บาทอ่อนค่า อัตราเงินเฟ้อไทยสูงกว่าคาด

เงินบาท

บาทอ่อนค่า อัตราเงินเฟ้อไทยสูงกว่าคาด โดยเงินเฟ้อทั่วไป เดือน มิ.ย. 65 อยู่ที่ระดับ 107.85 เพิ่มขึ้นถึง 7.66% ผลจากปัจจัยหลักราคาพลังงาน น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม ที่พุ่งสูงขึ้น

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 5 กรกฎาคม 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (5/7) ที่ระดับ 35.70/72 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (4/7) ที่ระดับ 35.70/72 บาท ในขณะที่ดอลลาร์ยังคงเคลื่อนไหวในเชิงแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐระยะเวลา 10 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 2.79% สู่ระดับ 2.95%

โดยประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวว่าการดำเนินการคุมเข้มนโยบายเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยในสหรัฐนั้นมีความเป็นไปได้ แต่ยังไม่สามารถรับประกันความสำเร็จ ในขณะเดียวกันค่าเงินดอลลาร์ยังคงได้รับแรงหนุนในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้นักลงทุนจับตารายงานการประชุมเฟด (6/7) และตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร (8/7) โดยตลาดคาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้นเพียง 250,000 ตำแหน่งในเดือน มิ.ย. ต่ำกว่าระดับ 390,000 ตำแหน่งในเดือน พ.ค.

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นายรณรงค์ พูนพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือน มิ.ย. 65 อยู่ที่ระดับ 107.85 เพิ่มขึ้น 7.66% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และสูงกว่าที่ตลาดคาด 7.5% และเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.90% จากเดือน พ.ค. 65 ส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยครึ่งปีแรก เพิ่มขึ้น 5.61%

อย่างไรก็ตาม หากมองในมิติการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในเดือน มิ.ย.นี้ พบว่าปัจจัยหลักยังคงเป็นราคาพลังงาน ทั้งน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม ซึ่งมีสัดส่วนถึง 61.83% อย่างไรก็ตาม ทิศทางเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีหลังยังมีหลายปัจจัยที่ต้องพิจารณา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ ซึ่งยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะยุติลงเมื่อไร หรือความขัดแย้งจะขยายวงกว้างไปยังพื้นที่อื่นเพิ่มเติมหรือไม่

ตลอดจนสถานการณ์ค่าเงินบาท และนโยบายการเงินว่าจะสามารถชะลอการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อได้หรือไม่ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 35.65-35.83 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 35.80/82 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (5/7) ที่ระดับ 1.0428/30 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (4/7) ที่ระดับ 1.0442/44 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรยังคงเคลื่อนไหวในเชิงอ่อนค่า แม้ว่าทางอีซีบีจะส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนกรกฎาคม แต่ภาวะเศรษฐกิจในแถบยูโรโซนยังคงถูกกดดันจากความยืดเยื้อทางสงคราม

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0300-1.0440 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0313/15 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (5/7) ที่ระดับ 135.93/95 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อจันจันทร์ (4/7) ที่ระดับ 135.41/43 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 135.55-136.35 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 135.75/77 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญได้แก่ ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือน พ.ค. (5/7), ดัชนี PMI/ISM ภาคบริการเดือน มิ.ย. (6/7), รายงานการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 14-15 มิ.ย. (6/7), ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP, จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (7/7), ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรและอัตราว่างงานของสหรัฐ (8/7)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -5.2/-4.75 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -3.4/-0.40 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