เครือไทยโฮลดิ้งส์ ปี’64 ขาดทุน 3,360 ล้านบาท พิษกรมธรรม์ “เจอจ่ายจบ”

อาคเนย์

เครือไทยโฮลดิ้งส์ ธุรกิจประกันและการเงินของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ผลประกอบการปี’64 ขาดทุนสุทธิ 3,360 ล้านบาท เซ่นพิษกรมธรรม์โควิด “เจอจ่ายจบ” ของบริษัทย่อย “อาคเนย์ประกันภัย-ไทยประกันภัย” เผย ม.ค. 65 ผู้ถือหุ้นใหญ่ใส่เงินทุนอีก 300 ล้านบาท

วันที่ 1 มีนาคม 2565 นายโชติพัฒน์ พีชานนท์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เครือไทยโฮลดิ้งส์ (TGH) เปิดเผยว่า ผลประกอบการของกลุ่ม TGH ของปี 2564 มีผลขาดทุนสุทธิ 3,360 ล้านบาท ได้รับผลกระทบอย่างมีสาระสำคัญจากการดำเนินงานของธุรกิจประกันวินาศภัย 2 แห่งคือ อาคเนย์ประกันภัย (SEIC) และไทยประกันภัย (TIC) ซึ่งได้รับผลกระทบจากการออกขายกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ประเภทเจอจ่ายจบ

โดย TIC ได้ออกกรมธรรม์โควิด-19 เจอจ่ายจบครั้งแรกในปี 2563 เพื่อให้ความคุ้มครองแก่แพทย์และบุคลากรสาธารณสุขที่ได้เสียสละอย่างมากในการเสี่ยงภัยต่อการติดเชื้อโรคระบาดเพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด

โดยเชื้อโควิดได้กลายพันธุ์หลายครั้งตั้งแต่ปี 2563 จากสายพันธุ์ดั้งเดิมเป็นสายพันธุ์เบต้า อัลฟ่า เดลต้า และโอมิครอน ที่มีการอัตราการแพร่ระบาดรวดเร็ว แต่มีความรุนแรงของโรคน้อยลง และมียอดผู้ติดเชื้อรายวันที่สูงมากขึ้นกว่าสายพันธุ์เดลต้า จัดเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ไม่นิ่งและอยู่นอกเหนือการคาดการณ์ จึงส่งผลกระทบอย่างมากต่อภาระค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์โควิดเจอจ่ายจบ

ซึ่งบริษัทได้พยายามอย่างเต็มที่ในการแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานด้วยการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นใหญ่และคณะกรรมการบริษัท ดังเหตุการณ์ที่สำคัญต่อไปนี้

– ไตรมาส 1-2 ของปี 2564 จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด เฉลี่ยต่อวันพุ่งขึ้นจากปลายปี 2563 จาก 90 คน เป็น 3,300 คน ณ เดือน มิ.ย.

– ไตรมาส 2 ของปี 64 TIC และ SEIC หยุดขายกรมธรรม์เจอจ่ายจบ

– ไตรมาส 3 ของปี 2564 แยกเป็น 1.บริษัทประกันภัยแห่งหนึ่งใช้สิทธิตามสัญญาของกรมธรรม์ประกันภัยในการยกเลิกกรมธรรม์เจอจ่ายจบ เพราะความเสี่ยงเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ ณ 16 ก.ค. 2564 สำนักงาน คปภ.ออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 เรื่องให้ยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัย
โดยบริษัทในกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 โดยให้มีผลย้อนหลังไปยังกรมธรรม์ที่บริษัทได้ออกก่อนวันที่มีคำสั่งด้วย

2.ยอดผู้ติดเชื้อเฉลี่ยต่อวัน เพิ่มขึ้นถึง 20,000 คน

3.บริษัท Private ในกลุ่ม TCC ได้แสดงความจำนงขอซื้อหุ้นของ TIC จาก TGH เพื่อจะสนับสนุนด้านการเงินสำหรับภาระตามกรมธรรม์ของธุรกิจประกันวินาศภัยทั้งหมดของ TIC และภาระบางส่วนของ SEIC ในวงเงินเบื้องต้นจำนวน 7,000 ล้านบาท (รายละเอียดตามการเปิดเผยต่อตลาดหลักทรัพย์ 27 ก.ย. 2564)

