วิกฤตยูเครน คาดการณ์เฟดขึ้นดอกเบี้ย หนุนดอลลาร์แข็ง

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 8 มีนาคม 2565

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (8/3) ที่ระดับ 33.03/06 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (7/3) ที่ระดับ 32.92/95 บาท ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน

โดยสำนักข่าวอินเทอร์แฟกซ์ของรัสเซียรายงานว่า ตัวแทนจากยูเครนและรัสเซียได้เจรจาสันติภาพรอบที่ 3 เพื่อหาทางออกต่อวิกฤตการณ์ในยูเครนเมื่อคืนวานนี้ แต่ยังไม่มีความคืบหน้าที่มีนัยสำคัญ ทางการยูเครนเปิดเผยว่า การเจรจาดังกล่าวให้ “ผลลัพธ์ในทางที่ดี” โดยมุ่งเน้นในเรื่องการอพยพพลเมืองออกจากเมืองที่ถูกโจมตี แต่ทางฝ่ายรัสเซียเปิดเผยว่า การเจรจาดังกล่าว “ไม่เป็นไปตามความคาดหวัง” ทั้งนี้ในการเจรจารอบที่สองก่อนหน้านี้ ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงสร้างเส้นทางอพยพที่เรียกว่าระเบียงมนุษยธรรม (Humanitarian Corridors) เพื่อให้พลเมืองในเมืองต่าง ๆ ของยูเครนสามารถเดินทางอพยพได้ อย่างไรก็ดี ข้อตกลงดังกล่าวยังไม่ได้มีการดำเนินการจริง

ขณะที่แต่ละฝ่ายกล่าวโทษกันเองว่าอีกฝ่ายละเมิดข้อตกลงนี้ โดยนักวิเคราะห์จากยูบีเอสกล่าวว่า สงครามที่ยืดเยื้อระหว่างรัสเซียและยูเครนยังคงเป็นปัจจัยหนุนแรงซื้อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นสกุลเงินปลอดภัย นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้รับปัจจัยบวกจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมนโยบายการเงินวันที่ 15-16 มี.ค. ซึ่งเป็นการประชุมครั้งที่ 2 ในปีนี้ โดยนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด ส่งสัญญาณว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในเดือนนี้ ซึ่งไม่รุนแรงเหมือนกับที่นักวิเคราะห์บางรายคาดว่าจะปรับขึ้น 0.50%

ทั้งนี้ตลาดจับตาตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรการวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ซึ่งจะมีการเปิดเผยในวันพฤหัสบดี ก่อนที่เฟดจะจัดการประชุมนโยบายการเงิน ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.03-33.19 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.16/19 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (8/3) ที่ระดับ 11.0854/56 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (8/3) ที่ระดับ 1.0852/53 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยสถาบันวิจัย Sentix ของเยอรมนี เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของนักลงทุนในยูโรโซนร่วงลงในเดือน มี.ค. โดยได้รับแรงกดดันจากวิกฤตความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมถึงผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของนักลงทุนร่วงลงแตะที่ระดับ -7.0 ในเดือน มี.ค. จากระดับ 16.6 ในเดือน ก.พ. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2563

นอกจากนี้สำนักข่าวรอยเตอร์สเปิดเผยร่างแถลงการณ์ของสหภาพยุโรป (EU) ระบุว่า เหล่าผู้นำ EU จะประกาศการเห็นชอบเรื่องลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมัน, ก๊าซ และถ่านหินของรัสเซีย ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนด้านนโยบายที่มีต่อรัสเซียจากผลพวงของการรุกรานยูเครน ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0849-1.0905 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0902/03 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (8/3) ที่ระดับ 115.54/55 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (7/3) ที่ระดับ 115.50/52 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ผลสำรวจของสำนักคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นแสดงให้เห็นในวันนี้ว่า ความเชื่อมั่นทางธุรกิจของชาวญี่ปุ่นที่ประกอบอาชีพที่มีความอ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจนั้น ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ในเดือน ก.พ.

เนื่องจากยังคงมีความจำกัดกิจกรรมเศรษฐกิจท่ามกลางการพุ่งขึ้นอีกครั้งของยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 โดยตัวเลขความเชื่อมั่นที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันนั้น ขยับลง 0.2 จุด แตะที่ 37.7 ในเดือน ก.พ. หลังร่วง 19.6 จุดในเดือน ม.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. ปี 2554 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 115.26-115.58 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 115.56/57 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ GDP ไตรมาส 4/64 ยูโรโซน (8/3), ตำแหน่งงานว่างเปิดใหม่สหรัฐ เดือน ก.พ. (9/3), อัตราดอกเบี้ยนโยบายยูโรโซน (10/3), ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานสหรัฐ เดือน ก.พ. (9/3), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐเดือน ก.พ.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (10/3)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -0.5/+0.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +0.0/+2.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