LH BANK เล็งโตสินเชื่อ 6-7% รุก “รายย่อย-SMEs-เสริมพันธมิตร” ปั้นมาร์จิ้น

เงินบาท

ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ หรือ LH Bank กางแผนธุรกิจปี 2565 ปรับโครงสร้างพอร์ตสินเชื่อ รุกธุรกิจรายย่อย-รายกลาง แสวงหายีลด์ หวังขยับพอร์ตเพิ่ม 2-3% ลุยหาลูกค้าบ้าน-เอสเอ็มอีต่างจังหวัด ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อโต 6-7% เผยทำดิวดิลิเจนซ์ต่อยอดการเติบโต คาดไตรมาส 2/65 ชัดเจน

วันที่ 3 มีนาคม 2565 นางสาวชมภูนุช ปฐมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH Bank กล่าวว่า แผนการดำเนินธุรกิจในปี 2565 ธนาคารจะมุ่งเน้นการเติบโตจากภายใน และการเติบโตจากภายนอก (Inorganic Growth) โดยการเติบโตจากภายในจะเน้นขยายธุรกิจไปในกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น (High Yield) เช่น กลุ่มลูกค้ารายย่อยและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เนื่องจากที่ผ่านมาธนาคารจะเน้นการเติบโตลูกค้าขนาดใหญ่ ซึ่งทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ย (Margin) ค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับกลุ่มลูกค้าอื่น

ชมภูนุช ปฐมพร

ดังนั้น กลยุทธ์การขยายสินเชื่อในปีนี้ ธนาคารตั้งเป้าเติบโตอยู่ที่ 6-7% โดยจะเน้นเป็น 3-4 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ 1.สินเชื่อรายย่อย จะเห็นว่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยในปีที่ผ่านมาทำได้ค่อนข้างดี มีอัตราการเติบโต 20% โดยปีนี้ธนาคารจะขยายตลาดไปต่างจังหวัดและหัวเมืองใหญ่ เนื่องจากที่ผ่านมาทำสินเชื่อเฉพาะในกรุงเทพฯ และเจาะกลุ่มลูกค้าระดับบนราคาบ้าน 5 ล้านบาทขึ้นไป แต่ปีนี้จะเจาะกลุ่มระดับกลางมากขึ้น คาดว่าสินเชื่อน่าจะเติบโตได้ 20%

นอกจากนี้กลุ่มลูกค้าบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) ธนาคารได้มีการปรับรูปแบบสาขาให้เหมาะสม โดยจะมีลูกค้าสัมพันธ์ (RM) คอยแนะนำลูกค้า ซึ่งธนาคารตั้งเป้าปรับเปลี่ยนรูปแบบสาขาในปีนี้เพิ่มอีก 7 แห่ง รวมถึงพัฒนสินเชื่อดิจิทัลเลนดิ้งที่จะช่วยขยายพอร์ตสินเชื่อรายย่อย คาดว่าน่าจะเริ่มได้ในช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ตลอดจนบริการแอปพลิเคชั่น Profita เพื่อสนับสนุนการซื้อ-ขาย-สับเปลี่ยนกองทุนที่รองรับคำสั่งได้ตลอด 24 ชั่วโมง มาพร้อมฟีเจอร์มากมายช่วยให้ลงทุนได้อย่างรวดเร็วทันสถานการณ์ จากปัจจุบันธนาคารมีฐานลูกค้าโมบายแบงกิ้ง 2 แสนราย

2.กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่-กลาง โดยที่ผ่านมาจะเน้นธุรกิจรายใหญ่ (Big Corporate) ทำให้ Margin บาง ปีนี้จะเน้นขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มซัพพลายเชนลูกค้ารายใหญ่ และ 3.ธุรกิจเอสเอ็มอี จะเห็นว่ามีความต้องการสินเชื่อต่อเนื่อง ธนาคารจะมุ่งขยายไปต่างจังหวัด จากเดิมทำเฉพาะในกรุงเทพฯ โดยผ่านศูนย์บริการลูกค้าที่มีอยู่ 9 แห่งทั่วประเทศ

ขณะที่ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ (Trade Finance) ปีนี้จะเน้นนำดิจิทัลเข้ามาช่วยให้ลูกค้ากลุ่มเอสเอ็มอีเข้าถึงบริการได้ง่ายขึ้น โดยปีนี้ตั้งเป้าเติบโตประมาณ 30% หรือคิดเป็นวงเงินสินเชื่อได้ราว 3,000 ล้านบาท อย่างไรก็ดี ประเด็นความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน มองว่า กระทบต่อธุรกรรมของลูกค้าเทรดไฟแนนซ์ธนาคารค่อนข้างน้อย และส่งผลต่อประเทศไทยจะไม่สูงมาก เพราะมีการนำเข้า-ส่งออกจากรัสเซียประมาณ 1.2 พันล้านบาทต่อปี แต่อาจจะกระทบในเรื่องของต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น

ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ธนาคารยังคงให้ความระมัดระวังในการบริหารความเสี่ยงให้รัดกุม โดยเน้นกลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโต รวมถึงช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ต่อเนื่อง คาดว่าหนี้เสียจะอยู่ในกรอบบริหารจัดการได้ที่ระดับ 3% จากปีก่อนอยู่ที่ 2.44%

“ที่ผ่านมาลูกค้าเราส่วนใหญ่เป็นลูกค้าขนาดใหญ่ทำให้อัตราผลตอบแทนค่อนข้างบาง ซึ่งการลงมาที่ระดับกลางและรายย่อยมากขึ้นจะทำให้รายได้เราสูงขึ้น โดยจะต่อยอดไปที่ซัพพลายเชนของกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ ซึ่งจะเป็นการปรับโครงสร้างพอร์ตสินเชื่อรวมของธนาคารเพื่อให้มีผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น โดยจะทำให้กลุ่มรายย่อยและเอสเอ็มอีมีสัดส่วนพอร์ตขยับเพิ่มขึ้น 2-3% จากตอนนี้เอสเอ็มอีมีสัดส่วน 15% เพิ่มเป็น 16% และขนาดสินทรัพย์โดยรวมจจะเติบโตราว 7%”

นางสาวชมภูนุช กล่าวต่อไปว่า สำหรับการเติบโตจากภายนอก หรือ Inorganic Growth ธนาคารจะเน้นขยายพันธมิตรเพื่อต่อยอดการเติบโตและขยายฐานลูกค้าให้กว้างมากขึ้น โดยในปีที่ผ่านมาธนาคารได้มีการพูดคุยกับพันธมิตร โดยได้ทำการสอบทานธุรกิจ หรือ Due Diligences คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในปลายไตรมาสที่ 2/65 นี้

นายฉี ชิง-ฟู่ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ LHFG กล่าวว่า สำหรับเป้าหมายการขยายฐานลูกค้าไต้หวันนั้น ธนาคารวางแผน 5 ปี ตั้งเป้าจะมีลูกค้าไต้หวันเข้ามาใช้บริการธนาคาร LH Bank ประมาณ 500 บริษัท หรือประมาณ 10% จากกลุ่มลูกค้าไต้หวันที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในไทย และกลุ่มลูกค้าบุคคล ที่มีอยู่ประมาณ 5,000 บริษัท

ด้านนายมนรัฐ ผดุงสิทธิ์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด หรือ LH Fund กล่าวว่า ปี 2565 บริษัทยังคงเน้นการเติบโตของสินทรัพย์โดยการเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่แบบ Asset Allocation มากกว่าที่จะเน้นเป็นรายสินทรัพย์ (Single Asset) เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่มีพฤติกรรมการลงทุนไม่เหมือนกัน รวมทั้งการเพิ่มฐานลูกค้าประเภทสถาบัน และเน้นกลุ่มลูกค้า Ultra High Net Worth รวมถึงเพิ่มช่องทางการจำหน่ายรูปแบบใหม่ ๆ ผ่าน Digital Platform เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า และสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้มากขึ้น

ภาพรวมการบริหารจัดการกองทุนในปี 2564 บริษัทมีขนาดกองทุนที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการ นับรวมกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) มีมูลค่าประมาณ 63,851 ล้านบาท เติบโตประมาณ 10% สำหรับกองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) มีขนาดกองทุน 9,418 ล้านบาท เติบโตประมาณ 12% ส่วนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) มีขนาดกองทุน 5,808 ล้านบาท เติบโตประมาณ 56%

ฉี ชิง-ฟู่

นายกานต์ อรรถธรรมสุนทร กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH Securities กล่าวว่า ปี 2565 บริษัทยังคงมุ่งเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืนภายใต้การสนับสนุนของกลุ่มธุรกิจทางการเงินแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ และจากเครือข่ายความเชี่ยวชาญระดับโลกของ CTBC Bank รวมถึงการสร้างฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ควบคู่กับการพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุน การเพิ่มช่องทางบริการผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล เช่น การเปิดบัญชีและยืนยันตัวตนแบบออนไลน์ การขยายลูกค้าในกลุ่ม Mass ที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่เติบโตอย่างโดดเด่นในตลาดการเงินของไทย

ปี 2564 เป็นอีกหนึ่งปีที่ถือได้ว่าเราประสบความสําเร็จในหลายด้าน โดยเฉพาะการพัฒนาระบบนิเวศทางธุรกิจใหม่ๆ (Ecosystems) เช่น บริการจองหุ้นเพิ่มทุนออนไลน์ (E-RO) บริการวางหลักประกันผ่าน QR Payment เป็นต้น