– ไตรมาส 4 ของปี 2564 แยกเป็น 1.บริษัท Private ในกลุ่ม TCC ในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ TIC ได้ให้ความสนับสนุนทางการเงินแก่ TIC เพื่อจ่ายสินไหมกรมธรรม์โควิดของ SEIC ตามสัญญาประกันภัยต่อและกรมธรรม์ของ TIC เองรวมแล้วเป็นจำนวนเงิน 9,600 ล้านบาท

2.ยอดผู้ติดเชื้อโควิดเฉลี่ยต่อวันลดลงมาอยู่ที่เฉลี่ย 3,400 คน ก่อนจะเกิดการระบาดของโอมิครอน

โดยสรุป ค่าใช้จ่ายสินไหมทดแทนกรมธรรม์โควิด-19 ของ SEIC และ TIC ที่เกิดขึ้นแล้วในปี 2564 มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 10,907 ล้านบาท โดยที่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ได้ให้การสนับสนุนทางการเงินในปี 2564 รวม 9,600 ล้านบาท รวมถึงในเดือน ม.ค. 2565 ผู้ถือหุ้นใหญ่มีการสนับสนุนทางการเงินเพิ่มเติมอีก 300 ล้านบาท รวมเป็นสนับสนุน 9,900 ล้านบาท

ซึ่งหากไม่ได้รับการสนับสนุนดังกล่าว ยอดรวมค่าสินไหมที่เกิดขึ้นจะส่งผลให้ผลประกอบการของ TGH ขาดทุนสูงกว่า 10,000 ล้านบาท และอาจส่งผลให้ SEIC และ TIC ไม่สามารถที่จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยได้ตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2564 เป็นต้นมา

โดยได้มีการสำรองความเสี่ยงภัยที่ยังไม่สิ้นสุด จากประมาณการค่าสินไหมของกรมธรรม์โควิดของ SEIC ที่จะเกิดขึ้นหลังจาก 31 ธ.ค. 2564 จนสิ้นสุดความคุ้มครองของกรมธรรม์ จำนวน 3,412 ล้านบาท

ทั้งนี้การดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจอื่น ทั้งประกันชีวิต และธุรกิจการเงิน มีผลการดำเนินงานที่ดี โดยมีรายงานผลกำไรสุทธิ 665 ล้านบาท และ 640 ล้านบาท ตามลำดับ

ธุรกิจประกันชีวิต มีผลการดำเนินงานกำไรสุทธิ 665 ล้านบาท ลดลงจากปีที่ผ่านมาเล็กน้อยจากรายได้เงินลงทุน ในภาพรวมของธุรกิจยังคงมีการขยายตัวของเบี้ยประกันชีวิตรับอย่างต่อเนื่อง โดยมีส่วนแบ่งการตลาดของเบี้ยประกันชีวิตรับรายใหม่ขึ้นมาอยู่อันดับที่ 7 ของอุตสาหกรรมฯ การรักษาอัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์ในอัตราที่สูงกว่าอุตสาหกรรม การควบคุมต้นทุนการได้มาและการควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

ธุรกิจการเงิน มีผลการดำเนินงานเป็นกำไรสุทธิ 640 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 309 ล้านบาท โดยมีกำไรจากการขายสินทรัพย์ให้เช่าตามสัญญาเช่าดำเนินงานเพิ่มขึ้นจำนวน 224 ล้านบาท การบริหารจัดการด้านการขายรถเช่าที่หมดสัญญาได้อย่างดีเยี่ยม แม้ทางการตลาดจะได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องจากโควิด การบริหารต้นทุนทางการเงินที่ต่ำลงจากการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมตามอัตราตลาดจำนวน 97 ล้านบาท และมีการควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด