สินมั่นคงฯ ขาดทุนเฉียด 3 หมื่นล้าน พิษเคลมประกัน เจอจ่ายจบ

สินมั่นคง

สินมั่นคงฯ แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ไตรมาสแรกปีนี้ขาดทุนสุทธิพุ่ง 16,794.48% อ่วมเคลมโควิดฉุดขาดทุนพุ่ง 2.94 หมื่นล้านบาท ขณะที่รายได้รวมเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนไม่ถึง 20 ล้านบาท

วันที่ 23 พฤษภาคม 2565 บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ SMK แจ้งนำส่งงบการเงินไตรมาส 1 ปี 2565 ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ซึ่งแสดงผลกำไร (ขาดทุน) สุทธิสำหรับงวด 3 เดือนสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2565 ว่า บริษัทขาดทุนสุทธิ จำนวน 29,421.37 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรลดลง จากงวดเดียวกันปี 2564 ร้อยละ 16,794.48

โดยในไตรมาสดังกล่าว บริษัทมีรายได้รวม เท่ากับ 2,472.06 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.32 ล้านบาท จากช่วงระยะเวลาเดียวกัน ปีก่อนที่มีรายได้รวม 2,452.74 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.79 ซึ่งเกิดจากสาเหตุหลัก ดังนี้

1. เบี้ยประกันภัยที่ถือเป็นรายได้ในไตรมาสนี้เท่ากับ 2,410.43 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 47.21 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.00 เป็นผลมาจากสำรองเบี้ยประกันภัยบวกกลับที่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันกับปีก่อนจำนวน 566.02 ล้านบาท

2. รายได้และกำไรจากการลงทุนลดลง 17.54 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 32.64 เมื่อเทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักเกิดจากรายได้จากดอกเบี้ยและเงินปันผลที่ลดลง 51.68 ล้านบาท คิดเป็นอัตราลดลงร้อยละ 73.38 แต่ผลขาดทุนจากการปรับมูลค่ายุติธรรมมีจำนวนลดลง 38.20 ล้านบาท คิดเป็นอัตราลดลงร้อยละ 99.99 เนื่องจากไตรมาส 1 ปี 2564 มีผลขาดทุนจากสัญญา FX

ขณะที่ในไตรมาสนี้บริษัทมีค่าใช้จ่ายรวมเท่ากับ 31,624.92 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29,388.06 ล้านบาท คิดเป็นอัตราร้อยละ 1,313.81 จากงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายรวมเท่ากับ 2,236.85 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากสาเหตุหลัก ได้แก่

1.สำรองความเสี่ยงภัยที่ยังไม่สิ้นสุดในไตรมาส 1 ปี 2565 เท่ากับ 6,374.52 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 100.00 เป็นผลมาจากสำรองเบี้ยประกันภัยไม่เพียงพอต่อค่าสินไหมทดแทน COVID-19 จึงต้องตั้งสำรองความเสี่ยงภัยที่ยังไม่สิ้นสุดเพิ่มเติม

2. ค่าสินไหมทดแทนในไตรมาส 1 ปี 2565 เท่ากับ 24,571.77 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23,166.89 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 1,649.03 โดยแยกเป็นคำสินไหมทดแทนประเภทอื่น ๆ 1,311.03 ล้านบาท และค่าสินไหมทดแทนโควิดเท่ากับ 23,260.74 ล้านบาท เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ติดเชื้อในปี 2564

3. ในไตรมาส 1 ปี 2565 มีผลขาดทุนจำนวน 29,187.25 ล้านบาท เนื่องจากการรับประกันภัยโควิดประสบผลขาดทุนเป็น จำนวนเงินสูงถึง 29,479.68 ล้านบาท ส่วนการรับประกันภัยประเภทอื่น ๆ มีผลกำไรจำนวน 292.42 ล้านบาท

โดยสรุป สาเหตุหลักที่ทำให้ผลการดำเนินงานประสบผลขาดทุนสูงถึง 29,421.37 ล้านบาท มาจากจำนวนเงินค่าสินไหมทดแทนโควิดที่เพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2564 ซึ่งมีจำนวนเงินค่าสินไหมทดแทนโควิด เพียง 19.08 ล้านบาท