คลังพลิกแผนหาเงินอุ้มเศรษฐกิจ ตั้งงบกลางปี-ปรับสูตร “คนละครึ่ง”

เงินบาท

คลัง-สภาพัฒน์รับลูกนายกฯ ทำแผนหาเงินดูแลเศรษฐกิจ เล็งใช้วิธีตั้ง “งบฯรายจ่ายเพิ่มเติม” กลางปี ชี้เป็นแนวทางที่ทำได้หลังจัดเก็บรายได้ครึ่งทางเกินเป้ากว่า 6 หมื่นล้าน “อาคม” ยืนกรานไม่พุ่งเป้ากู้เงิน คลังเสนอแผนปรับสูตรมาตรการ “คนละครึ่ง” ชี้ถึงเวลาเน้นลงทุน-ฟื้นฟูเศรษฐกิจ เช็กทุกเก๊ะรัฐบาลเหลือเงินกว่า 1 แสนล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 19 เม.ย.ที่ผ่านมาว่า ขณะนี้มีการหารือกันอยู่ว่าการจะทำให้อยู่รอด ปลอดภัย เพียงพอ ยั่งยืน ต้องใช้เงินอย่างไร และเงินมีอยู่เท่าไหร่ จำเป็นต้องหาเพิ่มไหม กำลังอยู่ในขั้นตอนการหารือ

“วันนี้ทุกบาท ทุกสตางค์ ต้องใช้จ่ายอย่างประหยัดเท่าที่มีงบประมาณอยู่ เงินที่กู้มาก็ใช้ไปมากแล้วในการมีชีวิตอยู่กับโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และยังมีความเสี่ยงอยู่หลายอย่าง มาเจอสงครามเข้าไปอีก ทุกรัฐบาลไม่เคยเจอสถานการณ์อย่างนี้มาก่อน ผมคิดว่าทุกคนพยายามช่วยกันอย่างเต็มที่ ขอความร่วมมือจากประชาชนให้เข้าใจกัน ถ้ามัวแต่โจมตีกันไปมาก็ทำอะไรไม่สำเร็จสักอย่าง” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

พ.ร.ก.เงินกู้เหลือ 7 หมื่นล้าน

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณาหาแหล่งเงินเพิ่มเติม ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี เพื่อนำมาใช้ดูแลเศรษฐกิจที่ต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากสถานการณ์สู้รบรัสเซีย-ยูเครน ที่หลายประเทศมีมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย ซึ่งส่งผลกระทบถึงราคาพลังงาน ราคาสินค้า ค่าครองชีพของประชาชน รวมถึงการขาดแคลนสินค้าโภคภัณฑ์และปัจจัยการผลิต ขณะที่ปัจจุบันเงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เหลืออยู่แค่ราว 70,000 ล้านบาท

ส่วนการจ่ายเงินอุดหนุนหรือชดเชยของรัฐบาล (มาตรา 28) ก็ใกล้เต็มเพดาน 35% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี ตามกรอบวินัยการเงินการคลังแล้ว โดยปัจจุบันมียอดคงค้างอยู่ที่ 1,060,940 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตรา 34.22% แล้ว โดยส่วนใหญ่เป็นการทำโครงการประกันรายได้เกษตรกรของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

ตั้งงบฯกลางปีเพิ่มเติม

“ตอนนี้มีการคุยกันว่าจะจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมกลางปี เพื่อให้รัฐบาลมีเงินใช้จ่ายเพิ่มเติมจากที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี ซึ่งตอนนี้รัฐบาลมีช่องทางสามารถทำได้ เพราะขณะนี้สถานการณ์จัดเก็บรายได้ของรัฐบาลดีขึ้น โดยช่วงครึ่งปีงบประมาณ 2565 ที่ผ่านมา ยังเก็บได้เกินเป้า 6-7 หมื่นล้านบาท และทั้งปีก็คาดว่าจะเก็บได้สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม”

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า การจัดทำงบประมาณเพิ่มเติมขณะนี้ยังดูว่า วงเงินควรจะต้องเป็นเท่าไหร่ โดยพิจารณาจากความจำเป็น แต่คงต้องทำแน่ ๆ ทั้งนี้ โครงการที่จะทำต่อค่อนข้างแน่นอนแล้ว คือ เราเที่ยวด้วยกัน ที่จะหมดอายุในเดือน พ.ค.นี้ นอกจากนี้ก็อาจต้องไปขยายเพดานการจ่ายเงินอุดหนุนของรัฐบาลจาก 35% ด้วย เพราะถ้าไม่ขยายก็ทำอะไรไม่ได้แล้ว

“ถ้าจะทำทั้งคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน ก็คงต้องใช้เงินมากกว่า 1 แสนล้านบาท แต่ถ้าไม่ทำคนละครึ่ง ความจำเป็นต้องใช้เงินก็ลดลงไป ซึ่งตอนนี้ก็มีความเห็นหลายฝ่ายมองว่า ไม่ควรทำต่อ แต่ทั้งนี้ก็อยู่ที่การเมือง” แหล่งข่าวกล่าว

คลังกุมขมับหาเงิน

แหล่งข่าวกระทรวงการคลังกล่าวว่า ปัญหาคือการก่อหนี้ของรัฐบาลที่ผ่านมา เป็นการนำเงินไปใช้เพื่อเยียวยาเป็นหลัก ไม่ได้สร้างโปรดักติวิตี้ให้กับเศรษฐกิจ ขณะที่จะกลายเป็นภาระทางการคลังของประเทศในระยะยาว ซึ่งการจะใช้วิธีตั้งงบฯรายจ่ายเพิ่มเติมกลางปีก็ทำได้ แต่จะมีเงื่อนไขการใช้เงินที่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง และ พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ ซึ่งมีข้อกำหนดในการใช้งบประมาณ ทำให้จะเหลือเงินเพื่อมาทำมาตรการดูแลค่าครองชีพประชาชนไม่มาก ไม่เหมือนกับการใช้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน

โจทย์หลักของกระทรวงการคลังในตอนนี้คือศึกษาแนวทางหาเงินเพื่อที่จะมาดำเนินมาตรการดูแลเศรษฐกิจ ส่วนมาตรการที่คลังรับผิดชอบอย่าง “คนละครึ่ง” ซึ่งต้องบอกว่าประชาชนเสพติดไปแล้ว ทำไป 4 เฟสแล้ว และเป็นมาตรการแบบเหวี่ยงแหไปให้กับประชาชนเกือบ 30 ล้านคน ซึ่งใช้เงินจำนวนมหาศาล ขณะที่ปัจจุบันผลกระทบจากโควิด-19 ก็เริ่มผ่อนคลาย แนวคิดของกระทรวงการคลังก็ไม่ต้องการต่อเฟส 5 แม้ว่าจะมีผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนเข้ามากระทบค่าครองชีพ

ปรับสูตร “คนละครึ่ง”

แหล่งข่าวกล่าวว่า การจะยกเลิกมาตรการไปเลยอาจจะเป็นเรื่องยาก ขณะนี้คลังมีการศึกษาแนวทางที่จะปรับเปลี่ยนมาตรการให้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน และช่วยให้เกิดเงินหมุนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น เป็นการปรับสูตรจาก “คนละครึ่ง” เป็นรัฐสนับสนุน 25% โดยประชาชนควักจ่าย 75% ถือเป็นการช่วยลดภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้น

“รัฐบาลอาจแจกเงินให้ประชาชน 1,200 บาทต่อคน เท่ากับเฟส 4 แต่จะให้ประชาชนดึงเงินออกมาจับจ่ายมากขึ้น จากเดิมคนละครึ่ง 1,200+1,200 บาท เท่ากับมีเงินเข้ามาในระบบ 2,400 บาท แต่สูตรใหม่ 1,200+3,600 บาท ก็ทำให้มีเงินเข้ามาในระบบเพิ่มขึ้นเท่าตัว”

อย่างไรก็ตาม จากที่กระทรวงการคลังศึกษาจะมีหลาย ๆ ออปชั่น ตั้งแต่ที่รัฐอุดหนุน 10-25% ภายใต้วงเงินต่าง ๆ แต่จะเลือกแนวทางไหนก็ขึ้นอยู่กับนโยบายทางการเมืองและนายกรัฐมนตรี เพราะอีกด้านรัฐบาลก็คาดหวังว่าการปลดล็อกเปิดประเทศ ยกเลิก Test & Go จะทำให้เครื่องยนต์ด้านการท่องเที่ยวจะมาช่วยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้มากขึ้น

“อาคม” แบ่งรับแบ่งสู้

ล่าสุด นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า อาจจะมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า นายกรัฐมนตรีให้กู้เงินเพิ่ม เพื่อทำโครงการคนละครึ่ง เฟส 5 ต่อ เพราะจากที่มีการหารือคือ ให้กระทรวงการคลังไปพิจารณาแหล่งเงิน เพื่อนำมาใช้จ่ายในโครงการที่มีความจำเป็น ส่วนโครงการคนละครึ่ง เฟส 5 ก็ยังต้องพิจารณาว่าจำเป็นหรือไม่ เพราะใช้งบประมาณสูง และกระตุ้นเศรษฐกิจได้แค่ช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น

“การแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชนนั้น ก็ช่วยในระดับหนึ่งในช่วงที่ยังเผชิญปัญหาเรื่องรายได้ แต่ขณะนี้เศรษฐกิจเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ รายรับของประชาชนเริ่มกลับมาก็ควรจะลดมาตรการดังกล่าวลง และเข้าไปสู่การสร้างงาน สร้างอาชีพ เพื่อทำให้ประชาชนกลับมามีรายได้เพิ่ม ซึ่งขณะนี้ก็ได้ผลักดันมาตรการผ่านแบงก์รัฐแล้ว” นายอาคมกล่าว

รมว.คลังยืนยันด้วยว่า ไม่ได้พุ่งเป้าที่การกู้เงิน และได้สั่งการให้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ไปพิจารณารายละเอียดต่าง ๆ รวมถึงการประเมินภาวะเศรษฐกิจ และความจำเป็นในการเข้าไปดูแล หรือออกมาตรการบรรเทาภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนเพิ่มเติม ซึ่งล่าสุดรัฐบาลก็ได้ออกมาตรการช่วยเหลือแบบเจาะจงเฉพาะกลุ่มไปแล้ว ส่วนใหญ่ใช้งบฯกลาง

“เรากู้เงินเยอะแล้ว เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ บางประเทศก็มีการกู้เงินจำนวนมากกว่าเรา และขณะนี้หลายประเทศก็เริ่มเข้าสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจแบบปกติ คือ เน้นไปที่การลงทุน ในส่วนของไทยก็คือการเร่งเบิกจ่ายงบฯลงทุน ขณะที่ต้องดูเรื่องของวินัยการเงินการคลังด้วย แม้ขณะนี้รายได้ของรัฐจะเพิ่มมากขึ้นกว่าช่วงเดียวกันปีงบประมาณ 2564 ก็ตาม” รมว.คลังกล่าว

ตรวจบัญชีเงินทุกเก๊ะ

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ทางสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คงต้องไปหารือกับทางกระทรวงการคลัง เนื่องจากขณะนี้งบประมาณในการบริหารเศรษฐกิจช่วงที่เหลือของปี 2565 ค่อนข้างมีอย่างจำกัด โดยงบฯกลางรายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เหลือประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งปกติจะกันไว้สำหรับภัยพิบัติ 3-4 หมื่นล้านบาทต่อปี

ขณะที่วงเงินจาก พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท เหลืออยู่เพียง 7 หมื่นล้านบาท และมีโครงการที่รอพิจารณาขอใช้วงเงินอยู่ เช่น โครงการเศรษฐกิจฐานราก 1 หมื่นล้านบาท รวมถึงโครงการในส่วนอื่น ๆ

