ไทยคม ร่วมมือ สมาคมประกันฯ ดึงเทคโนโลยีดาวเทียม เก็บข้อมูลประกันพืชผล

ชาวนา

ไทยคม ร่วมมือ สมาคมประกันวินาศภัยไทย ดึงระบบเทคโนโลยีดาวเทียมสำรวจทรัพยากร วิเคราะห์ข้อมูลประกันภัยพืชผล นำร่อง ‘ประกันภัยข้าวนาปี’ ในพื้นที่ 6 จังหวัด 3 ล้านไร่ ช่วยเกษตรกรไทยลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ

วันที่ 18 กรกฎาคม 2565 นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า ในฐานะที่สมาคมเป็นผู้บริหารโครงการประกันภัยพืชผลของภาครัฐมากว่า 10 ปี ตระหนักดีว่าเทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูลและประเมินความเสียหายนั้นมีบทบาทและความสำคัญต่อการวางแผนบริหารจัดการโครงการประกันภัยพืชผลในระยะยาวเป็นอย่างมาก ซึ่งหลังจากที่สมาคมฯ ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) ร่วมกับไทยคมในเรื่องการนำเทคโนโลยีด้านดาวเทียมมาใช้ในการประกันภัยพืชผลไปเมื่อปลายปีที่แล้ว

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ล่าสุดสมาคมฯ ได้ร่วมมือกับไทยคมให้เข้ามาช่วยดำเนินการจัดทำโปรแกรมเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลในโครงการประกันภัยพืชผล โดยเริ่มต้นด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลของโครงการประกันภัยข้าวนาปี ซึ่งชุดข้อมูลที่ทางไทยคมจะทำการวิเคราะห์และให้สมาคมฯ เรียกใช้งานผ่านโปรแกรมได้ ประกอบด้วย

– ชุดข้อมูลการเพาะปลูกของเกษตรกรเชิงแผนที่ในรูปแบบฐานข้อมูลและข้อมูลเชิงแผนที่

– ชุดข้อมูลจากดาวเทียม และ/หรือ ชุดข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประมวลผลและวิเคราะห์ความเสียหายของพืช

– ชุดข้อมูลที่ถูกวิเคราะห์และแสดงผลลัพธ์ที่ได้จากการวิเคราะห์ ได้แก่ ข้อมูลความถูกต้องของพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปี ข้อมูลพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ เช่น ฝนทิ้งช่วง ภัยแล้ง อุทกภัย และข้อมูลเปรียบเทียบพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติระหว่างระบบวิทยาศาสตร์ และข้อมูลจากการรายงานความเสียหายตามแบบประมวลรวบรวมความเสียหายและการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัย (กษ.02)

โดยในเฟสแรกจะเริ่มนำร่องวิเคราะห์ข้อมูลในพื้นที่ 6 จังหวัด คือ ขอนแก่น, นครราชสีมา, นครสวรรค์, นครศรีธรรมราช, ร้อยเอ็ด, สุโขทัย ซึ่งการวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ นี้จะช่วยให้สมาคมฯ สามารถนำไปใช้ในการวางแผนบริหารจัดการโครงการประกันภัยพืชผลได้อย่างรวดเร็ว ครอบคลุม และเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถประเมินความเสี่ยงของการเพาะปลูกเพื่อให้คำแนะนำแก่เกษตรกรในการป้องกันภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นกับพื้นที่เกษตรกรรมนั้น ๆ

อีกทั้งช่วยแก้ปัญหาการระบุความคลาดเคลื่อนของพื้นที่ประสบภัยได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว รวมถึงการประเมินความเสียหายและการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับเกษตรกรผู้ทำประกันภัยก็จะมีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นด้วย

นายปฐมภพ สุวรรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ไทยคมรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจและได้รับความไว้วางใจจากสมาคมประกันวินาศภัยไทยในการนำเทคโนโลยีด้านดาวเทียมมาใช้ร่วมกับการประกันภัยพืชผล เพื่อช่วยยกระดับศักยภาพด้านการประกันภัย ตลอดจนการพัฒนาภาคเกษตรกรรมของไทยซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของไทยคมในการจับมือกับพันธมิตรเพื่อดำเนินธุรกิจและมุ่งพัฒนาบริการและเทคโนโลยีการสื่อสารยุคใหม่ เพื่อก้าวสู่การให้บริการที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจอวกาศใหม่ (New Space Economy)

โดยความร่วมมือกับสมาคมฯ ในครั้งนี้ ไทยคมจะใช้แพลตฟอร์ม Earth Observation (EO) ในการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลทางการเกษตรร่วมกับเทคโนโลยีอื่น ๆ เช่น โดรนสำรวจ (UAV), Data Analytics, Artificial Intelligence (AI) และ Machine Learning (ML) เพื่อจัดทำเป็นชุดข้อมูลให้แก่สมาคมฯ นำไปใช้วางแผนบริหารจัดการโครงการประกันภัยพืชผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งนับเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีที่จะตอบโจทย์ธุรกิจยุคใหม่ เพื่อช่วยส่งเสริมศักยภาพและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างยั่งยืนด้วยนวัตกรรม

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ในเฟสแรก ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีและทดลองใช้งานจริง ในพื้นที่ที่ได้กำหนดให้เป็นพื้นที่นวัตกรรมและข้อมูล (Sandbox Areas) ในพื้นที่ 6 จังหวัด รวม 3 ล้านไร่ ก่อนขยายออกสู่พื้นที่อื่น ๆ ครอบคลุมพื้นที่ประกันภัยข้าวนาปีทั่วประเทศไทย

อนึ่ง สมาคมประกันวินาศภัยไทย เป็นองค์กรการค้าที่ไม่แสวงหาผลกำไร ซึ่งเปิดดำเนินงานอย่างเป็นทางการในปี 2510 มีวิสัยทัศน์ในการดำเนินงานส่งเสริมและสนับสนุนให้ธุรกิจประกันวินาศภัยเป็นเสาหลักของระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังมีบทบาทหน้าที่ในการส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันวินาศภัยทั้งทางด้านวิชาการ และด้านกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจประกันภัย และสังคม

ตลอดจนให้ความร่วมมือกับหน่วยงานราชการต่าง ๆ โดยสมาคมฯได้ร่วมกับภาครัฐในการดำเนินการโครงการประกันภัยพืชผลในฐานะผู้บริหารโครงการฯ ซึ่งได้ขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่องจนก้าวเข้าสู่ปีที่ 12 ในปี 2565 นี้ โดยเริ่มต้นด้วยการประกันภัยข้าวนาปี ในปี 2554 และการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในปี 2562

จากข้อมูลผลการดำเนินงานของโครงการประกันภัยข้าวนาปี (ข้อมูล ณ วันที่ 8 กรกฎาคม 2565) พบว่า ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการเมื่อปี 2554 จนถึงปี 2564 รวม 11 ปี ได้คุ้มครองพื้นที่ปลูกข้าวนาปีเป็นจำนวน 203.9 ล้านไร่ทั่วประเทศ มีเบี้ยประกันภัยเข้าสู่ระบบประกันภัย จำนวน 16,139 ล้านบาท และจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับเกษตรกรไปแล้ว จำนวน 12,911 ล้านบาท

ส่วนโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเริ่มต้นโครงการเมื่อปี 2562 พบว่า ผลการดำเนินงานรวม 3 ปี (ข้อมูล ณ วันที่ 8 กรกฎาคม 2565) ได้คุ้มครองพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นจำนวน 5.6 ล้านไร่ทั่วประเทศ มีเบี้ยประกันภัยเข้าสู่ระบบประกันภัย จำนวน 483 ล้านบาท และจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับเกษตรกรไปแล้ว จำนวน 424 ล้านบาท

สำหรับการดำเนินงานของโครงการประกันภัยข้าวนาปีและโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในปี 2565 มีบริษัทสมาชิกสมาคมฯ เข้าร่วมรับประกันภัยรวม 14 บริษัท ได้แก่ 1. บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) 2. บริษัท กรุงไทยพานิชประกันภัย จำกัด (มหาชน) 3. บริษัท ซมโปะ ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) 4. บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) 5. บริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน) 6. บริษัท ไทยศรีประกันภัย จำกัด (มหาชน) 7. บริษัท นวกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน)

8. บริษัท นำสินประกันภัย จำกัด (มหาชน) 9. บริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน) 10. บริษัท ฟอลคอนประกันภัย จำกัด (มหาชน) 11. บริษัท มิตซุย สุมิโตโม อินชัวรันซ์ จำกัด สาขาประเทศไทย 12. บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) 13. บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) และ 14. บริษัท แอกซ่าประกันภัย จำกัด (มหาชน)

ส่วนบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ผู้นำธุรกิจดาวเทียมแห่งเอเชียและผู้ให้บริการด้านสื่อสารผ่านดาวเทียมครบวงจร ก่อตั้งขึ้นในปี 2534 ด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญกว่า 3 ทศวรรษ ในอุตสาหกรรมการให้บริการด้านสื่อสารผ่านดาวเทียมที่ครอบคลุมกว่า 10 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ผนวกกับความรู้และความเชี่ยวชาญในธุรกิจดาวเทียม ส่งผลให้ไทยคมได้รับความเชื่อมั่นจากผู้ประกอบการชั้นนำในอุตสาหกรรมต่าง ๆ

อาทิ อุตสาหกรรมบรอดคาสต์ โทรคมนาคม และพันธมิตรทั้งในภาครัฐและภาคธุรกิจ แพลตฟอร์มบริการด้านบรอดคาสต์และบรอดแบนด์ของไทยคม ได้รับการออกแบบเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพการสื่อสารผ่านดาวเทียมอย่างครบวงจร รองรับการขยายธุรกิจของลูกค้าและพันธมิตร ให้ก้าวสู่ยุคดิจิทัลได้อย่างเต็มรูปแบบ