ก.ล.ต.จ่อแก้กฎ Asset-backed เพิ่มทางเลือกระดมทุน-20 บริษัทยื่นขอ

ก.ล.ต.จ่อแก้กฎ Asset-backed Securities เพิ่มทางเลือกระดมทุน เผยมี 20 บริษัทยื่นขอระดมทุนด้วยแอสเสทประเภทอื่นนอกจากอสังหาฯ แย้มเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ไปสู่กระทรวงการคลังแล้ว โชว์ปี’64 มูลค่าระดมทุน 137,273 ล้านบาท ไอพีโอ 41 บริษัท สูงสุดในรอบ 4 ปี

นางสิริวิภา สุพรรณธเนศ
นางสิริวิภา สุพรรณธเนศ

วันที่ 26 มีนาคม 2565 นางสิริวิภา สุพรรณธเนศ รองเลขาธิการสายการระดมทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า แนวทางการพัฒนาการระดมทุนแบบ Asset-backed Securities (ABS) โดยมีหลักทรัพย์ค้ำประกันนั้น ปัจจุบันมีอสังหาริมทรัพย์ 1 รายที่ระดมทุนไปแล้วคือโครงการสิริฮับ และในอนาคตนอกจากตัวอสังหาริมทรัพย์ซึ่งสามารถมาใช้เป็น Asset-backed ได้แล้ว ยังมีผู้ประกอบธุรกิจอื่นได้เข้ามาหารือ ก.ล.ต.อย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 20 ราย ที่จะนำแอสเสทประเภทอื่นๆ นอกจากอสังหาริมทรัพย์มาใช้เป็น backed ในการลงทุน

นอกจากนี้มีคอนเซ็ปต์ที่เรียกว่า Project-Based ซึ่งจะมีการนำเงินที่ได้จากการะดมทุนไปใช้ในการขยายกิจการ หรือแม้กระทั่งในกรณีที่จะนำกระแสเงินสดในอนาคตมาใช้เป็น backed ในการออกตราสาร ซึ่งปัจจุบันเกณฑ์ดังกล่าวยังไม่ได้รองรับเรื่องนี้ และทาง ก.ล.ต.เล็งเห็นว่าเป็นทางเลือกหนึ่งในการะดมทุน ก.ล.ต.จึงกำลังอยู่ระหว่างแก้ไขกฎเกณฑ์ให้กับผู้ระดมทุน

“ส่วนความคืบหน้าการแก้ไข พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ สำหรับวัตถุประสงค์เพื่อการระดมทุน มาอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ทั้งหมด ปัจจุบันนี้ทาง ก.ล.ต.ได้เสนอร่างแก้ไขไปสู่กระทรวงการคลังแล้ว” นางสิริวิภา กล่าว

41 บริษัทไอพีโอ มูลค่า 1.37 แสนล. สูงสุดรอบ 4 ปี

นางสิริวิภา กล่าวอีกว่า สิ่งที่ ก.ล.ต.ได้ดำเนินการไปแล้วสำหรับการขับเคลื่อนการระดมทุนคือ การเปิดช่องให้ตัวบริษัทเอสเอ็มอีในรูปบริษัทจำกัด สามารถเข้ามาเสนอขายหุ้น/หุ้นกู้แปลงสภาพ กับบุคคลในวงจำกัดได้ โดยได้ทำงานร่วมกับ สสว. ปัจจุบันมีบริษัทที่ดำเนินการไปแล้วกว่า 10 มูลค่าการะดมทุนกว่า 200 ล้านบาท

นอกจากนี้ในปี 2565 ก.ล.ต.ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้พัฒนากฎเกณฑ์และแพลตฟอร์มตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์(LiVEX) เพื่อทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีสามารถระดมทุนกับประชาชนในวงกว้างได้ และนำหุ้นตัวเองมาจดทะเบียนในกระดาน LiVEX แต่บริษัทเอสเอ็มอีต้องอยู่ในรูปบริษัทมหาชนจำกัด

“การที่เราเปิดให้มีตลาดรองเกิดขึ้นจะทำให้ผู้ลงทุนมีความสนใจมาลงทุนในตัวเอสเอ็มอีมากขึ้น เพราะมีช่องทางในการซื้อขายเปลี่ยนมือได้ นอกจากนี้ยังได้รับสิทธิประโยชน์ในด้านภาษีเช่นเดียวกับการลงทุนในตลาดหุ้น SET และ mai” นางสิริวิภา กล่าว

ทั้งนี้ ก.ล.ต.ยังได้ให้ความสำคัญกับธุรกิจ BCG และธุรกิจ New S Curve เพราะเป็นธุรกิจที่มีความสำคัญในการผลักดันประเทศไปสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ โดย ก.ล.ต.ได้ทำการศึกษากฎเกณฑ์ปัจจุบันว่าเป็นอุปสรรคต่อการะดมทุนหรือไม่เพื่อจะได้ปรับปรุงกฎระเบียบต่อไป

นางสิริวิภา กล่าวอีกว่า ก.ล.ต.ยังได้มีการพัฒนากฎเกณฑ์เพื่อรองรับการระดมทุนในรูปแบบดิจิทัลหรือ ICO เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถนำเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาใช้ในการระดมทุนได้ ซึ่งข้อดีคือมีต้นทุนที่ต่ำ ในการระดมทุน ICO ขั้นตอนเหมือนกับรูปแบบ IPO มีการยื่นขออนุญาต มีการเปิดเผยข้อมูล และเสนอขายสินค้าผ่านตัวกลาง นั่นคือ ICO Portal ซึ่งปัจจุบันมีคนมาขึ้นทะเบียนกับ ก.ล.ต.ประมาณ 7 ราย

สำหรับในปี 2564 มีบริษัทเข้ามาระดมทุนด้วยมูลค่าสูงถึง 137,273 ล้านบาท จำนวนบริษัทเข้ามาไอพีโอสูงถึง 41 บริษัท ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงสุดในรอบ 4 ปี ขณะเดียวกันภาคธุรกิจเอสเอ็มอีและสตาร์ตอัพ ระดมทุนผ่าน Crowdfunding มากกว่า 1,344 ล้านบาท จากจำนวนบริษัทที่เข้ามาระดมทุน 127 บริษัท ซึ่งถือเป็น New High Record ของตลาดทุน