“ตอนนี้คณะกรรมการกลั่นกรองใช้จ่ายเงินกู้ก็พยายามรัดเข็มขัดการใช้เงินมากขึ้น โดยพิจารณาการใช้เงินตามสถานการณ์ เพื่อให้การใช้เงินเป็นไปอย่างคุ้มค่าที่สุด” แหล่งข่าวกล่าว

นอกจากนี้ ในส่วนที่รัฐต้องรับภาระชดเชยค่าใช้จ่าย หรือการสูญเสียรายได้ในการดำเนินกิจกรรม หรือโครงการตามที่กำหนดในมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ. 2561 ซึ่งหลังจากที่รัฐมีการขยายเพดานจาก 30% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี เป็น 35% แล้ว ขณะนี้วงเงินที่ใช้ไปก็จะเต็มเพดานแล้ว จึงเป็นข้อจำกัดในการบริหารเศรษฐกิจ หลังจากที่ล่าสุดรัฐบาลได้อนุมัติโครงการค้ำประกันสินเชื่อซอฟต์โลนไป โดยรัฐจะชดเชยความเสียหายตามที่เกิดขึ้นจริง 15,750 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ยังมีเงินที่อยู่ในบัญชีเงินสำรองของรัฐบาลอีกราว 5 หมื่นล้านบาท ที่หากจำเป็นจริง ๆ ก็สามารถนำออกมาใช้ได้ แต่จะต้องตั้งงบประมาณใช้คืนในปีถัดไป เช่นเดียวกับเงินคงคลัง

กู้เพิ่มต้องออกกฎหมายพิเศษ

ขณะที่นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า ขณะนี้ยังมีพื้นที่ทางการคลังให้สามารถกู้เงินได้ อย่างไรก็ดี ในการกู้เงินนั้นจะต้องมีการตรากฎหมายพิเศษมารองรับและต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกฉบับ ต้องมีเหตุผล ความจำเป็น เร่งด่วน รวมทั้งต้องมีการกำหนดวัตถุประสงค์การใช้เงินที่ชัดเจนด้วย

แหล่งข่าวกล่าวว่า จากที่มีการขยายเพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเป็นไม่เกิน 70% จากเดิมไม่เกิน 60% ทำให้รัฐบาลยังสามารถกู้เงินเพิ่มได้อีกราว 1.3 ล้านล้านบาท หากมีความจำเป็นต้องกู้เพิ่ม

“ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าจะต้องกู้เต็ม เพราะการกู้ต้องทำเท่าที่มีความจำเป็นจริง ๆ และดูทั้งความเหมาะสม วัตถุประสงค์การใช้เงิน รวมถึงต้องไม่สร้างภาระให้ฐานะการคลังของประเทศในระยะยาว”

สศช.ชี้กู้เงินเพิ่มต้องรู้ทำอะไร

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช. กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลมีการออก พ.ร.ก.กู้เงิน เพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิดมาแล้วถึง 2 ฉบับ ซึ่งการออก พ.ร.ก.กู้เงินลักษณะนี้ ต้องดูถึงปัจจัยเร่งด่วน ความจำเป็นหลาย ๆ เรื่อง ว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนขนาดไหน ที่สำคัญจะต้องพิจารณาในรายละเอียดด้วยว่ากู้เงินไปแล้ว จะนำไปใช้ทำอะไรบ้าง

“การออก พ.ร.ก.กู้เงิน จะต้องพิจารณาในรายละเอียดปัจจัยแวดล้อมเยอะ จึงต้องมาหารือร่วมกันว่าขณะนี้ถึงจุดจำเป็นหรือยัง อย่างตอนเกิดโควิดครั้งแรกในปี 2563 ขณะนั้นมีความจำเป็นชัดเจน ทุกคนก็เข้าใจได้ว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นนอกเหนือคาดการณ์ เป็นวิกฤตที่มาแรงและเร็ว เราจึงต้องมีเครื่องมือที่จะต้องเข้าไปพยุงเศรษฐกิจ และลดผลกระทบให้กับประชาชน”

ขอเวลาประเมินหลัง พ.ค.

