คลังเปิดข้อมูล NPL พิโกไฟแนนซ์พุ่ง 18% เข้าคิวเลิกกิจการ

เงินสด-ธนบัตร

คลังเผยสถานการณ์ปล่อยกู้รายย่อย “พิโกไฟแนนซ์” ย่ำแย่ เดือนมกราคม 2565 หนี้เสียพุ่ง 18.39% เผยผู้ประกอบการพิโกไฟแนนซ์ทยอยยื่นขอปิดกิจการเดือนละ 3-4 ราย

วันที่ 4 เมษายน 2565 น.ส.สภัทร์พร ธรรมาภรณ์พิลาศ รองผู้อำนวยการ ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ขณะนี้การปล่อยสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ภาพรวมถือว่าทรงตัว ไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เพราะรายได้ของประชาชนที่ลดลงด้วยสภาพเศรษฐกิจ จึงอาจทำให้การขอสินเชื่อมีแนวโน้มชะลอลงเล็กน้อย ซึ่งจากข้อมูลเดือน ม.ค. 2565 สินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 4,766 ล้านบาท จากสิ้นเดือน ธ.ค. 2564 อยู่ที่ 5,377 ล้านบาท

พิโกไฟแนนซ์NPLพุ่ง 18%

ขณะที่สัญญาณหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก โดย ณ สิ้นเดือน ม.ค. 2565 เอ็นพีแอลอยู่ที่ 876.32 ล้านบาท หรือ 18.39% ของสินเชื่อคงค้าง จากเดือน ธ.ค. 2564 NPL อยู่ที่ 949.11 ล้านบาท คิดเป็น 17.65% ส่วนหนี้ค้างชำระ 1-3 เดือน (SM) เดือน ม.ค. 2565 อยู่ที่ 652.82 ล้านบาท หรือ 13.7% จากเดือน ธ.ค. 2564 อยู่ที่ 802,68 ล้านบาท หรือ 14.93%

“อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังเริ่มเห็นสัญญาณการปล่อยสินเชื่อจากผู้ประกอบธุรกิจพิโกไฟแนนซ์ต่อรายในวงเงินที่ลดลง โดยส่วนใหญ่จะเป็นการปล่อยกู้ระยะสั้น ไม่ได้ปล่อยสินเชื่อยาวเหมือนที่ผ่านมา เนื่องจากกลัวความเสี่ยงของบริษัทเองด้วย” น.ส.สภัทร์พรกล่าว

ส่วนกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจพิโกไฟแนนซ์แสดงความคิดเห็นว่า การปล่อยสินเชื่อแผ่วลง เนื่องจากคนหันไปกู้หนี้นอกระบบนั้น กระทรวงการคลังไม่มีข้อมูลว่าคนหันไปพึ่งหนี้นอกระบบมากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ดี ขณะนี้มีกลุ่มที่หลอกลวงให้คนเข้าสู่หนี้นอกระบบเป็นจำนวนมาก มีความเป็นไปได้ว่าผู้ที่ต้องการเงินด่วนอาจจำเป็นต้องหันไปกู้หนี้ยืมสินนอกระบบ

ถกลดดอกเบี้ย-หวั่นเอฟเฟ็กต์

ส่วนจะมีการพิจารณาช่วยลดภาระประชาชนด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ลงอีกหรือไม่นั้น น.ส.สภัทร์พร กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงการคลังก็ได้มีการหารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในเรื่องดังกล่าวอยู่ อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้มีการลดอัตราดอกเบี้ยพิโกไฟแนนซ์ส่วนที่มีหลักประกันลงมาแล้ว จาก 36% ต่อปี เหลือ 33% ต่อปี

โดยภาพรวมหากปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอาจจะไม่ได้เป็นการช่วยเหลือประชาชน เพราะไม่มั่นใจว่าบริษัทพิโกไฟแนนซ์จะยังปล่อยสินเชื่อให้กับประชาชนอยู่หรือไม่ หรืออาจจะยิ่งเป็นการผลักภาระให้กับประชาชนมากขึ้น

“เราก็มีการหารือกับ ธปท.ว่า ถ้ามีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาอีก จะเป็นการผลักให้คนไปก่อหนี้เพิ่มขึ้นหรือไม่ เพราะจากเดิมการคิดดอกเบี้ย 33% ต่อปี ก็ต่ำกว่าหนี้นอกระบบเป็นอย่างมาก จึงเป็นการพิจารณาสองด้าน เพราะเราก็ยังไม่มั่นใจว่าหากนโยบายออกไปว่าจะลดอัตราดอกเบี้ยลงมาอีก จะกลายเป็นโทษให้กับประชาชนด้วยหรือไม่”

พิโกไฟแนนซ์ทยอยปิดกิจการ

รองโฆษก สศค.กล่าวว่า นอกจากนี้ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ ก็มีการปล่อยสินเชื่อในรูปแบบดิจิทัลเลนดิ้งจำนวนมาก ทั้งในส่วนของธนาคารพาณิชย์และผู้ประกอบการที่ไม่ใช่ธนาคาร (น็อนแบงก์) ซึ่งก็จะทำให้เกิดการแข่งขันในระบบ รวมถึงในแง่ของการลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อให้สามารถแข่งขันในธุรกิจได้

“สิ่งเหล่านี้กลไกตลาดจะทำให้แข่งกันเอง ลูกค้าก็จะได้รับประโยชน์มากขึ้น โดยบริษัทพิโกไฟแนนซ์ก็จะต้องลดอัตราดอกเบี้ยลงมา เพื่อแข่งขันกับตลาดในภาพรวม มิฉะนั้นธุรกิจก็อาจจะอยู่ไม่ได้ โดยกระทรวงการคลังก็เห็นสัญญาณผู้ประกอบการพิโกไฟแนนซ์หลายบริษัทที่มายื่นขออนุญาตปิดกิจการ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเหตุผลมาจากสถานการณ์ที่กล่าวมาข้างต้นด้วย โดยขณะนี้มีผู้ประกอบการทยอยยื่นขอปิดกิจการเข้ามาเรื่อย ๆ เดือนละ 3-4 ราย รวมถึงหลายรายได้ใบอนุญาตแล้วก็ไม่ได้ประกอบธุรกิจ”

น.ส.สภัทร์พรกล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจพิโกไฟแนนซ์มีอยู่เป็นหลักพันรายแล้ว โดยข้อมูล ณ 31 ม.ค. 2565 มีผู้ได้รับใบอนุญาต 1,067 ราย ซึ่งเปิดดำเนินการแล้ว 1,036 ราย ใน 75 จังหวัด ส่วนหนึ่งเพราะประชาชนมีทางเลือกในการเข้าถึงสินเชื่อและอัตราดอกเบี้ยต่ำหลากหลายช่องทาง อาจไม่จำเป็นต้องขอสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ที่มองว่าอัตราดอกเบี้ยยังค่อนข้างสูง

และช่วงโควิดรัฐบาลก็ออกมาตรการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ทั้งจากธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ประชาชนก็จะไปเข้าร่วมขอสินเชื่อจากส่วนนั้นมากกว่า สิ่งเหล่านี้ก็เป็นความท้าทายที่ผู้ประกอบธุรกิจพิโกไฟแนนซ์จะต้องปรับตัว