็บภาษีซ้อนก็ตาม

ซึ่งกติกาใหม่เพื่อลดความเสียเปรียบด้านภาษี ขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD ได้ออกมาแล้วในปี 2564 ที่ผ่านมา

“กติกาโลกส่วนนี้ จะช่วยลดการเสียเปรียบลง หรือลดการกัดกร่อนทางภาษีให้มากยิ่งขึ้น เช่น ประเทศที่มีบริษัทข้ามชาติต่างๆ อาจมีการโยกย้ายรายได้ ไปจัดเก็บในประเทศของตนแทนที่จะเสียภาษีให้กับประเทศที่สร้างรายได้นั้นให้ ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในสมาชิก OECD จะมีทั้งส่วนที่ต้องปฏิบัติและมีการเจรจาเพื่อให้ไทยได้ประโยชน์จากกติกา และลดความซ้ำซ้อนในการจัดเก็บภาษี ซึ่งเป็นการสร้างความยั่งยืนภาคการคลังของไทยในอนาคต”

นอกจากนี้กระทรวงการคลังยังอยู่ระหว่างออกมาตรการภาษีเพื่อจูงใจ จาก venture capital ทั้งไทยและจากต่างชาติ ให้เข้ามาลงทุนในเอสเอ็มอี และ สตาร์ตอัพของไทย ที่รวมถึงภาคการเกษตร ซึ่ง venture capital จะมีส่วนสำคัญในการทำให้สตาร์ตอัพไทยมีความเข้มแข็งมากขึ้นโดยเฉพาะในช่วงของการเริ่มต้น ก่อนเติบโตและสามารถเข้าไประดมทุนผ่านตลาดทุน หรือ ตลาดหลักทรัพย์ได้

ทั้งนี้กระทรวงการคลังได้ให้ความสำคัญ และมีการหารือร่วมกับสภาดิจิทัลแห่งประเทศไทยต่อเนื่อง ซึ่งจะใช้มาตรการภาษีเข้ามาช่วยเพื่อให้เกิดการจับคู่กันระหว่างสตาร์ตอัพ และผู้มีเงิน หรือ กองทุนร่วมลงทุน หรือ venture capital

นายอาคมกล่าวด้วยว่า ในช่วง 10 ข้างหน้ายังมีประเด็นที่ต้องใช้กันพิจารณาเพื่อให้เกิดความยั่งยืนทางเศรษฐกิจในอนาคต พร้อมทิ้งท้ายว่า ไทยยังไม่ผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 จึงยังจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุุกภาคส่วนในการป้องกันการแพร่ระบาด และไม่ให้เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบมากไปกว่านี้ แต่อย่างไรก็ดี หากดูจากดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจหลายๆตัวขณะนี้ พบว่า ดีขึ้นโดยลำดับ จึงมั่นใจว่าเศรษฐไทยในปี’65 จะขยายตัวได้ 3.5% – 4.5%