นายดนุชากล่าวว่า แม้ช่วงนี้ก็มีผลกระทบจากสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนเป็นปัจจัยใหม่ ส่วนสถานการณ์โควิดก็เริ่มเบาลงในแง่อาการจากการติดเชื้อ เนื่องจากมีการฉีดวัคซีนไปมากแล้ว

“ตอนนี้ก็มีปัจจัยใหม่เรื่องสงครามที่ส่งผลต่อราคาน้ำมัน ซึ่งจะต้องมานั่งดูว่าปัจจัยแวดล้อมเหล่านี้ส่งผลกระทบกับประเทศถึงขั้นที่จะต้องมีการจัดหาแหล่งเงินกู้เพิ่มเติม เพื่อที่จะมาพยุงเศรษฐกิจหรือไม่ จะต้องมีการประเมินตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสแรกของปี 2565 ก่อน ซึ่ง สศช.จะประกาศตัวเลขในเดือน พ.ค. จึงจะเห็นความจำเป็นว่าจะต้องมีการกู้เงินเพิ่มเติมหรือไม่ อย่างไร” นายดนุชากล่าว

จับตา “เงินเฟ้อ” พร้อมอุ้ม

เลขาธิการ สศช.กล่าวว่า สำหรับภาวะเศรษฐกิจในไตรมาสแรกปีนี้ เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้น โดยเครื่องยนต์เศรษฐกิจหลายตัวปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง แต่จะมีความเสี่ยง คือ เรื่องของเงินเฟ้อ โดยการส่งออกยังขยายตัวได้ดี อัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมก็ยังปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่การจ้างงานในระบบประกันสังคมก็เป็นบวกขึ้นมามาก และภาคการท่องเที่ยวก็มีนักท่องเที่ยวเข้ามาช่วง 3 เดือนแรก เท่ากับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศเมื่อปี 2563 ที่ผ่านมาทั้งปี

ส่วนทิศทางเศรษฐกิจในช่วงถัดไป ต้องติดตามเรื่องเงินเฟ้อ สถานการณ์เศรษฐกิจโลก ราคาพลังงาน และสงครามความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน โดยจะต้องเตรียมการเอาไว้ เช่น เรื่องพลังงาน ก็มีมาตรการลดผลกระทบออกมาแล้ว 10 มาตรการ จะต้องติดตามอีกครั้งว่าหลังจากออกมาตรการไปแล้ว สถานการณ์จะเป็นอย่างไร จำเป็นที่จะต้องออกมาตรการมาดูแลต่อหรือไม่

“เงินเฟ้อเกิดจากต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นต้นทุนที่กำกับไม่ได้ ส่วนใหญ่มาจากราคาพลังงาน และราคาวัตถุดิบที่ต้องนำเข้า ไม่ว่าจะเป็นอะลูมิเนียม ทองแดง เหล็ก หรืออาหารสัตว์ ปุ๋ย เป็นต้น ฉะนั้น 10 มาตรการที่ออกไปแล้วเป็นการบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชนในระยะสั้น ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีก็มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ไปพิจารณาว่า การปรับขึ้นของราคาสินค้าจะต้องสอดคล้องกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งต้องมีการกลั่นกรองให้ดี”

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เศรษฐกิจภายในประเทศโดยรวมก็มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะอยู่ระดับ 2 หมื่นราย แต่ช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจก็กระเตื้องขึ้นมา จึงมองว่าปีนี้การขยายตัวของเศรษฐกิจน่าจะอยู่ที่ 3-4% ต่อปีตามที่คาดการณ์

“ถ้ามีความจำเป็นก็ต้องมาดูมาตรการที่จะเข้าไปดูแลเศรษฐกิจเพิ่มเติม แต่มาตรการบรรเทาผลกระทบด้านราคาพลังงานเพิ่งออกไปช่วงปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ส่วนมาตรการทางการคลังจะต้องใช้เวลาสักระยะที่จะเห็นผล จึงต้องดูก่อนว่ามาตรการของเดิมที่ออกไปสามารถช่วยเหลือได้มากน้อยเพียงใด” เลขาธิการ สศช.กล่าว