วิกฤต “ยูเครน” กดดันหนี้เสียพุ่ง S&P หั่นเรตติ้ง 4แบงก์ ส่อกระทบกำไร

เงินบาท สงคราม รัสเซีย ยูเครน

โบรกฯประเมิน 4 แบงก์ไทย “ไทยพาณิชย์-กสิกรไทย-กรุงไทย-ทีทีบี” ส่อกำไรลด 0.4-1.2% หลักถูก “เอสแอนด์พี” หั่นเครดิตเรตติ้ง ชี้มาจากปัญหา “หนี้ครัวเรือน” ที่อยู่ระดับสูง แถมครัวเรือนไทยยังมีความเสี่ยงหนี้พุ่งจากผลกระทบสงคราม “รัสเซีย-ยูเครน” ยืดเยื้อ “บล.เอเซีย พลัส” ชี้แบงก์อาจมีผลกระทบด้านต้นทุนจนต้องขึ้นดอกเบี้ย-ฉุดกำไร ฟาก “ThaiBMA” ชี้ต้นทุนออกหุ้นกู้ขยับขึ้นกดดันกำไรแบงก์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า S&P Global Ratings สถาบันจัดอันดับเครดิตระดับโลก ได้ประกาศปรับลดอันดับเครดิต (downgraded) ธนาคารพาณิชย์ไทย 4 แห่งด้วยกัน คือ

1.ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB)

2.ธนาคารกสิกรไทย (KBANK)

3.ธนาคารกรุงไทย (KTB)

และ 4.ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB)

โดย S&P มองว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงเชิงระบบ (systematic risk) สูงขึ้น จากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังเปราะบาง ขณะที่หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง

S&P

ประกอบกับความขัดแย้งของรัสเซียและยูเครน ซึ่งคาดว่าหนี้เสีย (NPL) จะเพิ่มขึ้นใน 24 เดือนข้างหน้า อย่างไรก็ดี ในภาพรวมระบบธนาคารพาณิชย์ไทย S&P มองว่า ยังมีความมั่นคงและมีเสถียรภาพที่ดีจากเงินสำรองที่อยู่ในระดับสูง ส่วนอันดับเครดิตของประเทศไทยก็ยังคงที่

นายภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า การปรับลดอันดับเครดิตโดย S&P ในครั้งนี้ มีสาเหตุหลักมาจากความเสี่ยงทางเศรษฐกิจของประเทศไทยที่กลับมาเปราะบางอีกครั้ง เนื่องจากมีปัจจัยภายนอกจากสถานการณ์ที่ยืดเยื้อของวิกฤตสงครามรัสเซียกับยูเครนเข้ามากระทบ ซึ่งส่งผลทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง และอาจจะส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวของไทยให้ชะลอตัวลง จากภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้เป็นความเสี่ยงที่อาจส่งผลให้หนี้เสียของธนาคารมีโอกาสเพิ่มขึ้นไปที่ระดับ 5% จากปัจจุบันอยู่ที่ 3%

“มาตรการภาครัฐที่ช่วยเหลือลูกหนี้ ทาง S&P มองว่าเป็นการช่วยชะลอหรือช่วยได้แค่ชั่วคราวเท่านั้น เพราะสุดท้ายเมื่อมีความเสี่ยงด้านอื่น ๆ เข้ามา NPL ก็มีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้น ซึ่งเมื่อธนาคารถูกปรับลดเครดิต ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับธนาคาร คือต้นทุนหุ้นกู้ของธนาคารมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นตามไปด้วย โดยอัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้นทุก ๆ 0.25% จะกดดันการประมาณการกำไรปี 2565 ของ SCB ที่จะลดลง ประมาณ 0.4% KBANK ลดลง 0.5% ส่วน KTB และ TTB จะลดลงประมาณ 1.2%”

นายภราดรกล่าวว่า การประมาณการตัวเลขการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยก็มีโอกาสถูกปรับลดลง เนื่องจากการถูกปรับลดอันดับเครดิตของแบงก์ สะท้อนถึงเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้าลง ซึ่งเมื่อ GDP ลดลง หุ้นกลุ่มธนาคารก็จะถูกกดดันตามไปด้วย จึงทำให้หุ้นกลุ่มธนาคารในระยะสั้นค่อนข้างจะอ่อนแอและผันผวน

