ชงคลังลดเงินนำส่งเข้ากองทุนแบงก์รัฐ ดูแลรายได้น้อยช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น

ฉัตรชัย ศิริไล

สมาคมแบงก์รัฐจ่อชง “คลัง” ขยายมาตรการลดเงินนำส่งเข้ากองทุน SFIF เหลือ 0.125% ออกไปอีก 1 ปี เพิ่มช่องทางบริหารงาน หนุนดูแลกลุ่มรายได้น้อยช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น คาด กนง.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% เงินงวดในการผ่อนชำระหนี้ยังเท่าเดิม

วันที่ 15 กรกฎาคม 2565 นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ฐานะประธานสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ เปิดเผยว่า ในช่วงสิ้นปี 2565 นี้ มาตรการปรับลดเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIF) เหลือ 0.125% ต่อปี จากเดิม 0.25% ต่อปี จะสิ้นสุดลง

สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ จะเสนอกระทรวงการคลังขอขยายมาตรการดังกล่าวออกไปอีก 1 ปี เพื่อให้มีแรงมาช่วยเหลือประชาชนในฝั่งของผู้กู้ รองรับทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งก็เป็นหนึ่งในช่องทางการบริหารงานของธนาคารด้วย

“ลูกค้าของเราเป็นลูกค้าคนละกลุ่มกับแบงก์พาณิชย์ หากขยายเวลาลดเงินนำส่งออกไปอีก จะเป็นส่วนช่วยแบงก์รัฐในการเพิ่มแรงดูแลประชาชนกลุ่มรายได้น้อย ซึ่งจะมีผลต่ออัตราผ่อนชำระหนี้ของลูกค้าแบงก์รัฐด้วย เพราะหากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และมาตรการลดเงินนำส่งจบ จะมีผลต่อประชาชนถึง 2 ต่อ ดังนั้น จึงควรให้แบงก์รัฐได้นำส่วนลดจากเงินนำส่งมาดูแลลูกค้าต่อ”

ส่วนทิศทางในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายภายในประเทศนั้น ธอส.ประเมินว่าขึ้นอยู่กับทิศทางของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่จะมีการประชุมเร็ว ๆ นี้ จะต้องติดตามว่ามีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเท่าไหร่

หากไม่ได้ปรับขึ้นมาก ก็คาดว่าการประชุม กนง. รอบเดือน ส.ค. 65 จะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายประมาณ 0.25% ส่วน ธอส. มองว่าอีก 5 เดือนที่เหลืออยู่ กนง. อาจจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็น 0.50% แต่ธนาคารก็พร้อมตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ให้นานที่สุด เพื่อให้ประชาชนปรับตัวและลดผลกระทบในช่วงต้น

“ถ้าเดือน ส.ค. กนง. ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ธอส.จะไปขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือน ต.ค. 65 เพียง 0.15% ขณะเดียวกันหาก กนง. ปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกในช่วงเดือน พ.ย. 65 ธอส.ก็จะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทันที แต่จะไปขึ้นอีกครั้งในไตรมาส 1 ของปี 2566 ซึ่งการตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ทำให้แบงก์สูญรายได้ 1,000 ล้านบาท แต่ความแข็งแกร่งของธนาคารยังสามารถรองรับได้”

ทั้งนี้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะไม่กระทบเงินงวดในการผ่อนชำระ เนื่องจากประเมินว่าหากเงินงวดที่ผ่อนชำระทุกวันนี้ ยังคงพอตัดชำระดอกเบี้ย และเงินต้นได้ ก็จะไม่กระทบ เพราะเงินที่ออกจากกระเป๋าเพื่อไปจ่ายค่างวดยังคงเดิม เพียงแต่ว่าสัดส่วนเงินงวดที่จ่ายจะไปตัดเงินต้นน้อยลง และหนี้ก็จะยืดระยะเวลาออกไป แต่หากดอกเบี้ยขึ้นจนกระทั่งต้องไปปรับเงินงวดชำระ ส่วนนี้จะกระทบว่าเงินงวดจะปรับเพิ่มเท่าไหร่ ซึ่งเป็นการดึงเงินออกจากกระเป๋ามากกว่าเดิม

“ตอนนี้ ธอส. มีลูกค้าอยู่ 1.4 ล้านล้านบาท แต่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ยังไม่กระทบเงินงวดในการผ่อนชำระแม้แต่รายเดียว แต่หากขึ้นไปสูงถึง 0.50% กระทบลูกค้าเพียงหลัก 100 ราย ฉะนั้น ตราบใดที่เงินงวดยังพอชำระดอกเบี้ยและเงินต้นได้ท่านไม่ต้องกังวล แต่จะมีผลต่อลูกค้าที่อยู่ในช่วงรอยต่อดอกเบี้ยจากอัตราคงที่ ไปสู่ลอยตัว หรือผู้ที่จะกู้ใหม่ และการปรับโครงสร้างหนี้ว่าจะรับภาระไหวหรือไม่”