FETCO ชี้หุ้นไทยแข็งแกร่ง “รัสเซีย-ยูเครน” กระทบไม่หนัก คงเป้าทั้งปี 1,800 จุด  

หุ้น

สภาธุรกิจตลาดทุนไทย ชี้ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น 20.4% จากเดือนก่อนหน้า นักลงทุนคาดหวังเงินทุนไหล ขณะที่ยังกังวลความขัดแย้งระหว่างประเทศ – เฟดขึ้นดอกเบี้ย  เชื่อมั่นหุ้นไทยแข็งแกร่ง กระทบไม่รุนแรงคงเป้าดัชนีทั้งปี 1,800 จุด  

วันที่ 7 มีนาคม  2565 นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือน ก.พ. 65 พบว่าดัชนีในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 113.03 ปรับตัวขึ้น  20.4% จากเดือนก่อนหน้าแต่ยังอยู่ในเกณฑ์ทรงตัว (Neutral)  โดยนักลงทุนคาดหวังเงินทุนไหลเข้าเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด

รองลงมาคือความคาดหวังต่อการคลี่คลายสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย—ยูเครน และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจใน  ขณะที่สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ เป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นที่มีต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด  รองลงมาคือความไม่แน่นอนเรื่องนโยบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FED และสถานการณ์เศรษฐกิจยูโรโซน

โดยผลสำรวจ ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2565 รายกลุ่มนักลงทุน พบว่าความเชื่อมั่นนักลงทุนบุคคลปรับลด 25.6% อยู่ที่ระดับ 90.53 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับเพิ่ม 18.7% อยู่ที่ระดับ 128.57 กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ ปรับลด 24.4% อยู่ที่ระดับ 94.44 และความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนต่างชาติปรับเพิ่ม 185.7% มาอยู่ที่ระดับ 142.86

ในช่วงเดือน ก.พ. 65 SET Index ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนม.ค.ก่อนหน้าโดยได้รับอานิสงส์จากเม็ดเงินทั่วโลกเตรียมจะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นเกิดใหม่ ทำให้มีต่างชาติซื้อสุทธิในเดือนกุมภาพันธ์ 61,336 ล้านบาท และตั้งแต่ต้นปี 65 ต่างชาติซื้อสุทธิรวม 75,570 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ดัชนีมีการปรับตัวลงแรงช่วงปลายเดือน หลังได้รับผลกระทบจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่กลับมาเพิ่มสูงขึ้นมาก จนภาครัฐต้องประกาศยกระดับการเตือนภัยโควิด-19 เป็นระดับที่ 4 จากทั้งหมด 5 ระดับ รวมถึงได้รับผลกระทบจากความกังวลต่อสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่งผลให้ SET Index ณ สิ้นเดือนก.พ.65 ปิดที่ 1,685.18 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียง 2.2%   จากเดือนก่อนหน้า

ปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ สถานการณ์ความขัดแย้งในรัสเซีย—ยูเครนและมาตรการตอบโต้ด้านการค้าและการเงินของสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ซี่งจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและกระทบเรื่องอัตราเงินเฟ้อจากราคาพลังงาน โดยเฉพาะในกลุ่มยูโรโซนซึ่งมีการ
พึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย

นอกจากนี้ ความชัดเจนในการขึ้นดอกเบี้ยของ FED และการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนโดยเฉพาะในเอเชีย ซึ่งมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นสูงมาก อาทิ เกาหลี ญี่ปุ่น และไทย ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่น่าติดตาม ในส่วนของปัจจัยในประเทศได้แก่ การรับมือของภาครัฐต่อจ านวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธ์โอมิครอนนโยบายการเปิดรับนักท่องเที่ยวในระยะถัดไปและผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนสำรหับมุมมอง

ไพบูลย์ นลินทรางกูร
ไพบูลย์ นลินทรางกูร

นายไพบูลย์   กล่าวเพิ่มเติมว่า จากเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามาในตลาดหุ้นไทยในปีนี้ที่คาดว่าทั้งปีจะสูงมาก จากที่เคยคาดว่าไว้ว่าน่าจะมีเงินไหลเข้าเดือนละ 10,000 ล้านบาท แต่ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมามีเงินทุนไหลเข้ามาซื้อสุทธิหุ้นไทยแล้ว 75,570 ล้านบาท  ฉะนั้นเชื่อว่าทั้งปีจะมีเงินทุนไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง จึงมองว่าสถาการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน จะไม่กระทบตลาดหุ้นไทยรุนแรงมากนัก และเชื่อว่าความขัดแย้งระหว่างประเทศน่าจะใกล้จบลงเต็มที่แล้วเนื่องจากหากความขัดแย้งยิ่งยืดเยื้อ จะยิ่งส่งผลเสียต่อรัสเซียมากขึ้นเท่านั้น

นอกจากนี้มองว่าตลาดหุ้นไทยยังคงมีความแข็งแกร่งและเป็นขาขึ้น โดยปัจจัยที่จะทำให้ตลาดหุ้นไทยเป็นขาขึ้นมาจาก ภาพเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดีขึ้นกว่าที่ที่แล้ว รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากทางภาครัฐและการเลือกตั้งใหม่ที่อาจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้  บวกกับเงินทุนต่างชาติที่ยังไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง แต่ต้องอยู่บนราคาพลังงานที่ไม่สูงมากเกินไป โดยยังคงมุมมองดัชนีหุ้นไทย (SET INDEX) ทั้งปีไว้ที่ 1,800 จุด แต่ระยะสั้นอาจมีความผันผวนอยู่บ้างจึงประเมินค่อนข้างยาก