“หากย้อนกลับไปดูในอดีตช่วงปี 2540 ที่มีการปรับลดเครดิตเรตติ้งของประเทศไทยลงมา 1 ขั้น จะกดดันหุ้นกลุ่มธนาคารในระยะสั้นให้ปรับลงมาประมาณ 35% แต่หลังจากนั้นภายใน 1-2 สัปดาห์ก็จะค่อย ๆ ทยอยฟื้นตัว อย่างไรก็ตามต้องบอกว่า กลุ่มธนาคารในประเทศไทยมีการตั้งสำรองล่วงหน้าในสิ้นปี 2564 ค่อนข้างสูง อยู่ที่ประมาณ 163% แม้ว่าทิศทาง NPL จะยังเป็นขาขึ้น แต่ทางธนาคารค่อนข้างที่จะยังแข็งแกร่งอยู่”

นายภราดรกล่าวด้วยว่า ในมุมของ บล.เอเซีย พลัส ราคาหุ้นกลุ่มธนาคารยังมีอัตราส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) ที่ไม่แพงมาก อยู่ที่ 0.8 เท่า ในระหว่างที่ย่อตัวลงมา น่าจะเป็นจังหวะในการสะสม เพื่อลงทุนในระยะกลางถึงระยะยาวได้ อย่างไรก็ตาม นักลงทุนคงต้องระมัดระวังการเคลื่อนย้ายเงินทุน (ฟันด์โฟลว์) ที่อาจจะไหลออกจากหุ้นกลุ่มธนาคาร เนื่องจากในช่วงก่อนหน้าที่ต่างชาติซื้อหุ้นกลุ่มธนาคารค่อนข้างมาก

นางสาวศิรินารถ อมรธรรม ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัย สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวว่า การถูกปรับลดอันดับเครดิตลงจะส่งผลให้ธนาคารมีต้นทุนในการออกหุ้นกู้เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะมีผลกระทบต่อกำไร จากต้นทุนทางการเงินที่แพงขึ้น โดยการลดอันดับเครดิตของ 4 แบงก์สะท้อนถึงความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจที่สูงขึ้น จากที่ปัจจุบันแบงก์ไม่ได้ปล่อยสินเชื่ออย่างเดียว ยังมีการดำเนินธุรกิจด้านอื่นร่วมด้วย อย่างไรก็ดี อันดับเครดิตที่ลดลงไม่ได้มากจนน่าเป็นห่วง

“อันดับเครดิตของทั้ง 4 ธนาคารก็ยังสูงอยู่ รวมทั้งชื่อเสียงและความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารก็อาจจะทำให้ไม่ได้มีผลกระทบมากนัก”

ก่อนหน้านี้ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานว่า หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 14.35 ล้านล้านบาท ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2564 คิดเป็นสัดส่วน 89.3% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) โดยหนี้สินครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สาเหตุจากครัวเรือนที่รายได้สูง หรือที่ไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต ยังมีแนวโน้มก่อหนี้เพิ่ม

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า S&P ปรับลดความน่าเชื่อถือของ 4 ธนาคารพาณิชย์ไทย ด้วยมีมุมมองว่าหนี้ครัวเรือนไทยเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งกฎเกณฑ์ของทางการเอื้อให้การช่วยเหลือลูกหนี้ของไทย ทำได้มากกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่น

อย่างไรก็ดี มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เป็นนโยบายเชิงผ่อนคลายไม่ต่างไปจากแนวทางประเทศต่าง ๆ และเพื่อรักษาสมดุล ธปท. ได้ติดตามความเสี่ยง คุณภาพสินเชื่อ และฐานะของแบงก์อย่างใกล้ชิด ล่าสุด ฐานะการเงินแบงก์ไทยยังแข็งแกร่ง อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) อยู่ที่ 20% และปัจจุบันมีเงินสำรองอยู่ที่ 8.9 แสนล้านบาท หรือกว่า 1.6 เท่าของสินเชื่อด้อยคุณภาพ

“ธปท. ได้ทดสอบเงินกองทุนภายใต้ภาวะวิกฤต (stress test) พบว่าระบบธนาคารยังแข็งแกร่งรองรับความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนสูงในอนาคต และคาดว่าเศรษฐกิจไทยทยอยฟื้นตัวจะช่วยเรื่องการชำระหนี้ และคุณภาพสินเชื่อปรับดีขึ้นเป็นลำดับ” นายรณดลกล่าว