จับตาล็อกดาวน์จีน หนุนโฟลว์ไหลออก ทำเงินบาทอ่อนทะลุ 34 บาท

จีนอาจติดโควิดหลักแสนหากใช้กลยุทธ์สหรัฐ ยุโรป
REUTERS/Aly Song/File Photo

กรุงไทย ประเมินเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 33.60-34.00 บาทต่อดอลลาร์ จับตา “บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ-ประชุมบีโอเจ-ความเสี่ยงจีนล็อกดาวน์” กระทบเศรษฐกิจเอเซีย กดดันฟันด์โฟลว์ไหลออก หนุนเงินบาทอ่อนค่า ชี้มีความเสี่ยงทะลุ 34 บาทต่อดอลลาร์

วันที่ 24 เมษายน 2565 นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า (วันที่ 25-29 เมษายน 65) เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 33.60-34.00 บาทต่อดอลลาร์

โดยปัจจัยที่ต้องติดตามจะเป็นตัวเลขอัตราการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล หรือ Core PCE เดือนมีนาคมของสหรัฐฯ ซึ่งตลาดคาดว่าจะออกมาอยู่ที่ 5.4% หากออกมาต่ำกว่าคาดการณ์ จะสะท้อนว่าเงินเฟ้อสหรัฐฯ ถึงจุดต่ำสุดแล้ว ทำให้แนวคิดที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) การปรับดอกเบี้ยมากกว่า 0.50% หรือ 0.75% อาจจะไม่เห็น

นอกจากนี้ยังคงต้องติดตามผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ (บอนด์ยีลด์) อายุ 10 ปีที่ปรับขึ้นเกือบ 3% ซึ่งจะเป็นคีย์สำคัญที่เจ้าหน้าที่เฟดสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า 0.50% ทำให้บอนด์ตัวอายุยาวๆ จะเห็นยีลด์ปรับขึ้น รวมถึงบอนด์ไทยอายุ 2 ปีอาจจะก็จะโดนกระทบด้วย เพราะตลาดจะคาดการณ์ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่น่าจะคงดอกเบี้ยอยู่ในระดับ 0.50% ต่อปีได้อีก โดยเชื่อว่าจะมีการปรับดอกเบี้ยขึ้นในรอบการประชุมเดือนกันยายนหรือธันวาคม และขึ้นทุกครั้งในการประชุมในปี 2566

ขณะเดียวกัน จะมีประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ในวันที่ 28 เมษายนนี้ โดยตลาดจะรอทิศทางนโยบายการเงินของบีโอเจว่าจะมีการปรับแบน ยีลด์ในการซื้อพันธบัตรอยู่ที่ 0 บวกลบ 0.25% ซึ่งหากสะท้อนการซื้อบอนด์ลดลงอาจทำให้เงินเยนกลับมาแข็งค่าได้บ้าง โดยอยู่ในแนวต้านที่ระดับ 130 เยนต่อดอลลาร์

และตัวเลขเงินเฟ้อในฝั่งยุโรป หากธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) มองเงินเฟ้อเริ่มขยับเพิ่มขึ้น อาจจะมีการปรับดอกเบี้ยขึ้น รวมถึงดัชนีความเชื่อมันภาคธุรกิจเยอรมัน ซึ่งจะเป็นการบอก Outlook ของเศรษฐกิจไปข้างหน้า หากตัวเลขออกมานิ่งหรือดีกว่าคาดการณ์ จะสะท้อนภาพบวกต่อยุโรป จะช่วยจะสนับสนุนค่าเงินยุโรปได้

“กรอบบน 34 บาทต่อดอลลาร์ ยังมองว่าพอรับได้อยู่ แม้ว่าจะมีโฟลว์จ่ายเงินปันผล อย่างไรก็ดี โอกาสหลุด 34 บาทต่อดอลลาร์ก็มี แต่จะเป็นภายใต้ปัจจัยที่ตลาดปิดรับความเสี่ยง Risk off จากเงินดอลลาร์ โดยทุกคนกังวลความเสี่ยงในจีนที่มีการล็อกดาวน์ สะท้อนถึงเศรษฐกิจโลกไม่ดี และไปถือดอลลาร์ ทำให้เศรษฐกิจเอเชียไม่ดี ทำให้เห็นโฟลว์ออกจากตลาดหุ้นเพิ่มเติม ทำให้โอกาสทะลุ 34 บาทก็มี และหากหลุดจะไปไกล 34.25-34.50 บาท รวมถึงสถานการณ์รัสเซียมีความรุนแรงขึ้นผ่านมาตรการแซงก์ชั่นพลังงานที่หนักขึ้น”

สำหรับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า ตลาดหุ้นซื้อสุทธิราว 3,300 ล้านบาท โดยสัญญาณมีการซื้อสลับขาย เนื่องจากนักลงทุนยังมองเศรษฐกิจไทยและการระบาดของโควิด-19 หลังสงกรานต์ไม่ได้แย่มาก ทำให้เห็นโฟลว์ซื้อและขายสลับกัน

โดยในสัปดาห์หน้า ประเมินว่าสัญญาณฟันด์โฟลว์ในตลาดหุ้นยังคงเห็นนักลงทุนซื้อขายสลับกัน แต่โดยรวมจะมีโฟลว์ไหลเข้าไม่ถึง 5,000 ล้านบาท อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยังคงต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงของภาพเศรษฐกิจจีนที่มีการประกาศล็อกดาวน์ เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 จะมีผลต่อบรรยากาศตลาด (Sentiment) ทำให้มีโฟลว์ไหลออกจากตลาดหุ้น ซึ่งไม่ดีต่อตลาดเอเชียรวมถึงตลาดไทยด้วย

ขณะที่ตลาดพันธบัตร (บอนด์) พบว่านักลงทุนขายสุทธิราว 4,160 ล้านบาท ซึ่งมองบรรยากาศยังเป็นการเทขายอยู่

“มุมฟันด์โฟลว์ ยังไม่ได้เป็นตัวซัพพอร์ตค่าเงินบาทมากนัก แต่ก็ไม่ได้กดดันบาทเช่นกัน แต่จะเห็นโฟลว์ปันผลที่จะทำให้บาทอ่อนได้ แต่เราเริ่มเห็นเงินดอลลาร์เริ่มทรงๆ ตัว และกลับมาอ่อนได้บ้าง ซึ่งจะหนุนให้เงินบาทแข็งค่าได้”