ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า ตลาดคาดการณ์เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50%

ภาพ : pixabay

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า ตลาดคาดการณ์เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมครั้งหน้า ส่วนเงินบาทปรับอ่อนค่าลงแล้ว 2.5% ขณะที่สกุลเงินในภูมิภาคอ่อนค่าลงระหว่าง 1% ถึง 5.5%

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 27 เมษายน 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (27/4) ที่ระดับ 34.33/35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (26/4) ที่ระดับ 33.23/25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากนักลงทุนหันมาถือครองดอลลาร์ จากความกังวลเกี่ยวกับภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจ และผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครน

ขณะเดียวกันดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากความวิตกเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน หลังมีการล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้ นอกจากนี้ดอลลาร์ยังได้ปัจจัยบวกจากการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วและแรงเพื่อสกัดเงินเฟ้อ โดยคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมวันที่ 3-4 พ.ค.นี้ ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% นับตั้งแต่ปี 2543

นอกจากนี้เมื่อวาน (26/4) กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ รายงานว่า ยอดขายบ้านใหม่ดิ่งลง 8.6% สู่ระดับ 763,000 ยูนิตในเดือน ม.ค. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 765,000 ยูนิต จากระดับ 835,000 ยูนิตในเดือน ก.พ. โดยยอดขายบ้านใหม่ได้รับผลกระทบจากราคาบ้านที่พุ่งขึ้น และการดีดตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญขอสหรัฐที่เปิดเผยในวันนี้ได้แก่ ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) เดือน มี.ค. และสต๊อกน้ำมันรายสัปดาห์จากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA)

สำหรับปัจจัยในประเทศนั้น นางสาวดารณี แซ่จู ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นกว่าคาดของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าอย่างต่อเนื่องและทำสถิติแข็งค่าสูงสุดในรอบเกือบ 5 ปี ทำให้สกุลเงินภูมิภาครวมทั้งเงินบาทอ่อนค่าลง โดยตั้งแต่ต้นปี เงินบาทปรับอ่อนค่าลง 2.5% ขณะที่สกุลภูมิภาคอ่อนค่าระหว่าง 1% ถึง 5.5%

Advertisment

การอ่อนค่าของสกุลเงินภูมิภาคมีปัจจัยเสริมจากความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนภายหลังการ lockdown ในหลายเมืองสำคัญ ขณะที่เงินบาทยังมีปัจจัยกดดันระยะสั้นเพิ่มเติมจากการส่งกลับเงินปันผลของนักลงทุนต่างชาติ

ทั้งนี้ ธปท.ได้ติดตามสถานการณ์การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด และพร้อมดูแลหากเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนมากผิดปกติ โดยภาคเอกชนควรบริหารความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของตลาดการเงินในสถานการณ์ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง

ในขณะที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 65 ลงเหลือเติบโต 3.5% จากเดิมคาดการณ์ว่าจะเติบโต 4% เนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้เศรษฐกิจประเทศคู่ไทยชะลอตัว ราคาพลังงาน และอัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น

โดยคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในปีนี้สูงขึ้นมาที่ 5% ต่อปี หรืออยู่ในช่วงคาดการณ์ 4.5-5.5% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 34.28-34.40 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.35/38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

Advertisment

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (27/4) ที่ระดับ 1.0637/39 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (19/4) ที่ระดับ 1.0691/95 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรอ่อนค่าแตะระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี โดยนายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (UN) ได้เดินทางถึงกรุงมอสโกในเมื่อวานนี้ (26/4) ก่อนที่จะเข้าพบกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย

การเดินทางเยือนรัสเซียของนายกูเตอร์เรสมีขึ้น หลังจากที่อดีตเจ้าหน้าที่ UN กว่า 200 คน ได้ยื่นหนังสือต่อนายกูเตอร์เรสเพื่อเรียกร้องให้ UN มีบทบาทมากขึ้นในการเจรจาไกล่เกลี่ยวิกฤตการณ์ระหว่างรัสเซีย-ยูเครน อย่างไรก็ดี ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน แสดงความไม่พอใจที่นายกูเตอร์เรสเลือกที่จะเข้าพบ ปธน.ปูตินก่อนเดินทางเยือนยูเครน

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0586-1.0655 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0610/12 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (27/4) ที่ระดับ 127.39/42 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (26/4) ที่ระดับ 127.81/85 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากนักลงทุนคาดว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น อาจจะมีการออกมาตรการเพื่อสกัดการอ่อนค่าของค่าเงินเยน หลังจากค่าเงินเยนอ่อนค่าจนไปแตะระดับต่ำสุดในรอบ 20 ปี เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 126.95-128.10 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 127.92/94 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -0.80/-0.70 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +0.60/+3.20 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