จุรินทร์ ย้ำประชุมเอเปคราบรื่น แม้ 5 ประเทศจะเดินออกจากการประชุม

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

“จุรินทร์” กุมบังเหียนประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจเอเปคผ่านไปอย่างราบรื่น แม้ 5 ประเทศจะเดินออกจากที่ประชุม นำโดยสหรัฐก็ตาม ย้ำทุกฝ่ายยังสนับสนุน เดินหน้า เอฟทีเอ เอเปค

วันที่ 21 พฤษภาคม 2565 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค (Ministers Responsible for Trade Meeting: MRT) ว่า การประชุมดำเนินการเป็นไปอย่างเรียบร้อย แม้ว่าในที่ประชุมจะมีรัฐมนตรีผู้แทนการค้าประเทศสหรัฐ และรัฐมนตรีการการค้าอีก 4 ประเทศ เช่น แคนาดา นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น จะเดินออกจากที่ประชุมระหว่างที่รัฐมนตรีการค้ารัสเซียพูดอยู่ก็ตาม

โดยรวมแล้วการประชุมก็ยังดำเนินการประชุมไปด้วยความเรียบร้อย ทุกประเทศยังคงเดินหน้าการประชุมต่อไป ส่วนการแสดงออกก็ขึ้นอยู่แต่ละประเทศ แต่ตนในฐานะประธานที่ประชุมก็ยังคงเดินหน้าและทุกประเทศก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี รวมไปถึงการหารือระดับพหุภาคีด้วย และก็ไม่ได้มีความกังวลใดในเรื่องนี้ รวมไปถึงการประกาศแถลงการร่วมภายหลังการประชุม ซึ่งเรื่องนี้ตนยังไม่สามารถตอบได้ ยังต้องรอรับฟังความคิดเห็นจากทุกเขตเศรษฐกิจทั้ง 21 เขต

“ประเทศไทยก็ยังคงเดินหน้าทำหน้าที่ให้ดีที่สุดในทุการประชุม และหน้าที่การเป็นเจ้าภาพ ทุกประเทศเองไม่ได้มีตำหนิ ผลการประชุมก็ยังคงต้องรอรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายและการประชุมก็ยังเดินหน้าไปอย่างราบรื่น”

อย่างไรก็ดี ทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจก็พร้อมสนับสนุนกรอบความร่วมมือเขตการค้าเสรีเอเชีย- แปซิฟิก (FTAAP) หรือ เอฟทีเอเอพี ให้เป็นไปตามเป้าหมายในอนาคต ซึ่งตั้งเป้าหมายไว้ในปี 2040 หากสำเร็จจะกลายเป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า ในการผลักดันกรอบความร่วมมือ เอฟทีเออีพี ที่ประชุมให้ความคิดเห็นว่าหากสามารถผลักดันในเรื่องใดก่อนได้ก็ให้เดินหน้าโดยไม่ต้องรอจนถึงปี 2040 ซึ่งก็จะมีการหารือในประเด็นนี้ต่อไป เพราะทุกประเทศเห็นตรงกันที่จะร่วมมือให้เกิดขึ้น เพื่อสร้างให้เกิดความยั่งยืนและยังต้องให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เข้ามามีส่วนร่วม การให้ความสำคัญดิจิตอลอิโคโนมี การอำนวยความสะดวกทางการค้า ลดปัญหาและอุปสรรค ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ต้องหารือและร่วมกันผลักดันต่อไป

นอกจากนี้ ตนยังได้มีการหารือระดับทวิภาคีไทย-รัสเซีย โดยมีประเด็น คือ การเดินหน้าประชุม คณะอนุกรรมาธิการด้านการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-สหพันธรัฐรัสเซีย ซึ่งมีการประชุมไปแล้ว 4 ครั้ง โดยครั้งที่ 5 ไทยเป็นเจ้าภาพซึ่งก็หารือว่าจะมีการจัดประชุมเมื่อไร

พร้อมทั้งจะเดินหน้าจัดทำ เอฟทีเอกับกลุ่มประเทศยูเรเซีย สำหรับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย เป็นการรวมกลุ่มของ 5 ประเทศ ได้แก่ รัสเซีย คาซัคสถาน เบลารุส อาร์เมเนีย และคีร์กีซสถาน รวมไปถึงการผลักดันในการเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน ให้ได้ 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปีหน้า

ส่วนทางรัสเซียเองก็มีโดยประเด็นหารือ เช่น รัสเซียแจ้งว่าสนใจสินค้าจากประเทศไทย ซึ่งเป็นสินค้าที่เกี่ยวกับอาหารและยานยนต์เป็นหลัก อาหารมีทั้งข้าวผลไม้ เป็นต้น และชิ้นส่วนยานยนต์ สนใจมาลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะด้านไอที ขณะนี้มีนักลงทุนจากรัสเซียมาลงทุนที่อมตะฯ และถือโอกาสนี้ขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวไทยไปลงทุนที่รัสเซียด้วย โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมด้านอาหาร ซึ่งตนจะแจ้งให้นักลงทุนรับทราบต่อไป

รวมไปถึง รัสเซียประสงค์สนับสนุนให้นักท่องเที่ยวชาวรัสเซียมาเที่ยวเมืองไทยมากขึ้น และขอให้การสนับสนุนให้นักท่องเที่ยวรัสเซียสามารถใช้บัตรที่เรียกว่า MIR Card และอยากให้มีการสนับสนุนให้มี Direct Flight หรือเที่ยวบินตรง เพื่อแลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยวระหว่างกัน ตนได้แจ้งให้ทราบว่าสำหรับการใช้ MIR Card นั้น

ธนาคารไทยบางธนาคารมีความสนใจและมีความก้าวหน้าในระดับหนึ่งแล้ว เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นต้น ที่เหลือเป็นรายละเอียดของภาคเอกชนที่จะไปดำเนินการตามขั้นตอนกระบวนการ ส่วนในเรื่องการจัด Direct Flight เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวระหว่างกันจะแจ้งให้ทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกระทรวงคมนาคมได้รับทราบต่อไป

สำหรับตัวเลขการค้าไทย-รัสเซีย รัสเซียเป็นคู่ค้าลำดับที่ 30 ของประเทศไทยโดยปีที่แล้ว (2564) มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 88,200 ล้านบาท หรือ 2,700 ล้านเหรียญสหรัฐ ประเทศไทยส่งออกไปรัสเซียปีที่แล้ว 32,500 ล้านบาท หรือ 1,027 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 41% สินค้าที่ไทยส่งออกไปรัสเซียประกอบด้วยรถยนต์ อุปกรณ์ชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักรกล ผลไม้ เช่น ผลไม้กระป๋อง ผลไม้แปรรูป เป็นต้น สำหรับการค้ากับรัสเซียเราขาดดุลเพราะต้องนำเข้าน้ำมันดิบ ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืชและเหล็กมาใช้ในการผลิตทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรม